xs
xsm
sm
md
lg

แอลพีจีราคาพุ่ง-นำเข้าแตะ8.8หมื่นตันกองทุนฯยื่นรัฐขอขยายเงินจ่ายหนี้เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ผลพวงจากยอดการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ที่สูงประกอบกับราคาแอลพีจีตลาดโลกกลับมาเป็นขาขึ้นแตะ 500-600 เหรียญต่อตันส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯต้องทำหนังสือขอขยายวงเงินจ่ายหนี้แอลพีจีที่เดิมกำหนดให้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือนเพิ่ม

นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนน้ำมัน (องค์การมหาชน) (สบพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สบพ.ได้ทำหนังสือไปยังสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อขอให้นัดประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) ในการพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายชดเชยภาระนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ให้กับปตท.เนื่องจากมติกบง.เดิมกำหนดให้จ่ายชดเชยได้ไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาทในส่วนของภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2552

ทั้งนี้สาเหตุที่กองทุนฯจ่ายเพิ่มเกิดจากการใช้แอลพีจีในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นส่งผลการนำเข้าแอลพีจีเฉลี่ยแต่ละเดือนอยู่ที่ 8.8 หมื่นตันซึ่งคาดว่าในเดือนต.ค.ก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีปริมาณนำเข้าแอลพีจีอยู่ที่เดือนละ 4 หมื่นตัน เท่านั้นประกอบกับราคาแอลพีจีตลาดโลกกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นตามทิศทางน้ำมันดิบโดยขณะนี้เฉลี่ยวิ่งอยู่ที่ 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ภาระการจ่ายเงินในการนำเข้าแอลพีจีสูงขึ้นตามไปด้วย

“ ทางสบพ.จำเป็นต้องเสนอให้สนพ.ขอแก้มติกบง.เดิมที่ให้ นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าแอลพีจี ตั้งแต่เดือนม.ค. 2552 เป็นต้นมา ในวงเงินไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาท และจ่ายเงินชดเชยแอลพีจีจากการนำเข้าในปี 2551 ให้หมดภายในระยะเวลา 2 ปี จึงขอขยายวงเงินต่อเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระสะสมในอนาค9คาดว่าจะมีการนำเสนอในที่ประชุมกบง.เร็วๆนี้ ”นายศิวะนันท์กล่าว

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯล่าสุด มีเงินไหลเข้าเฉลี่ยเดือนละ 1,000-2,000 ล้านบาท มีเงินสดในบัญชี 3.09 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินกองทุนฯ 1.21 หมื่นล้านบาท ทำให้มีฐานะสุทธิ 1.88 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของภาระหนี้ชดเชยแอลพีจีจากการนำเข้าในปี 2551 จำนวน 5,288 ล้านบาท และหนี้ชดเชยแอลพีจีนำเข้าในปี 2552 มีภาระสะสมอยู่ 884 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน เพิ่มเติมถึง ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค. จนถึงเดือนต.ค. 2552 เฉลี่ยต้องใช้เรือขนส่งแอลพีจี 4 เที่ยวๆละ 2.2 หมื่นตัน คิดเป็นจำนวนเดือนละ 8.8 หมื่นตัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอลพีจีรนำเข้าสูงขึ้นมาจากปริมาณการใช้แอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการใช้ในภาคครัวเรือนและขนส่งอยู่ระดับทรงตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น