xs
xsm
sm
md
lg

หนุนใช้พลังงานทดแทนแก้ปัญหา "แอลพีจี" ยอดนำเข้าพุ่งกระฉูดเดือนละแสนตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน เร่งการใช้พลังงานทดแทน หวังแก้ปัญหาก๊าซแอลพีจีในประเทศ หลังยอดการใช้ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 8.7-8.9 หมื่นตัน/เดือน ซึ่งเกิดจากน้ำมันแพง ชี้ ยอดนำเข้าพุ่งสูงเกือบ 90,000 ตัน/เดือน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีภายในประเทศ โดยระบุว่า เกิดจากปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่า ยอดนำเข้าแอลพีจีในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พุ่งสูงขึ้นมาถึงระดับ 8.7-8.9 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันขยับเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นทำให้โรงงานและปิโตรเคมีหันมาผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาแอลพีจีตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

ล่าสุดเดือนตุลาคม 2552 ราคาอยู่ที่ระดับ 583 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้ภาระการเข้าไปชดเชยการนำเข้าด้วยเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขยับสูงขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เปิดทางแล้วว่า หากนำเข้าเพิ่มขึ้น ทางสำนักงานบริหารกองทุนพลังงาน สามารถเสนอ กบง.เพื่อเพิ่มวงเงินนำเข้าได้

ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณการใช้แอลพีจีเพื่อลดการนำเข้าและลดปัญหาขยะของประเทศ ทางกระทรวงพลังงาน ได้รณรงค์ให้ชาวบ้านจัดทำโครงการหมักก๊าซชีวภาพจากขยะ โดยขยะทั่วประเทศมีประมาณ 40,000 ตันต่อวัน หากมีการนำขยะอินทรีย์ที่มีประมาณ 1 ใน 4 มาทำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม ก็คาดว่าจะทดแทนได้ครึ่งหนึ่งของก๊าซหุงต้มหรือจะทดแทนได้ประมาณ 100,000 ตันต่อเดือน

ล่าสุด กระทรวงพลังงานจับมือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม. จำนวน 40 แห่ง เร่งกำจัดขยะเศษอาหารในโรงเรียน ลดปัญหาขยะล้นเมือง แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการกำจัดขยะอินทรีย์ในโรงเรียนลงสู่แหล่งฝังกลบ ได้ 320 ตันต่อปี การนำก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ทดแทนก๊าซแอลพีจีได้ 9.2 ตันต่อปี ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 32 ตันต่อปี โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 20,000 ลูกบาศก์เมตร

“ปัจจุบัน ขยะ กทม.มีประมาณ 8,000 ตันต่อวัน ค่าขนส่ง 1 บาทต่อกิโลกรัม หากนำมาผลิตก๊าซชีวภาพ หรือนำไปผลิตไฟฟ้า ก็จะได้ประโยชน์ลดพื้นที่ฝังกลบขยะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งกระทรวงฯ ก็พร้อมประสานกับ กทม.ในการร่วมมือแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อไป”

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดว่าการนำเข้าแอลพีจีจะอยู่ในระดับ 8.7-8.9 หมื่นตันต่อเดือน โดยหากคำนวณราคาต่างประเทศที่ระดับ 580-600 ดอลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ราคาในประเทศอยู่ที่ประมาณ 320-330 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว ส่วนต่างนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเพิ่มส่วนต่างนำเข้าแอลพีจี จากยอดเดิมอนุมัติ 500 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากยอดนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 90,000 ตันต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น