xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นมาของระบบการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 700 ปี ถ้านับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี แต่เหมือนกับทุกสังคมที่เป็นสังคมเกษตรจะถูกแบ่งเป็นชนชั้นปกครองและชนชั้นใต้ปกครอง ในชนชั้นปกครองถ้าพูดอย่างกว้างๆ ก็จะมี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่เป็นผู้บริหารประเทศกับผู้นำทางศาสนา ในส่วนของผู้ใต้ปกครองก็มักจะเป็นเกษตรกรหรือพ่อค้าวาณิชที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน

ในกลุ่มนักปกครองนั้นจะต้องมีทักษะพิเศษคือการรู้หนังสือ เพื่อใช้ในการสื่อสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร การร่างกฎหมายและกฎระเบียบ การเก็บประวัติความเป็นมาของสังคม การรู้หนังสือจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้มีความรู้เพราะอ่านออกเขียนได้ และเป็นการบ่งชี้ถึงการเป็นคนที่อยู่บันไดสังคมขั้นสูง ส่วนคนที่เป็นเกษตรกรนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือเลยก็ได้ แต่ขณะเดียวกันพ่อค้าวาณิชที่อยู่ในชุมชนเมืองมีความจำเป็นต้องจดบันทึกสินค้าที่มีคนซื้อโดยเชื่อเงินไว้ก่อน รวมทั้งต้องมีความสามารถในการเขียนตัวเลขเพื่อบอกจำนวนของสินค้าที่ซื้อเข้ามาหรือขายออกไป

การศึกษาหรือการเรียนในสังคมโบราณนั้นจึงมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครองซึ่งต้องมีความรู้ในระดับที่สูงเพื่ออ่านเอกสารที่ซับซ้อน เช่น กฎหมายต่างๆ ขณะเดียวกันผู้นำทางศาสนาก็ต้องอ่านภาษาที่เป็นนามธรรมซับซ้อนและลึกซึ้งเช่นเดียวกัน และส่วนใหญ่มักจะมาจากอารยธรรมที่เหนือกว่า ในส่วนของพ่อค้าวาณิชจุดเน้นมักจะอยู่ที่การอ่าน การเขียน และตัวเลข

สังคมลักษณะเยี่ยงนี้ก็สามารถดำเนินไปได้ ประเด็นสำคัญก็คือการศึกษาที่มีอยู่ในสังคมส่วนใหญ่จะมีเฉพาะบุคคลที่เป็นชนชั้นปกครองโดยมีการสอนเป็นส่วนตัวจากผู้รู้ภายในสังคมนั้นหรือมาจากต่างถิ่น ส่วนชนชั้นล่างก็ต้องศึกษาจากสถานศาสนา เช่น การบวชเป็นพระจึงศึกษาบาลีสันสกฤตและความคิดที่เป็นนามธรรม จนสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การศึกษาตำราพิชัยสงคราม ฯลฯ

โอกาสการเคลื่อนไหวทางสังคมของชนชั้นล่างจึงมีโอกาสเพียงการเติบโตได้ดิบได้ดีในองค์กรศาสนา หรือการรบทัพจับศึกจนเป็นแม่ทัพผู้แกล้วกล้า ส่วนการจะเข้ารับราชการเป็นขุนน้ำขุนนางนั้นอาจจะทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะมีกฎเกณฑ์ที่จะต้องมีทั้งความรู้ คุณานุรูป สืบเชื้อสายเสนาบดีเพื่อจะฝากตัวเป็นมหาดเล็กฝึกหัดการทำราชการ การเคลื่อนไหวทางสังคมจึงถูกปิดกั้นโดยปริยาย

แต่เนื่องจากความจำเป็นของการที่อยู่ในสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดประตูประเทศในยุครัชกาลที่ 4 ในสนธิสัญญาเซอร์จอห์นบาวริ่ง การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาแก่ประชาชนเพื่อจะได้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชดำริให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสดูแลเรื่องดังกล่าว ปรับเปลี่ยนวัดให้เป็นโรงเรียนเพราะเป็นสถานที่ขยายการศึกษาได้เร็วและทั่วถึง

ขณะเดียวกันสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกราบบังคมทูลฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับผลิตข้าราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถาบันการศึกษาโดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” จนกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันช่วงนี้ก็มีความรู้ใหม่ๆ ไหลเข้ามาจากทางประเทศตะวันตก เช่น วิชาการแพทย์สมัยใหม่ ภาษาต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ การเข้ามาของพวกมิชชันนารีได้นำไปสู่การเกิดโรงเรียนที่สอนศาสนา พร้อมๆ กับการสอนภาษาอังกฤษและวิชาสามัญทั่วไปขึ้น บุคคลที่สำคัญที่สุดคือ ฟ. ฮีแลร์ ซึ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่ออายุ 20 ปี และพำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 60 ปี ท่านผู้นี้คือผู้ซึ่งมีส่วนในการสร้างโรงเรียนมิชชันนารีสำคัญๆ ขณะเดียวกันชนชาวจีนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ได้รวมกลุ่มกันตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย โรงเรียนจากมิชชันนารีและโรงเรียนจีนจึงอยู่คู่กับสถาบันกรศึกษาของไทย ซึ่งเริ่มต้นความรู้ให้อ่านออกเขียนได้ เลขคณิต และวิชาที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้มีการตั้งกระทรวงธรรมการ หรือต่อมาคือกระทรวงศึกษา ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการศึกษา โดยเสนาบดีคนแรกคือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาฯ ที่ตั้งขึ้นมานั้นจุดประสงค์หลักคือการทำให้คนทั่วราชอาณาจักรสยามเรียนรู้ภาษาไทยราชการ ขณะเดียวกันก็มีการใช้หลักสูตรที่ทำให้คนเผ่าต่างๆ 50 กว่าเผ่าพันธุ์ ถูกผสมผสานกลมกลืนเป็นคนที่ใช้ภาษาเดียวกันในการเรียนการสอน สามารถสื่อสารกันได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างชาติ (Nation) ส่วนกระทรวงมหาดไทยเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างอำนาจรัฐ (State)

แต่เนื่องจากโรงเรียนจีนถูกมองว่าเป็นที่เพาะลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งขัดขวางกระบวนการผสมผสานกลมกลืนให้คนไทยเชื้อสายจีนรับวัฒนธรรมไทย จึงมีมาตรการจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม บังคับให้โรงเรียนจีนสอนภาษาจีนวันละหนึ่งชั่วโมง และถูกปิดด้วยการกระทำที่ผิดกฎระเบียบเป็นจำนวนมาก โรงเรียนจีนเหล่านั้นยังแอบสอนเกินหนึ่งชั่วโมง เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจก็มีการนัดแนะกันล่วงหน้า ในรายงานของเจ้าหน้าที่ก็มักจะลงว่า “เรียบร้อย” หมายความว่าไม่มีการทำผิดระเบียบ อันเป็นที่มาของคำว่า “เรียบร้อยโรงเรียนจีน”

ในส่วนของการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ในปี 2477 ก็มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นในการฝึกหัดผู้ที่จะรับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รวมทั้งการเป็นผู้พิพากษา การเป็นนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตำรวจ กล่าวอีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นฐานการสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่แข่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็มีมหาวิทยาลัยศิริราช มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเกษตร ก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลา ฯลฯ

ในส่วนของโรงเรียนมัธยมโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังซึ่งเป็นของมิชชันนารีได้แก่ อัสสัมชัญบางรัก เซนต์คาเบรียล กรุงเทพคริสเตียน มาแตร์เดอี เซนต์โยเซฟ ฯลฯ ส่วนของรัฐได้แก่ สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ ราชินี เป็นต้น โรงเรียนเอกชนได้แก่ อำนวยศิลป์ ไพศาลศิลป์ สารสิทธิ์ ศิริศาสตร์ ศิริทรัพย์ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เริ่มเกิดโรงเรียนพาณิชย์ขึ้น ที่เป็นของฝรั่งได้แก่ อัสสัมชัญพาณิชย์ (ACC) ขณะเดียวกันก็มีพาณิชย์พระนคร ตั้งตรงจิตรพณิชยการ พาณิชย์ธนบุรี นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนของเหล่าทัพและของตำรวจ

สิ่งที่พัฒนาตามมาก็คือ โรงเรียนกวดวิชาสำหรับผู้ซึ่งไม่มีเวลาเรียนตามปกติ ตามคำกล่าวของอาจารย์เพทาย อมาตยกุล ที่กล่าวว่า “โตแล้วเรียนลัดดีกว่า” โรงเรียนกวดวิชาที่ดังที่สุดคือ วัดสุทัศน์ วัดมหรรณพารามวรวิหาร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนตอนกลางคืนเพื่อเพิ่มพูนความรู้กับผู้ที่สนใจศึกษาด้านภาษา

ความต้องการเรียนหนังสือของคนรุ่นใหม่ได้นำไปสู่การเติบโตของโรงเรียนภาคเอกชน โรงเรียนพาณิชย์ต่างๆ ที่เลียนแบบอัสสัมชัญพาณิชย์เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น จากผู้ซึ่งเคยศึกษาจากสถาบันดังกล่าวและเริ่มเกิดวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ วิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาลัยหอการค้า ฯลฯ ก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัย

วิวัฒนาการการศึกษาของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จะมุ่งเน้นใช้หลักสูตรของอังกฤษ และหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เริ่มถูกอิทธิพลของอเมริกัน การออกเสียงและการสะกดตัวภาษาอังกฤษถูกเปลี่ยนแปลง และที่รุนแรงที่สุดคือผู้ซึ่งจบจากสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษรของไทยจนมีผลมาถึงปัจจุบัน

ข้อสังเกตข้อหนึ่งคือ วิทยาลัยครูต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อการฝึกครู รวมทั้งวิทยาลัยการศึกษาก็ได้แปรเปลี่ยนรูปเป็นมหาวิทยาลัยจนหมดสิ้นในปัจจุบัน รายละเอียดต่างๆ ยังมีอีกมาก แต่ที่ยกมาให้เห็นโดยสังเขปนี้เพื่อให้เห็นว่า วิวัฒนาการการศึกษาของไทยมีความเป็นมายาวนาน มีแหล่งความรู้จากหลายแหล่ง ทั้งจากอินเดีย จีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยจุดประสงค์หลักสูตรเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และนโยบายของรัฐ ตลอดทั้งสถานการณ์ทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจในขณะนั้น

ตัวอย่างเช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คือสถาบันที่เกิดขึ้นในยุคการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น ส่วนมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ทดแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยเปิดมาเป็นมหาวิทยาลัยปิด มาในปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งกำลังแปรสภาพจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเทียบเท่าหนึ่งกรม กลายเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบซึ่งเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่กำหนดมาจากสถาบันการเงินที่ให้ประเทศไทยกู้เงินโดยมีเงื่อนไขผูกไว้

การศึกษาคือตัวแปรสำคัญในการสร้างคน คนคือตัวจักรสำคัญในการสร้างสังคม รัฐมนตรีที่ดูแลการศึกษรจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรอบรู้ประวัติศาสตร์ และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก จึงถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยิ่งในสหรัฐอเมริกา เพราะอนาคตของประเทศชาติขึ้นอยู่กับศึกษาและวัฒนธรรม ตราบเท่าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง อนาคตประเทศชาติย่อมไม่สามารถจะก้าวไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ เพราะการศึกษาคือ การสร้างคน คนสร้างสังคม สังคมก่อขึ้นมาเป็นชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น