ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เรียกว่าเข้ากลหมากตาบังคับ ที่คนทั่วไปจำต้องโอบอุ้มให้รัฐบาลอภิสิทธิ์บริหารบ้านเมืองไปจนครบเทอม แต่วิกฤตทางการเมืองหลายระลอกกำลังเกิดขึ้นและก่อเค้าตามมาไม่ขาดช่วง
ทำให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่อาจมีการยุบสภากำลังจะมาถึงแล้วหรืออย่างไร? และอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองต่อไป?
ดังนั้นในสถานการณ์อย่างนี้ จึงต้องติดตามดูกันให้ดีว่าพรรคประชาธิปัตย์จะรับมือกับวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ได้อย่างไร
มรสุมทางการเมืองก่อเค้าทะมึนจนน่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่ง เพราะบ้านเมืองยามนี้เป็นที่รู้และเข้าใจกันดีว่าหากนายกรัฐมนตรียุบสภาหรือลาออกแล้ว ก็จะเกิดช่องว่างแห่งอำนาจ จนไม่มีใครหน้าไหนจะไปรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและโรคร้ายซึ่งกำลังโหมรุมเร้าทั่วสากลโลก และแผ่ปกคลุมเข้ามายังประเทศไทยของเราได้
ทุกผู้ทุกนามทุกภาคส่วนและทุกธุรกิจจะพากันพินาศยับเยินหมดสิ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงก่อเกิดเป็นสภาพบังคับให้ผู้คนจำต้องโอบอุ้มค้ำจุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประคองรัฐนาวาต่อไปให้ได้นานที่สุด หรือไปตลอดรอดฝั่งจนครบเทอมได้ก็จะเป็นการดี
เพราะอย่างน้อยเวลาสองปีกว่าหรือราว 31 เดือนที่เหลือข้างหน้า หากมีความกล้าหาญเด็ดขาดและตั้งมั่นอยู่ในความสุจริต เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตไปสู่ความรอดปลอดภัยได้
สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีไม่มีพรรคการเมืองและไม่มี ส.ส. ในสังกัดแม้แต่คนเดียว แต่มีสิ่งเดียวที่เป็นเลิศนั่นคือความสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ถือประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการและนำพาสยามรัฐนาวาได้รอดปลอดภัยอย่างมีเสถียรภาพ
ครั้งนั้นรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจการใหญ่ 4 ครั้ง คือ
ครั้งแรก การตัดสินใจเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นที่ประจักษ์ออกไป โดยไม่ยำเกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัว แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครกล้าถอนตัว บรรดานักการเมืองพากันยำเกรงความสุจริตและความกล้าหาญเด็ดขาดนั้น แล้วพากันเข้าแถวตั้งหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยราบรื่น
ครั้งที่สอง ตัดสินใจลดค่าเงินบาททั้งที่รู้ดีว่ามีผลกระทบและความเสียหายแก่บางภาคส่วน แต่ผลโดยรวมจะบังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง และในที่สุดก็ได้เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้นจนเป็นที่พอใจถ้วนหน้ากัน การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่นี้ได้เป็นรากฐานแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น และที่สำคัญทำให้สาธารณชนได้เห็นว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องเด็ดขาดคือพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะค้ำจุนชาติบ้านเมืองในยามวิกฤตได้ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนและนานาชาติ และกลายเป็นพลังค้ำจุนสำคัญให้รัฐบาลนั้นครองอำนาจต่อมาถึง 3 สมัย รวมเวลาถึง 8 ปี
ครั้งที่สาม ตัดสินใจปลดผู้บัญชาการทหารบกกลางอากาศ ในฐานะที่ทำตัวเป็นอำนาจแฝง ข่มเหงรัฐบาลเป็นเนืองนิตย์ เพราะคิดว่ารัฐบาลกลัวในอำนาจหรือกลัวการรัฐประหาร หลังการตัดสินใจครั้งนี้แล้ว ก็ไม่มีใครกล้าลบหลู่ดูแคลนรัฐบาลนั้นอีกเลย การทั้งปวงได้ดำเนินไปตามที่พึงเป็น และเกิดเป็นเอกภาพครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
ครั้งที่สี่ ตัดสินใจครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ในทางการเมือง ยุติความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมายาวนานถึง 30 ปีลงได้อย่างสิ้นเชิงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร และอ้าแขนรับให้คนไทยที่มีความเห็นไม่ตรงกันได้เข้ามาร่วมสร้างชาติบ้านเมืองกันใหม่
เพราะการกระทำที่กล้าหาญ เด็ดขาด ถูกต้องและยิ่งใหญ่บนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งประเทศชาติและประชาชนทั้ง 4 เรื่องนี้ จึงทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองและไม่มี ส.ส. ในสังกัดสามารถดำรงตำแหน่งมาได้ถึง 3 สมัยเป็นเวลา 8 ปี
แล้วรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีพรรคการเมืองและมี ส.ส. เป็นกำลังทางการเมืองอยู่มากมาย ทั้งสถานการณ์ก็เข้าตาบังคับที่คนทั้งปวงต้องโอบอุ้มค้ำชูดังนี้ จึงมีวิสัยที่จะแก้ไขวิกฤตทางการเมืองให้ตลอดรอดฝั่งได้
จึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง กล้าหาญ เด็ดขาด ซื่อสัตย์ สุจริต คิดถึงประโยชน์แห่งชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไม่เท่านั้น
ว่าจะตัดสินใจทำการโดยทำนองเดียวกันกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือว่าจะประนีประนอมออมชอมโดยไม่ยึดมั่นในหลักการ ตรงจุดนี้จะเป็นจุดชี้ชะตากรรมและอนาคตของรัฐบาลตลอดจนบ้านเมืองด้วย
ขณะนี้มรสุมวิกฤตทางการเมืองได้เกิดขึ้นและก่อเค้าตามมาหลายระลอก ส่อให้เห็นว่าการเมืองไทยอาจเกิดวิกฤตใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่อาจถึงขนาดต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยและคนไทยทั้งมวล
ระลอกหนึ่ง คือการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมเพื่อฟอกผิดฟอกโกงให้กับนักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงนิติปรัชญา นิติรัฐ และนิติธรรมทั้งปวงที่มีมาสำหรับแผ่นดิน และไม่แยแสต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเลย
ระลอกนี้จะนำมาซึ่งวิกฤตการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะช้าเร็วประการใดเท่านั้นเอง หรือว่าจะหยุดม้าไว้ริมผาให้ทันท่วงทีได้หรือไม่
ระลอกหนึ่ง คือการฉ้อฉลปล้นชาติปล้นแผ่นดินของนักการเมืองที่ยังคงกำเริบเสิบสาน ทำการอย่างมูมมามอื้อฉาวครึกโครม ไม่แพ้กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดมาเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ประดุจดังมะเร็งร้ายที่ทำลายประเทศชาติและประชาชน ทำลายมโนธรรมและสำนึกจนยับเยิน จนรายได้แผ่นดินไม่พอแก่การปล้นสะดมที่เกิดขึ้น
คนฉ้อฉลปล้นชาติจำนวนมากจึงเชิดหน้าชูตาลอยนวลอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ และใช้พลังทางการเมืองเข้าต่อรองกดดันเพื่อให้ได้ดังประสงค์แห่งตน จนผู้คนระอากันทั้งบ้านทั้งเมือง
ระลอกนี้หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน จนใกล้ถึงวาระที่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้วัวหลังหักแล้ว เพราะในที่สุดผู้รักชาติรักประชาธิปไตยหรือแม้แต่ผู้พิทักษ์บ้านพิทักษ์เมืองก็ไม่มีวันที่จะยอมก้มหน้าให้บ้านเมืองพินาศฉิบหายไปต่อหน้าต่อตาได้
ระลอกหนึ่ง คือความแตกแยกแก่งแย่งผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองที่เป็นประดุจดั่งสุนัขแย่งอาหารในชามข้าว ระหว่างพวกหนึ่งซึ่งตั้งหน้าฉ้อฉลปล้นชาติปล้นแผ่นดิน โดยไม่ยำเกรงผู้ใด ในขณะที่อีกพวกหนึ่งก็พยายามพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองเอาไว้ จนปรากฏรอยร้าวขึ้นหลายแห่ง ที่พร้อมผลิแตกออกไปทุกเมื่อ
ระลอกนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลโดยการยุบสภา หรือภาวะไร้เสถียรภาพ ที่รัฐบาลอาจปรับคณะรัฐมนตรีและยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งย่อมกระทบต่ออาณาประชาราษฎรถ้วนทั่ว
ระลอกหนึ่ง เป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองพวกทั้งในสภาและนอกสภา ที่พวกหนึ่งทำการทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว แต่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่ถือเหตุถือผล กับอีกพวกหนึ่งซึ่งพยายามรักษาชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน จนบานปลายกลายเป็นมวยหมู่ในรัฐสภาไปแล้ว
ระลอกนี้จะทำให้ระบอบรัฐสภาไทยเสื่อมความศรัทธาเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน และไม่เป็นที่เชื่อถือศรัทธาอีกต่อไป เพราะนับวันคนทั้งหลายได้ประจักษ์แก่ตาตัวว่าบรรดาคนที่เรียกตัวเองว่าผู้แทนราษฎรนั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้แทนของใครหรือเป็นทาสใครกันแน่ และเมื่อนั้นคนทั้งหลายก็จะไม่ยอมค้อมหัวยอมรับการกระทำของคนเหล่านี้และไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีคนเหล่านี้อีกต่อไป
ระลอกหนึ่ง คือความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ที่ต่างได้รับและซ่องเสพข่าวสารข้อมูลคนละชุด มีปัจจัยหลักมาจากความไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนของประชาชน โดยรัฐไม่ใส่ใจแก้ไข ถอนปัญหานี้ให้ถึงรากถึงโคนเสียที ปล่อยให้รากเหง้าของความขัดแย้งขยายตัวไปไม่มีที่สิ้นสุด
ระลอกนี้จะเป็นมูลเหตุใหญ่ที่ความขัดแย้งทางความคิดจะกลายเป็นความขัดแย้งทางการปฏิบัติ นั่นคือกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างคนเผ่าไทยที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน
ทั้งห้าระลอกนี้คือมรสุมใหญ่ที่ก่อเค้าทะมึนอันน่าสะพรึงกลัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ จะรับมือนำพารัฐนาวาให้พ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร ก็ควรตั้งใจศึกษาบทเรียนอันงามสง่าของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้นเถิด.
ทำให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่อาจมีการยุบสภากำลังจะมาถึงแล้วหรืออย่างไร? และอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองต่อไป?
ดังนั้นในสถานการณ์อย่างนี้ จึงต้องติดตามดูกันให้ดีว่าพรรคประชาธิปัตย์จะรับมือกับวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ได้อย่างไร
มรสุมทางการเมืองก่อเค้าทะมึนจนน่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่ง เพราะบ้านเมืองยามนี้เป็นที่รู้และเข้าใจกันดีว่าหากนายกรัฐมนตรียุบสภาหรือลาออกแล้ว ก็จะเกิดช่องว่างแห่งอำนาจ จนไม่มีใครหน้าไหนจะไปรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและโรคร้ายซึ่งกำลังโหมรุมเร้าทั่วสากลโลก และแผ่ปกคลุมเข้ามายังประเทศไทยของเราได้
ทุกผู้ทุกนามทุกภาคส่วนและทุกธุรกิจจะพากันพินาศยับเยินหมดสิ้น สถานการณ์เช่นนี้จึงก่อเกิดเป็นสภาพบังคับให้ผู้คนจำต้องโอบอุ้มค้ำจุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประคองรัฐนาวาต่อไปให้ได้นานที่สุด หรือไปตลอดรอดฝั่งจนครบเทอมได้ก็จะเป็นการดี
เพราะอย่างน้อยเวลาสองปีกว่าหรือราว 31 เดือนที่เหลือข้างหน้า หากมีความกล้าหาญเด็ดขาดและตั้งมั่นอยู่ในความสุจริต เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตไปสู่ความรอดปลอดภัยได้
สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีไม่มีพรรคการเมืองและไม่มี ส.ส. ในสังกัดแม้แต่คนเดียว แต่มีสิ่งเดียวที่เป็นเลิศนั่นคือความสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ถือประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการและนำพาสยามรัฐนาวาได้รอดปลอดภัยอย่างมีเสถียรภาพ
ครั้งนั้นรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจการใหญ่ 4 ครั้ง คือ
ครั้งแรก การตัดสินใจเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นที่ประจักษ์ออกไป โดยไม่ยำเกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัว แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครกล้าถอนตัว บรรดานักการเมืองพากันยำเกรงความสุจริตและความกล้าหาญเด็ดขาดนั้น แล้วพากันเข้าแถวตั้งหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยราบรื่น
ครั้งที่สอง ตัดสินใจลดค่าเงินบาททั้งที่รู้ดีว่ามีผลกระทบและความเสียหายแก่บางภาคส่วน แต่ผลโดยรวมจะบังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง และในที่สุดก็ได้เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้นจนเป็นที่พอใจถ้วนหน้ากัน การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่นี้ได้เป็นรากฐานแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น และที่สำคัญทำให้สาธารณชนได้เห็นว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องเด็ดขาดคือพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะค้ำจุนชาติบ้านเมืองในยามวิกฤตได้ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนและนานาชาติ และกลายเป็นพลังค้ำจุนสำคัญให้รัฐบาลนั้นครองอำนาจต่อมาถึง 3 สมัย รวมเวลาถึง 8 ปี
ครั้งที่สาม ตัดสินใจปลดผู้บัญชาการทหารบกกลางอากาศ ในฐานะที่ทำตัวเป็นอำนาจแฝง ข่มเหงรัฐบาลเป็นเนืองนิตย์ เพราะคิดว่ารัฐบาลกลัวในอำนาจหรือกลัวการรัฐประหาร หลังการตัดสินใจครั้งนี้แล้ว ก็ไม่มีใครกล้าลบหลู่ดูแคลนรัฐบาลนั้นอีกเลย การทั้งปวงได้ดำเนินไปตามที่พึงเป็น และเกิดเป็นเอกภาพครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
ครั้งที่สี่ ตัดสินใจครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ในทางการเมือง ยุติความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมายาวนานถึง 30 ปีลงได้อย่างสิ้นเชิงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร และอ้าแขนรับให้คนไทยที่มีความเห็นไม่ตรงกันได้เข้ามาร่วมสร้างชาติบ้านเมืองกันใหม่
เพราะการกระทำที่กล้าหาญ เด็ดขาด ถูกต้องและยิ่งใหญ่บนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งประเทศชาติและประชาชนทั้ง 4 เรื่องนี้ จึงทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองและไม่มี ส.ส. ในสังกัดสามารถดำรงตำแหน่งมาได้ถึง 3 สมัยเป็นเวลา 8 ปี
แล้วรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีพรรคการเมืองและมี ส.ส. เป็นกำลังทางการเมืองอยู่มากมาย ทั้งสถานการณ์ก็เข้าตาบังคับที่คนทั้งปวงต้องโอบอุ้มค้ำชูดังนี้ จึงมีวิสัยที่จะแก้ไขวิกฤตทางการเมืองให้ตลอดรอดฝั่งได้
จึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง กล้าหาญ เด็ดขาด ซื่อสัตย์ สุจริต คิดถึงประโยชน์แห่งชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไม่เท่านั้น
ว่าจะตัดสินใจทำการโดยทำนองเดียวกันกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือว่าจะประนีประนอมออมชอมโดยไม่ยึดมั่นในหลักการ ตรงจุดนี้จะเป็นจุดชี้ชะตากรรมและอนาคตของรัฐบาลตลอดจนบ้านเมืองด้วย
ขณะนี้มรสุมวิกฤตทางการเมืองได้เกิดขึ้นและก่อเค้าตามมาหลายระลอก ส่อให้เห็นว่าการเมืองไทยอาจเกิดวิกฤตใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่อาจถึงขนาดต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยและคนไทยทั้งมวล
ระลอกหนึ่ง คือการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมเพื่อฟอกผิดฟอกโกงให้กับนักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงนิติปรัชญา นิติรัฐ และนิติธรรมทั้งปวงที่มีมาสำหรับแผ่นดิน และไม่แยแสต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเลย
ระลอกนี้จะนำมาซึ่งวิกฤตการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะช้าเร็วประการใดเท่านั้นเอง หรือว่าจะหยุดม้าไว้ริมผาให้ทันท่วงทีได้หรือไม่
ระลอกหนึ่ง คือการฉ้อฉลปล้นชาติปล้นแผ่นดินของนักการเมืองที่ยังคงกำเริบเสิบสาน ทำการอย่างมูมมามอื้อฉาวครึกโครม ไม่แพ้กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดมาเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ประดุจดังมะเร็งร้ายที่ทำลายประเทศชาติและประชาชน ทำลายมโนธรรมและสำนึกจนยับเยิน จนรายได้แผ่นดินไม่พอแก่การปล้นสะดมที่เกิดขึ้น
คนฉ้อฉลปล้นชาติจำนวนมากจึงเชิดหน้าชูตาลอยนวลอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ และใช้พลังทางการเมืองเข้าต่อรองกดดันเพื่อให้ได้ดังประสงค์แห่งตน จนผู้คนระอากันทั้งบ้านทั้งเมือง
ระลอกนี้หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน จนใกล้ถึงวาระที่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้วัวหลังหักแล้ว เพราะในที่สุดผู้รักชาติรักประชาธิปไตยหรือแม้แต่ผู้พิทักษ์บ้านพิทักษ์เมืองก็ไม่มีวันที่จะยอมก้มหน้าให้บ้านเมืองพินาศฉิบหายไปต่อหน้าต่อตาได้
ระลอกหนึ่ง คือความแตกแยกแก่งแย่งผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองที่เป็นประดุจดั่งสุนัขแย่งอาหารในชามข้าว ระหว่างพวกหนึ่งซึ่งตั้งหน้าฉ้อฉลปล้นชาติปล้นแผ่นดิน โดยไม่ยำเกรงผู้ใด ในขณะที่อีกพวกหนึ่งก็พยายามพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองเอาไว้ จนปรากฏรอยร้าวขึ้นหลายแห่ง ที่พร้อมผลิแตกออกไปทุกเมื่อ
ระลอกนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลโดยการยุบสภา หรือภาวะไร้เสถียรภาพ ที่รัฐบาลอาจปรับคณะรัฐมนตรีและยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งย่อมกระทบต่ออาณาประชาราษฎรถ้วนทั่ว
ระลอกหนึ่ง เป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองพวกทั้งในสภาและนอกสภา ที่พวกหนึ่งทำการทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว แต่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่ถือเหตุถือผล กับอีกพวกหนึ่งซึ่งพยายามรักษาชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน จนบานปลายกลายเป็นมวยหมู่ในรัฐสภาไปแล้ว
ระลอกนี้จะทำให้ระบอบรัฐสภาไทยเสื่อมความศรัทธาเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน และไม่เป็นที่เชื่อถือศรัทธาอีกต่อไป เพราะนับวันคนทั้งหลายได้ประจักษ์แก่ตาตัวว่าบรรดาคนที่เรียกตัวเองว่าผู้แทนราษฎรนั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้แทนของใครหรือเป็นทาสใครกันแน่ และเมื่อนั้นคนทั้งหลายก็จะไม่ยอมค้อมหัวยอมรับการกระทำของคนเหล่านี้และไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีคนเหล่านี้อีกต่อไป
ระลอกหนึ่ง คือความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ที่ต่างได้รับและซ่องเสพข่าวสารข้อมูลคนละชุด มีปัจจัยหลักมาจากความไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนของประชาชน โดยรัฐไม่ใส่ใจแก้ไข ถอนปัญหานี้ให้ถึงรากถึงโคนเสียที ปล่อยให้รากเหง้าของความขัดแย้งขยายตัวไปไม่มีที่สิ้นสุด
ระลอกนี้จะเป็นมูลเหตุใหญ่ที่ความขัดแย้งทางความคิดจะกลายเป็นความขัดแย้งทางการปฏิบัติ นั่นคือกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างคนเผ่าไทยที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน
ทั้งห้าระลอกนี้คือมรสุมใหญ่ที่ก่อเค้าทะมึนอันน่าสะพรึงกลัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ จะรับมือนำพารัฐนาวาให้พ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร ก็ควรตั้งใจศึกษาบทเรียนอันงามสง่าของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้นเถิด.