“มดเป็นตัวแทนของยุคสมัย ยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวกล้ามองไปถึงดวงดาว และทุ่มเทชีวิตของตัวเองเพื่อฝ่าฟันไปหยิบดาวดวงนั้นมาเป็นสมบัติของประชาชน ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้ครอบครองไว้เองในนามของประชาชน ระแวดระวังกับการไกล่เกลี่ยกับสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือปฏิปักษ์ จึงไม่ยอมหลงทางกับความสำเร็จเฉพาะหน้าแทนเป้าหมายในระยะยาว แม้ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีไปตามความจำเป็นของสถานการณ์ แต่ไม่มีวันทิ้งยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายหลักไปแต่อย่างใด และยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายหลักของมดคือ ความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งขาดแคลนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง”
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึง มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่จากโลกนี้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ชีวิตของมด-วนิดา ได้อุทิศเพื่อการต่อสู้ เพื่อสิทธิของคนยากคนจน ความเป็นธรรมในสังคม เป็นแบบอย่างของคนหนุ่มสาวที่มุ่งมั่นและใฝ่ฝันจะสรรค์สร้างสังคมที่ดีงาม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ประกาศมอบรางวัล ‘ฉันรักประชาชน’ โดยมด-วนิดา เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งรางวัลนี้ว่า
“ท่านผู้ประศาสน์การ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตไปรับใช้สังคมมาแต่ต้น เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ ดังที่มีคำขวัญสืบต่อกันมาว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน มด-วนิดา เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตตามปณิธานดังกล่าว ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน เป็นอุดมคติที่สังคมไทยขาดแคลน ชีวิตของ มด-วนิดา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรางวัลนี้ขึ้น เพื่อมอบให้แก่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่มีชีวิตและผลงานรับใช้ประชาชน”
ตามรอย มด-วนิดา สู่กองทุนเพื่อคนจน
มด-วนิดา เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2498 ในครอบครัวคนจีน เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด เริ่มทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม โดยมีเพื่อนเรียน เพื่อนกิจกรรมชื่อว่า รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ที่ยังคงเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมเฉกเช่นเดียวกัน
“สมัยนั้นเราเป็นประธานนักเรียน มดเป็นเลขาธิการ สามสิบปีที่รู้จักกัน มดมั่นคงในเส้นทางที่ตนเองเชื่อ เขาทำงานเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนเลย มดพิสูจน์ตัวเองจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตว่าทำเพื่อคนอื่น ความสุขของเขาขึ้นกับความทุกข์ของคนอื่นด้วย” รสนาพูดถึงเพื่อนผู้จากไป
ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5 มด-วนิดาได้เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่จะสอบเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เป็นสมาชิกวงดนตรี ‘กรรมาชน’ และเข้าร่วมต่อสู้กับกรรมกรโรงงานฮาร่าซึ่งยึดโรงงานประท้วงนายจ้างยืดเยื้อถึง 5 เดือน
หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มด-วนิดาได้หนีภัยเผด็จการเข้าป่า ก่อนคืนเมืองในปี 2524 เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ หลังจากนั้นได้ประกอบอาชีพส่วนตัวที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย และมัคคุเทศก์นำเที่ยวอยู่หลายปีเพื่อช่วยเหลือภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว
มด-วนิดา ได้กลับมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เริ่มจากโครงการสันติภาพ รณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ จนถึงโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติในปี 2532-2533 รับผิดชอบงานฝ่ายวิชาการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง เขื่อนแก่งเสือเต้น จนถึงเขื่อนปากมูล
กรณีคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ทำให้ มด-วนิดา มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง สมัชชาคนจน ร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคนจน ล่าสุด เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ก่อนจะล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ตั้งแต่ปี 2547 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 รวมอายุ 52 ปี
ครอบครัวตันติวิทยาพิทักษ์และเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’
วัชรี เผ่าเหลืองทอง กรรมการกองทุน เล่ารายละเอียดว่า
“วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกองทุน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิทธิให้ชาวบ้าน สนับสนุนการแก้ปัญหาคนจนในทุกกรณ สนับสนุนการฟื้นฟูแม่น้ำมูนด้วยการเปิดเขื่อนปากมูล สนับสนุนการฟื้นฟูศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน กิจกรรมที่ทำไปแล้วคือจัดงานครบร้อยวันและลอยอังคาร มด-วนิดา เชิดชูเจตนารมณ์และให้กำลังใจชาวบ้าน สิ่งที่ตั้งใจทำให้เป็นผลสำเร็จคือ สนับสนุนกรรมการชาวบ้านทำแผนพัฒนาศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้ายและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปากมูน เพื่อให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำกับวิถีชาวบ้านที่เสื่อมสลายไปเพราะการสร้างเขื่อน”
ขันขานกานต์กวี “มงกุฏดอกหญ้าเป็นอาภรณ์”
กำหนดการมอบรางวัล ‘ฉันรักประชาชน’ ตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2551 เวลา 16.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขณะที่ในวันเดียวกัน เวลา 17.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศิลปินนักดนตรี นักละครเวที คีตกวี และนักคิด นักเขียน นักทำงานเพื่อสังคม จะได้ร่วมกันจัดคอนเสิร์ต ‘จากใจสู่ใจแด่ มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ เป็นเสมือน ‘คำขานรับ’ ว่าหนทางการเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคนจนนั้นยังจะทอดยาวไปอีกไกล โดยมีผองเพื่อนกัลยาณมิตรร่วมอุดมคติ ‘ฉันรักประชาชน’ เดินเคียงข้างไปด้วยกันอีกนานเท่านาน
‘คำขานรับ’ เป็นการแสดงดนตรีที่ผสมผสานบทเพลง กวี ละครเวที และปาฐกถาเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่ 9 ศิลปินเพลง 6 ละครเวที 5 คีตกวี และ 3 นักคิด นักกิจกรรมทางสังคม จะรวมตัวกันสร้างสรรค์งานศิลปะร้อยเรียงเรื่องราวเพื่อให้เป็นเสมือนดั่งคำขานรับ สานต่ออุดมคติ ‘ฉันรักประชาชน’ ของ มด-วนิดา
“เป็นเรื่องดีที่ศิลปินหลายสาขามารวมกันได้ ทั้งรำลึกถึงและผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ต่อไป ด้วยการรวบรวมทุนไปทำกิจกรรมตามเจตนารมณ์ของมดที่แจ่มชัดอยู่แล้ว กับเรื่องราวชีวิตของมด เราน่าจะได้เก็บรับความดีไว้ในจิตใจ เป็นแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ ให้เรารู้ว่ามันมีความหวัง เวลาเราคิดว่ามันมืดมน เมื่อหันมามองมดแล้ว เราพูดอย่างนั้นไม่ได้” จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ 1 ใน 5 กวีที่เตรียมความแปลกใหม่มาเสนอ ด้วยการนำบทแปลเพลงดังของ The Beatle-Across the Universe มาอ่านประกอบบทเพลงและภาพยนตร์
“ตอนแปลเพลงนี้แล้วชอบมาก เป็นภาษาที่สวยงามจับใจ เนื้อเพลงทำให้เราคิดถึงชีวิตมด เหมือนเป็นตัวแทนความรู้สึกข้ามจักรวาล เป็นสากล ไม่ได้จำกัดแค่สมัชชาคนจน แค่เพื่อชาติ เป็นความคิด อุดมการณ์ เป็นสำนึกที่ข้ามพรมแดน เป็นความดีสากล เป็นการไปสู่อีกระดับหนึ่ง คนที่ทำอะไรเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะ แต่ความจริง ความคิด ความรู้สึก เขายิ่งใหญ่ไปไกลกว่าเรื่องเฉพาะ” จิระนันท์ เล่าความตั้งใจเป็นพิเศษ
ในส่วนของบทกวี ยังมีศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มากับบทกวี ‘มงกุฎเกียรติยศ แด่ มด-วนิดา’ พร้อมกับคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในเพลง ‘คนทำทาง’ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ เตรียมนำผลงานชิ้นล่าสุด นิทานร้อยกรอง ‘หนุงหนิง หิ่งห้อยน้อย’ ด้วยลีลาการขับเสภาประกอบเสียงดนตรี และเสียงประกอบจากของเล่นพลาสติกของเด็กๆ เครื่องเป่า เขย่า เคาะ รวมถึง ไพวรินทร์ ขาวงาม และกวีรุ่นใหม่อย่าง ศิริวร แก้วกาญจน์
“คิดว่าไม่จำเป็นต้องพูดถึงวีรกรรมของมดอย่างเดียว แต่เป็นในลักษณะเป็นความปรารถนาร่วมกัน เป็นปรารถนาสังคมที่ดีกว่าเดิม เป็นความปรารถนาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่ในลักษณะแบ่งแยก สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เราและสิ่งแวดล้อมเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกัน เป็นสำนึกร่วมกัน เป็นวิถีดำเนินที่มดยืนยันบนสัจธรรมอันนี้ด้วย” กวีซีไรต์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว
จากบทกวีถึงละครเวที ‘เสียงกระซิบจากแม่น้ำ’
คีตกวีทั้งห้าจะร้อยบทกวีเข้ากับละครเวทีอีก 6 เรื่องจากกลุ่มละครเวทีฝีมือคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร กับฉากตรึงตราจากละครเวทีเรื่อง ‘เสียงกระซิบจากแม่น้ำ’ และบทสนทนาอันเข้มข้นจากวรรณกรรมอมตะเรื่อง ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์
กลุ่มมะขามป้อม กับ ‘เหลียวหลังแลหน้า ตุลง ตุลา’
คณะแปดคุณแปด กับลีลาเคลื่อนไหว ‘แม่น้ำกับความตาย’ ร่วมด้วยละครสนุกเสียดสีสังคมเรื่อง ‘เมื่อฮิตเลอร์ขโมยลูกหมูสีชมพูของหนูไป’ จาก กลุ่มบีฟลอร์ โดยมีศูนย์ศิลปะการละครเพื่อการพัฒนาประสานการแสดง
“คอนเสิร์ตครั้งนี้มีความหลากหลาย แปลกใหม่ คนดูจะได้สัมผัสศิลปะหลายแขนง ฟังดนตรี ดูละคร รวมถึงสัมผัสบทกวี และการพูดโดยบุคคลที่น่าฟังอย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นโอกาสที่หาได้ยากที่จะมารวมกันมากขนาดนี้” สินีนาฏ เกษประไพ ผู้กำกับสาวไฟแรง แสดงความคิดเห็นพร้อมแจงรายละเอียดการแสดงของพระจันทร์เสี้ยวการละครว่า
“เสียงกระซิบจากแม่น้ำเป็นเรื่องราวความเชื่อของคนในลุ่มน้ำโขง ของคนเผ่าไทที่เชื่อว่านาคทำให้เกิดแม่น้ำ แม่น้ำทำให้เกิดชีวิตและผู้คนซึ่งต่างพึ่งพิงกัน พอเขื่อนมา นำไปสู่การอยู่อาศัยที่ยากลำบาก วิถีชีวิตเปลี่ยนไป การแสดงชุดนี้จะเน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย เน้นเพลง ดนตรี เพราะจะเป็นฉากนำเข้าสู่งานคอนเสิร์ตทั้งหมด ความท้าทายของเราคือคั้นเอาความเข้มข้นจากการแสดงเดิม 45 นาที เป็น 10 นาที นำมาร้อยให้เข้ากับเรื่องราวที่จะนำเสนอบนเวที ซึ่งทุกกลุ่มละครจะได้คิดค้นและสร้างสรรค์ใหม่ด้วยเงื่อนไขของเนื้อหาและเวลาแบบเดียวกันนี้”
ขณะที่ พนิดา ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา ให้แนวคิดว่า
“กลุ่มละครเวทีร่วมสมัยได้สร้างงานที่มีเนื้อหาทางสังคมและอุดมคติไว้ไม่น้อย แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เผยแพร่หรือสื่อสารกับผู้ชมที่สนใจ นอกจากจัดในแวดวงคนละครกลุ่มเล็กๆ เช่น พระจันทร์เสี้ยวการละครทำเรื่องแม่น้ำกับชีวิต ได้ไปแสดงถึงต่างประเทศ แต่กลับไม่ค่อยมีคนไทยได้ชมกัน และเรื่องราวก็สอดคล้องกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญอยู่ การได้ร่วมกันนำเสนอบางส่วนของผลงานละครบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ของความหวังที่จะดึงเอาพลังของละครเวทีไทยให้รับใช้สังคมมากขึ้น”
จากใจสู่ใจ แด่ มด-วนิดา
สำหรับบทเพลงและเสียงดนตรีที่จะบรรเลงโดย 9 ศิลปิน เริ่มจากเพื่อนพ้อง วงกรรมาชน ที่เคยร่วมประท้วงยึดโรงงานกับกรรมกรฮาร่ามาด้วยกันกับมด นำเพลงศักดิ์ศรีแรงงาน รำวงวันเมย์เดย์ บรรเลงร่วมกับบทเพลงจากราวไพร ไม่ว่าจะเป็นวันเวลา ยิ้มเหงาๆ โดย พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ พร้อมด้วยสองครอบครัวดนตรี คีตาญชลี และ โฮปแฟมิลี ปิดท้ายรายการด้วยวงรวมการเฉพาะกิจจาก พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ หงา-หว่อง คาราวาน
“สิ่งที่เราได้จากมดคือเรื่องการรับใช้ประชาชน เป็นจิตวิญญาณที่น่าสนใจ ทั้งที่ไม่ใช่ชาวชนบท แต่กลับคลุกคลีกับชาวบ้าน เป็นวิถีรับใช้มวลชนและเลือกข้างชัดเจน ข้างผู้เสียประโยชน์ ข้างผู้ทุกข์ยาก ข้างผู้ได้โอกาสในสังคมน้อย” หงา คาราวาน อาจารย์ใหญ่เพลงเพื่อชีวิตกล่าวความรู้สึก พร้อมให้รายละเอียดการเตรียมคอนเสิร์ตว่า
“กำลังเขียนเพลงใหม่มอบให้มด-วนิดาโดยเฉพาะ ตอนนี้ร่างไว้แล้วในใจ กับเพลงซึ่งน้องที่เชียงรายทำจากบทกวีหิ่งห้อยของวนิดา เมโลดีสวย จะมานำเสนอในคอนเสิร์ตนี้ด้วย”
ส่วนกวีศรีชาวไร่-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ซึ่งสนิทสนมกับมด-วนิดา มายาวนาน ได้เตรียมบทเพลงแห่งความทรงจำในยุคสมัยร่วมใช้ชีวิตในราวไพร เช่น วันเวลา ยิ้มเหงาๆ มาร่วมคอนเสิร์ตครั้งนี้อย่างเต็มตัว เต็มหัวใจ
“ความมุ่งมั่นจะใช้วิถีชีวิตบนเส้นทางเพื่อมนุษยชาติเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งแม้ตัวเราเองก็ยังทำได้เพียงเล็กน้อย มดคงไม่คิดว่าต้องมีใครรู้จักเขา เขาเพียงแต่ทำในสิ่งที่ต้องการทำ มันสะท้อนความจริงของมนุษย์ ใครมารู้ก็เห็น ใครไม่มารู้ก็ไม่เห็น ใครที่ได้รับรู้ชีวิตของมดจะเข้าใจทันที ว่าชีวิตที่เลือกเดินบนเส้นทางของความเป็นธรรมเพื่อคนที่เสียเปรียบ คืออะไร ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร อย่างแม่ชีเทเรซา งานที่เขาทำก่อให้เกิดมนุษยธรรมอย่างไร งานมันจะแผ่ขยายตัวออกมาให้คนเห็น ความงอกงามเบ่งบานให้เห็น งานที่มดทำไว้ก็เช่นกันมันจะปรากฏโดยตัวของมันเอง” น้าหมู-พงษ์เทพ พูดถึงเพื่อน
“เธอคือวีรสตรีของคนสู้
หยัดอยู่ทระนงทรงนุสรณ์
มีมงกุฎดอกหญ้าเป็นอาภรณ์
มาดมั่นนิรันดรไม่คลอนแคลน”
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
หมายเหตุ ติอต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มดินสอสี 0-2623-2838-9 รายได้มอบให้แก่กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนจน