xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกโวย อคส.ทำงามหน้า! ไฟเขียวต่างชาติขายข้าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อคส.ทำงามหน้า ตั้งบริษัทต่างชาติขายข้าวให้ไทย อ้างเป็นมิติใหม่ในการทำธุรกิจเพื่อหาเงินเลี้ยงองค์กร ผู้ส่งออกโวยทันควัน ชี้ไม่เหมาะสมเหตุปล่อยให้ต่างชาติมาทำธุรกิจเกษตร พร้อมยื่นถามความชัดเจน “พาณิชย์-อคส.” ทันควัน ขณะที่ประเทศฟิลิปปินสืเบี้ยวเปิดเสรีข้าวกระทบส่งออกไทย

นายยงยศ ปาละนิติเสนา รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อคส.ได้ตั้งบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด มีสำนักงานในมาเลเซีย เป็นตัวแทนขาย และกระจายสินค้าไทยในดูไบ โดยจะขายข้าว สำหรับตลาดในตะวันออกกลาง ซึ่งจะเริ่มจากการกระจายข้าวถุงที่ผลิตโดย อคส. ภายใต้ชื่อ  “ Taste of Thai “ ในข้าว 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ข้าวนึ่ง และข้าวเจ้า 100% ขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม และ 10 กิโลกรัม คาดว่าจะเริ่มจัดส่งได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ประมาณ 200 ตัน มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท

“ต่อไป Taste of Thai จะเป็นตราสินค้าของอคส.เพื่อทำตลาดในต่างประเทศ และเตรียมจะเพิ่มสินค้าชนิดอื่นอีก โดยข้าวถุงจะเป็นสินค้านำร่องการเปิดชื่อ และการเจาะตลาดของอคส.ในต่างประเทศ ถือเป็นก้าวใหม่ของการทำธุรกิจของอคส.“ นายยงยศกล่าว

นายยงยศ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ส่งออกข้าวไทยระบุถึงความไม่เหมาะสมที่อคส.แต่งตั้งให้บริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) เป็นตัวแทนขายข้าวไทย เพราะจะกระทบต่อการแข่งขันกับผู้ส่งออกไทยนั้น บริษัท จีจีเอฟ  ถือเป็นโบรกเกอร์ขายข้าวให้ไทย ซึ่งหากบริษัทสามารถขายข้าวไทยได้ อคส.จะได้ค่าตอบแทน 2% ของมูลค่าข้าวที่บริษัทขายได้ เพราะ อคส.เป็นผู้จัดหาข้าวให้ตามจำนวนที่ผู้ซื้อสั่งซื้อผ่านบริษัท จีจีเอฟ

“อคส.เป็นเพียงผู้หาข้าวให้จีจีเอฟตามที่มีคำสั่งซื้อมาแล้วเก็บค่าตอบแทน จึงไม่ใช่เป็นการแย่งตลาดผู้ส่งออก แต่จีจีเอฟจะทำหน้าที่หาตลาดข้าวไทย แล้วสั่งซื้อผ่านมายังอคส. ซึ่งอคส.อาจซื้อจากโรงสี หรือผู้ส่งออกรายใดก็ได้ที่เสนอราคาเหมาะสม แต่เราต้องการคุมเรื่องคุณภาพข้าวว่าส่งจากเราจริง ไม่ปลอมปน จัดส่งได้ครบตามปริมาณ และเวลาที่กำหนดการดำเนินการเช่นนี้ เพราะอคส.ต้องการหารายได้ชดเชยจากการที่ไม่ได้ดูแลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอคส.มีภาระค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 300 ล้านบาท“ นายยงยศกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทจีจีเอฟยังเป็นคู่สัญญาของอคส.เพื่อให้เช่าไซโลเก็บข้าวในสต๊อกของรัฐบาลปริมาณ 2 ล้านตัน ที่รัฐบาลจะใช้มาตรการเสริม เพื่อพยุงราคา ภายหลังจากที่รัฐเริ่มโครงการประกันราคาข้าวเปลือกนาปีปี 2552/53 แล้วราคาตกต่ำ โดยบริษัทเสนอค่าเก็บรักษาในอัตราต่ำสุดที่ตันละ 41 บาท/เดือน ต่ำกว่ามติคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) กำหนดในอัตรา 44 บาท/ตัน/เดือน  

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ซื้อในต่างประเทศสอบถามมายังสมาคมมากถึงกรณีที่บริษัท จีจีเอฟ  อ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวให้กับ อคส. และมีแผนตั้งไซโล 200 แห่งเพื่อเก็บข้าวรัฐบาล 2 ล้านตัน ซึ่งสมาคมฯ ได้สอบถามความชัดเจนมายังอคส. และกระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจน ถือว่าเป็นกระทำที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบายรัฐบาล ที่ปกป้องการลงทุนของคนต่างชาติในธุรกิจสินค้าเกษตร แต่กลับเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาขายข้าวแข่งกับผู้ประกอบการในประเทศ

รายงานข่าว แจ้งว่า จากการตรวจสอบบริษัทจีจีเอฟ (ไทยแลนด์) พบว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2552 ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อใหม่ จากเดิม คือ บริษัท อินสไปเรชั่น อราวนด์ จำกัด และขอเพิ่มวัตถุประสงค์เป็นบริษัทด้านขายส่งข้าว และผลิตภัณฑ์จากโรงสีข้าว การให้เช่า การขาย การซื้อ และดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง และขนถ่ายสินค้า โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ดำเนินการมา 3 ปี

ฟิลิปปินส์เบี้ยวเปิดเสรีข้าวอาฟตา

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับแจ้งจากผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เสนอที่จะลดภาษีนำเข้าข้าวให้ไทย ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) เหลือ 5% แต่จะกำหนดโควตานำเข้าให้แค่ 50,000 ตัน เพื่อเป็นการชดเชยกรณีที่ฟิลิปปินส์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงการลดภาษีภายใต้อาฟตาได้ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ เพราะต้องหารือกับรัฐบาลก่อน รวมทั้งต้องดูผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

         “ยังไม่ได้ตอบตกลงที่จะรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ คงต้องหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อนว่าจะมีท่าทีอย่างไร จะยอมรับได้หรือไม่ เพราะถือว่า ฟิลิปปินส์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดเสรีภายใต้กรอบอาฟตา และทำให้ไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์”นางพรทิวากล่าว

      รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ฟิลิปปินส์ เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ยังไม่ปฏิตามข้อตกลงการเปิดเสรีอาฟตา ได้ยื่นข้อเสนอตารางการลดภาษี โดยจะคงอัตราภาษีสินค้าข้าวที่ 40% ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2557 และลดลงเหลือ 35% ในปี 2558 แต่ไทยไม่สามารถรับได้ เพราะอัตราภาษีสุดท้ายยังสูงกว่าอาเซียนอื่น ที่จัดสินค้าข้าวไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง อย่างมาเลเซียจะลดภาษีเหลือ 20% ในปี 2553  ส่วนอินโดนีเซีย จะลดเหลือ 25% ในปี 2558  ดังนั้น รมว.พาณิชย์ไทยได้ยืนยันท่าทีไปว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ได้ และให้แจ้งท่าทีเบื้องต้นของฟิลิปปินส์กลับมาในเดือนส.ค.2552 โดยฟิลิปปินส์เพิ่งตอบกลับมาเมื่อเร็วๆ นี้ และจะขอลดภาษีข้าวจากไทยเหลือ 5% และกำหนดโควตานำเข้าเพียง 50,000 ตันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) และคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา เคาน์ซิล) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2552 ที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าอ่อนไหวสูงตามที่ผูกผันไว้ เพราะหลายประเทศยังไม่ลดภาษีได้ตามที่กำหนด ซึ่งจะทำให้การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาจต้องล่าช้าออกไปจากเป้าหมายในปี 2558 และทำให้อาเซียนมีปัญหาระหว่างกันได้ เพราะจะมีการเรียกร้องให้ชดเชยผลประโยชน์ หรือฟ้องร้อง หรือตอบโต้ทางการค้า ซึ่งไทยก็ได้มีการเจรจาขอให้ฟิลิปปินส์ชดเชยให้ไทยในกรณีนี้

  ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นข้อเสนอไปยังฟิลิปปินส์ให้กำหนดโควตานำเข้าข้าวให้ไทยปีละ 400,000 ตัน ภาษี 5% หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงอาฟตาได้    ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ยังมีปัญหาการลดภาษี คือ  อินโดนีเซีย มีข้าว และน้ำตาล โดยข้าวจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 25% ในปี 2558 น้ำตาล ลดจาก 30-40% เป็น 5-10% ในปี 2558 มาเลเซีย มีข้าว ที่จะลดจาก 40% เป็น 20% ในปี 2553 ส่วนสินค้าอ่อนไหวอื่นๆ อาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน) ตกลงจะลดเหลือ 0-5% ในปี 2553 ยกเว้นอาเซียนใหม่ (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)ที่จะช้าออกไป โดยไทยมีสินค้าอ่อนไหว 7 รายการ

ผลจากการที่ทั้ง 3 ประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง จะทำให้ไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทั้งข้าว และน้ำตาลจะได้รับผลกระทบทันที เพราะจะส่งสินค้าเข้าไปขายได้ใน 3 ประเทศได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะกรณีน้ำตาลของอินโดนีเซีย ซึ่งเดิมไทยเคยเป็นผู้ครองตลาดอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันได้เสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศอื่นแล้ว และที่ผ่านมา ไทยได้เจรจาชดเชยความเสียหายและอินโดนีเซียได้ยอมเปิดตลาดข้าวให้ไทยเพิ่มขึ้น และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น