xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์:สารพัดวิธีรับมือเปิดตลาดข้าวAFTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเปิดตลาดข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 ที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลการนำเข้าได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง มีแนวทางในการบริหารจัดการการนำเข้าอย่างไร นายจรัส กิตติสมบูรณ์สุข นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมการค้าต่างประเทศ ได้เปิดโอกาสให้ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังการทำงาน และแผนงานรับมือการเปิดตลาดข้าว AFTA ไว้อย่างน่าสนใจ

ขอทราบที่มาที่ไปของการเปิดตลาดข้าว AFTA

อาเซียนได้มีการตกลงจัดทำ AFTA ตั้งแต่ปี 2535 โดยเริ่มแรกมีแค่ 6 ประเทศ ต่อมาเพิ่มเป็น 10 ประเทศ และมีการตกลงลดภาษีสินค้ามากมาย และข้าวก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะมีการลดภาษี และเปิดตลาด ซึ่งตอนแรกเรามั่นใจว่าไม่มีปัญหา เพราะเราเก่งในเรื่องข้าว กระบวนการผลิต การตลาด เราเหนือกว่าทุกประเทศ ตอนนี้ก็ยังเหนือ แต่ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มมีการพัฒนา เพิ่มผลผลิตและส่งออกได้มากขึ้น เวียดนามก็มาเป็นคู่แข่ง กัมพูชา ก็เริ่มผลิตข้าวได้มากขึ้น และยิ่งเมื่อปีที่แล้ว ราคาข้าวสูงมาก หลายๆ ประเทศก็เร่งผลิต เพราะกลัวปัญหาขาดแคลน ขณะที่รัฐบาลก็รับจำนำราคาดี ทำให้อาจมีการนำข้าวเข้ามาสวมสิทธิ์ แม้จะหาหลักฐานไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะราคามันจูงใจ ยิ่งพอ 1 ม.ค.ปีหน้า เราต้องเปิดตลาดตามพันธกรณี AFTA อีก ก็มีหลายๆ คนกังวลว่าจะการเอาข้าวเข้ามาปลอมปน ทำให้คุณภาพข้าวไทยมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ และกระทบกับชาวนาไทย

กรมฯ มีมาตรการรองรับการเปิดเสรี AFTA อย่างไร

เรารู้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 ต้องเปิดตลาด กขช. (คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ) ได้มอบให้กรมฯ ดูแลในเรื่องการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ซึ่งเราได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ส่งออก โรงสี สมาคมชาวนา คุยกันมาตั้งแต่ต้นปี เพราะเราเห็นปัญหาที่ว่ามา จึงได้เปิดกว้างให้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งสิ่งที่เรามองกัน จะใช้วิธีการกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า กำหนดคุณภาพมาตรฐาน มีการใช้มาตรฐานด้านสุขอนามัย การป้องกันสารตกค้าง สารปนเปื้อน ป้องกันข้าว GMOs และมองถึงว่าต้องมีการกำหนดด่านนำเข้าเพื่อให้ดูแลได้ทั่วถึง รวมทั้งยังได้ดูถึงประเด็นที่ว่าจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไง

หลังจากนั้น ได้จัดเวทีสาธารณะ 6 ครั้ง เพื่อนำความคิดเห็นที่กรมฯ กำหนดออกมา ไปหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการที่กำหนดออกมา และมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าต้องทำให้เข้มงวดและมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งกรมฯ ก็เห็นด้วย และกำลังจัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอรัฐบาลอยู่

แนวทางที่นำมาใช้ในการกำกับการนำเข้าข้าวมีอะไรบ้าง

หลังจากที่ได้ทำการบ้าน ก็ได้แนวทางที่ชัดเจนออกมาพอสมควร ซึ่งกรมฯ จะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยมีรูปแบบที่คิดว่าควรจะนำมาใช้ 5-6 รูปแบบ คือ 1.ใช้วิธีเปิดเหมือนปิด จะมีการกำหนดมาตรการจนไม่สามารถนำเข้าข้าวเข้ามาได้ ซึ่งวิธีการนี้คงไม่เหมาะ เพราะเข้มเกินไป 2.เปิดให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ 3.เปิดให้นำเข้าข้าวราคาถูกมาขายให้คนมีรายได้น้อย 4.เปิดให้ผู้ส่งออกนำเข้าแล้วส่งออกเลย และ 5.เปิดให้นำเข้าข้าวเปลือก

วิธีการทั้งหมด ก็เป็นแนวทางที่ได้คุยๆ กันมา แต่บางอย่างก็ดี แต่บางอย่างก็เป็นไปได้ยาก มันมีทั้งข้อดี ข้อเสีย อย่างการเปิดเหมือนปิด ถ้าทำคงถูกประเทศอาเซียนอื่นต่อต้านเยอะ เปิดให้อุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวนำเข้า ก็ดูว่ามีความเป็นไปได้ เปิดให้นำเข้าข้าวราคาถูกมาขายให้คนจน คนมีรายได้น้อย ก็พอเป็นไปได้ แต่ก็คงจะเกิดผลกระทบกับข้าวบางส่วนที่กินในประเทศ เปิดให้ผู้ส่งออกนำเข้ามาแล้วส่งออกต่อ ข้อดี ทำให้ไทยมีข้าวส่งออกได้มากขึ้น และคงต้องบอกผู้ซื้อว่าข้าวส่วนนี้เป็นข้าวเพื่อนบ้าน แต่จะมีปัญหา ถ้าเกิดดูแลไม่ดี ท่อมันแตก แล้วข้าวกระจายไปที่อื่น คงจะยุ่ง ส่วนการเปิดให้นำเข้าข้าวเปลือก คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีกฎหมายดูแลพันธุ์พืชคุมอยู่

ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้วิธีการไหน เรากำลังทำข้อสรุป โดยวิธีการทั้งหมด ต้องมาดูว่าวิธีไหนดีที่สุด เพราะเป็นปีแรกที่เราต้องเปิดตลาด แต่ไม่ว่าวิธีการใด จะต้องเกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

มั่นใจแค่ไหนว่าการเปิดตลาดจะไม่เกิดผลกระทบกับเกษตรกรของไทย

การเปิดตลาด แน่นอนว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบ และมีผู้ได้ประโยชน์ แต่ตรงส่วนที่ได้รับผลกระทบ เรามีมาตรการช่วยเหลือแน่นอน เรามีทั้งมาตรการเซฟการ์ด (การใช้มาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น) และยังมีกองทุน FTA ที่จะช่วยดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกชั้นหนึ่ง ที่สำคัญ เราเคยผ่านการเปิดตลาดภายใต้ WTO มาแล้ว เปิดตลาดกันตั้งแต่ปี 2538 เราก็บริหารจัดการได้ เรามีประสบการณ์ ครั้งนี้ ก็มั่นใจว่าถ้าเป็นไปตามมาตรการที่ว่าผลกระทบก็คงไม่มี

ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ไป จะต้องทำอะไรบ้าง

ต้องมีการเสนอแนวทาง และมาตรการรองรับการเปิดตลาดข้าวภายใต้ AFTA ที่สมบูรณ์แล้ว ให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ พิจารณา ก่อนเสนอให้กขช. และคณะรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและสามารถออกประกาศและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และผู้ปฏิบัติ เช่น กองทัพ กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทราบ ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2553 ตามกำหนดของพันธกรณี
กำลังโหลดความคิดเห็น