นายกฯ สั่งกระทรวงเกษตร-พาณิชย์ทำความชัดเจนกับเกษตรกรเรื่องจำนำข้าว พร้อมติดตามผลกระทบสหรัฐวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ขายแข่งหอมมะลิไทย เล็งเจียดงบไทยเข้มแข็ง 1.9 หมื่นล้าน ให้กองทุนหมู่บ้าน พร้อมปรับเกณฑ์ยืดเวลาชำระจาก 1 ปี เป็น 2 ปี แก้ปัญหา ปชช.ต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้คืนกองทุน
วันที่ 29 ก.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในภาคกลางที่ไม่สามารถเข้าโครงการจำนำข้าวได้ และได้ให้กระทรวงพาณิชย์แก้ระเบียบและกรอบเวลา เนื่องจากประชาชนยังมีความสับสนในทางปฏิบัติ จึงทำให้มีปัญหาอุปสรรคต่อเกษตรกรภาคกลางที่ไม่สามารถนับข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวในขณะนี้ได้ว่าเป็นนาปรัง หรือนาปี ที่จะเข้าโครงการจำนำเพื่อที่จะให้โครงการประกันรายได้เริ่มต้นพร้อมๆ กัน หลังจากการจดทะเบียนและทำสัญญา ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนได้ฝากไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามเรื่องกรณีที่มีข่าวว่าทางต่างประเทศวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีความใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทย โดยให้ติดตามศึกษาว่ามีผลกระทบอย่างไร มีมาตรการหรือแผนการปกป้องผลประโยชน์เกษตรกรไทย และตลาดข้าวไทยด้วย
ปรับระบบจัดการกองทุนหมู่บ้าน
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงเรื่องกองทุนหมู่บ้านว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดสรรเงินงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง จำนวน 19,559.20 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ในอัตรา 200,000 บาท 400,000 บาท และ 600,000 บาท ตามจำนวนประชากรที่กำหนด รวมทั้งให้ขยายเวลาชำระหนี้ให้กับสมาชิกออกไปอีก 1 ปี เป็น 2 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ปี โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญของกองทุนหมู่บ้านฯ คือต้องกู้ยืมเงินจากนอกระบบเพื่อนำมาใช้หนี้คืนกองทุนฯ เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี จากนั้นจึงกลับมากู้ยืมจากกองทุนฯ ออกไปใหม่ จึงทำให้กลายเป็นภาระของสมาชิกจำนวนมากที่ต้องกู้หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงมาใช้คืนหนี้กองทุนฯ
ด้าน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กองทุนฯ ที่มีสมาชิก 50-150 คน ได้เพิ่มทุนให้กองทุนละ 200,000 บาทซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 6.5 ล้านคน และส่วนใหญ่ 80% เป็นลูกหนี้ของกองทุนเพราะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าแต่หากไม่ยืดเวลาชำระหนี้ให้จะทำให้กองทุนฯไม่มีเงินให้สมาชิกกู้อีกต่อไป ส่วนกองทุนฯที่มีสมาชิก 151-350 คน รัฐบาลจะเพิ่มทุนให้กองทุนละ 400,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 2.3 ล้านคน โดยเป็นลูกหนี้ประมาณ 50% ที่เหลืออีกประมาณ 1 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกองทุนฯที่มีสมาชิกตั้งแต่ 351-1,500 คน มีสมาชิก 2.3 ล้านคน แต่มีลูกหนี้เพียง 10% หรือกู้ได้แค่ 200,000 คนเท่านั้น รัฐบาลจึงเพิ่มให้อีก 600,000 บาท
ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ 79,2558 กองทุน มีสมาชิก 10.40 ล้านคน และในปี 51 สามารถกู้เงินได้เพียง 6.51 ล้านคน หรือคิดเป็น 62.60% จากสถานการณ์ของกองทุนฯ ที่ไม่สามารถให้บริการสมาชิกได้อย่างครบถ้วนทำให้หมู่บ้านและชุมชนมีเงินกองทุนไม่เพียงพอและทั่วถึงต่อจำนวนสมาชิก จึงต้องเพิ่มทุนให้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยยังมีกองทุนฯอีก 6,880 กองทุน ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจึ้งต้องดำเนินให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะจัดสรรเงินเพิ่มทุนให้ได้ คาดว่าสมาชิกที่ขอกู้เงินนั้นจะได้รับเงินจริงๆตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.52 เป็นต้นไป
ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรด้วยการมีโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการเพิ่มทุนฯครั้งนี้ถือว่าเป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนในระดับล่าง เพราะปัญหาของกองทุนหมู่บ้านฯที่ผ่านมาเมื่อได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกองทุนละ 1 ล้านบาทไปแล้ว ปรากฎว่าไม่สามารถกู้ได้ครบทุกคน ดังนั้นบางคนต้องไปกู้ยืมเงินจากนอกระบบ ขณะที่ตามเงื่อนไขแล้วสมาชิกต้องชำระหนี้คืนภายใน 1 ปี แต่ในความเป็นจริงปรากฎว่าเมื่อถึงเดือนที่ 11 ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้คืนกองทุนฯโดยยอมเสียค่าดอกเบี้ยแพงถึง 3-4%
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการหารือกันมากในเรื่องของคุณภาพของกองทุนฯ จึงได้ใช้ผู้ว่างงานจากโครงการต้นกล้าอาชีพ 8,000 คนไปสำรวจรายละเอียดของแต่ละกองทุนว่าจะกำหนดกรอบในการให้กู้เงินจากการเพิ่มทุนให้ครั้งนี้อย่างไร ซึ่งผลสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีสมาชิกที่ใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์น้อยมากเพียงแค่ 8.5% ขณะที่ส่วนใหญ่ที่ใช้ตามวัตถุประสงค์นั้นมี 20% ที่ได้กู้เงินไปเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน