xs
xsm
sm
md
lg

ร้องระงับมาบตาพุดพบคำอุทธรณ์รัดรอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- 40 ส.ว. เดินหน้าค้าน 76 โครงการมาบตาพุด ที่ไม่ฟังคำสั่งศาล เผยภาคปชช. ยื่นฟ้องอีกรอบ หากรัฐยังไม่ระงับ “สุทธิ”จี้รัฐหยุดก้าวก่ายอำนาจศาล เตรียมเดินเท้าเข้า กทม. พบคำขออุทธรณ์มัดตัวเองเพียบ ส่วนฝ่ายตรงข้ามขู่ฟ้องบ้างยันคนค้านไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ด้านเอกชนยังครวญไม่เลิก

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานที่ปรึกษา กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับ 76โครงการอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งแต่ 29 ก.ย.52 ว่า นี่ก็ผ่านมาตั้ง12 วันแล้ว เท่าที่ได้ตรวจสอบในพื้นที่มาบตาพุดปรากฏว่าโครงการต่างๆ ที่ถูกศาลสั่งยังเดินหน้าก่อสร้างต่อไป โดยไม่สนใจคำสั่งศาล ทั้งๆที่ศาลสั่งชัดเจนว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

แต่นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กลับให้สัมภาษณ์ว่า ทุกโครงการในพื้นที่มาบตาพุด ยังเดินหน้าต่อไปได้ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีอำนาจสั่งระงับ แต่มีอำนาจให้การส่งเสริม ซึ่งตนอยากถามว่า ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีอำนาจสั่งระงับโครงการ แล้วจะมีหน่วยงานไหนที่จะสามารถสั่งได้ และถ้าคำสั่งศาลไม่มีสภาพบังคับได้เช่นนี้ บ้านเมืองจะอยู่กันได้อย่างไร หากเป็นเช่นนี้ภาคประชาชนคงต้องออกมาฟ้องศาลอีก เพื่อให้ศาลเรียกผู้ถูกฟ้องมาสอบถามว่าเหตุใดจึงไม่ไปบังคับคดี โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามศาลสั่ง หากชี้แจงไม่ได้ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้เลย

"รัฐบาลคำนึงถึงสิทธิของผู้ประกอบการ และห่วงใยผลกระทบจากการลงทุนตีค่าเป็นตัวเงิน 400,000 ล้านบาท แต่จะไม่เคารพสิทธิแห่งการมีชีวิตของผู้คนและสิทธิชุมชนในการรักษาฐานทรัพยากรเชียวหรือ อย่าลืมว่ากรณีนี้ ต้องตระหนักว่าประชาชนกำลังปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังหลีกเลี่ยงและไม่เคารพสิทธิชุมชนดังที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้เห็นแล้ว" นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า ในวันที่19-20 ต.ค.นี้ กมธ.ทั้ง 4 คณะอาทิ กมธ.ศึกษาและตรวจสอบการทุจริตฯ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กมธ.สาธารณสุข และ กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภาจะร่วมกันลงพื้นที่มาบตาพุด เพื่อพบประชาชนและภาคราชการ และตรวจสอบปัญหา ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 09.00-14.00 น. ทั้ง 4 คณะ กมธ.จะเปิดเวทีวุฒิสภาประชาชน เพื่อเสวนาเรื่อง "ถอดบทเรียน 76โครงการมาบตาพุด" ที่ โรงแรมสยามซิตี้ ถ.ศรีอยุธยาโดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาแลกเปลี่ยนและหาข้อยุติร่วมกัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ประชาชนจะเปิดเวทีปราศรัยคัดค้าน 76 โครงการ ที่มาบตาพุดด้วย

**กลุ่มค้าน พบคำอุทธรณ์มัดตัวเอง

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคประชาชนเพิ่งได้รับสำเนาคำขออุทธรณ์ของอัยการสูงสุดจากศาลปกครอง โดยขณะนี้ได้ทำการแบ่งทีมงานเพื่อสรุปประเด็นออกมา 5 จุดให้เสร็จในวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อรวบรวมขอยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ คาดว่าจะเป็นวันที่ 16 ต.ค.นี้

“เบื้องต้นพบว่า มีหลายประเด็นที่ผู้ยื่นอุทธรณ์ ยื่นมัดตัวเอง เช่น เรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม การอ้างว่าเป็นคนจากที่อื่นไม่ใช่คนมาบตาพุดที่เดือดร้อน หรืออ้างว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่กระทบกับบริษัทปตท. เป็นต้น”

นายสุทธิ กล่าวอีกว่าในวันที่ 24 ต.ค. เครือข่ายและชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดประมาณ 200 คน จะเดินทางด้วยเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมฯมาบตาพุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน จะถึงกรุงเทพฯ หากระหว่างเดินทางหากมีผู้ชุมนุมคนใดล้มป่วย หรือเสียชีวิต รัฐบาลต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้นวันที่ 22 ต.ค.จะมีกิจกรรมสืบชะตาให้กับแม่พระธรณีของจ.ระยองด้วย

**กลุ่มหนุนฯ ขู่ฟ้องยันไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ชุมชนเมืองมาบตาพุด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มฯอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฏหมายที่จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณายกเลิกคำสั่งระงับ 76 โครงการในพื้นที่บริเวณมาบตาพุดด้วยเหตุผลสำคัญคือผู้ที่ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นส่วนหนึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่และหากการลงทุนภาพรวมได้รับผลกระทบชุมชนมาบตาพุดและคนไทยคือผู้ที่จะได้รับความเสียหายไม่ใช่ผู้ที่ยื่นฟ้อง

**ล่ารายชื่อคนระยองค้านระงับ 76 โครงการ

นอกจากนี้ยังเตรียมพิจารณาล่ารายชื่อจากพี่น้องชาวจังหวัดระยองที่แท้จริงในการยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคัดค้านการกระทำของกลุ่มผู้ฟ้องร้องในเรื่องการได้รับผลกระทบจากมาบตาพุดเนื่องจากบุคคลเหล่านั้นบางคนไม่ใช่คนในพื้นที่แต่กลับมาทำหน้าที่แทนคนในพื้นที่โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลและความเห็นของคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด

“ติดที่รอคำสั่งศาลหลังมีการยื่นอุทธรณ์ก็กำลังดูกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งข้อมูลควรจะต้องว่ากันด้วยข้อเท็จจริงจากคนในชุมชนแต่ไม่ใช่เอาความเห็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินใจเพราะหากการลงทุนไม่มีอาชีพต่างๆ ก็จะหายไปทั้งการค้าขาย รับจ้างทั่วไป หอพัก ห้องเช่า ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นอาชีพที่คนในจังหวัดทำอยู่”นายอิทธิพลกล่าว

สำหรับปัญหาสุขภาพที่กล่าวอ้างเรื่องการเป็นมะเร็งนั้นควรจะต้องพิจาณาให้ถ่องแท้ว่าเป็นคนในพื้นที่จริงหรือเป็นประชากรแฝงเพราะจะต้องเข้าใจว่าแรงงานที่เข้ามาอยู่ในมาบตาพุดนั้นเป็นแรงงานต่างถิ่นเป็นประชากรแฝงมากกว่า 2-3 เท่าตัว และจากสถิติของสาธารณสุขพบว่า จังหวัดภาคอีสานพบมีผู้เป็นมะเร็งสูงสุดจึงต้องการให้มีการพิสูจน์ในเรื่องนี้อย่างแท้จริง

**กกร.ถกวันนี้ยังรอคำสั่งศาลฯ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า วันนี้( 12 ต.ค.) การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะมีการหารือ ฃมาตรการทางออกกรณีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองร่วมกันว่าแต่ละฝ่ายควรจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังคงทำอะไรมากไม่ได้เนื่องจากต้องรอคำสั่งจากศาลฯก่อน

“ส่วนตัวคิดว่าคำสั่งศาลฯที่ออกมาน่าจะแยกให้ชัดเจนว่ามีโครงการไหนบ้างที่เข้าข่ายส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด 76 โครงการ”นายสันติกล่าว

ส่วนความคืบหน้าที่ภาคเอกชนจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองนั้น ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของแต่ละบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะยื่นหรือไม่ แต่คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะรอความชัดเจนจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก่อนว่าจะยืนตามศาลปกครองกลางหรือไม่ เพราะตามกฎหมายแล้วตอนนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะผู้ยื่นฟ้องไม่ได้ยื่นฟ้องตัวผู้ประกอบการและขณะนี้ผู้ประกอบการก็ยังดำเนินกิจการต่อได้

**บีโอไอยอมรับโรดโชว์ยากขึ้น

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนสอบถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในมาบตาพุดก็มีการชี้แจงเป็นรายๆไปซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้มีผลต่อการโรดโชว์ของบีโอไอที่ยากขึ้นระยะสั้นภาครัฐควรเร่งให้เรื่องนี้จบโดยเร็วที่สุดเพื่อความชัดเจน แต่หากปล่อยให้กินเวลานาน 2-3 เดือนก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคธุรกิจในระยะยาว แต่เชื่อว่าในระยะสั้นนี้คงไม่ถึงขั้นหนีหรือย้ายฐานไปลงทุนที่อื่น

**"มาร์ค" ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เมื่อเช้าวานนี้ถึงการติดตามแก้ไขปัญหามลพิษที่มาบตาพุด ว่าต้องเห็นใจ ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน

"รัฐบาลได้พยายามที่จะหาความพอดีตรงนี้มาโดยตลอด และไม่ได้นิ่งนอนใจ การดำเนินการตาม มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 นั้น แต่ว่ายังขาดการวางกติกาอยู่ ในช่วงตั้งแต่ที่ผมเข้ามา ก็ได้มีการให้ดำเนินการ เพียงแต่ว่าความเห็นทางกฎหมายมีความหลากหลาย แตกต่างกันไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อยุติว่า จะแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นวางแนวทางของการดำเนินการ ตาม มาตรา 67 วรรค 2 นั่นก็หมายความว่า โครงการใดหากมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็ต้องมีรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมีการเปิดโอกาสให้มีองค์การอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามาให้ความเห็น ก่อนที่จะมีการดำเนินการ ก็จะมีการนำเสนอกฎหมายที่จะแก้ไขเพิ่มเติม เข้าสู่การพิจารณาของครม. และจะส่งต่อไปยังสภาต่อไป ก็พยายามที่จะให้สภาได้พิจารณาปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือน พ.ย.

"ขณะนี้การดำเนินการทั้งในส่วนของทางด้านศาลก็ดี ทางด้านฝ่ายบริหารก็ดีเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กันไปก็ได้เรียนว่า การทำงานเพื่อทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติ ก็มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ท่านผู้แทนการค้าซึ่งเดินทางไปต่างประเทศ ผมเองเมื่อรับแขกที่มาต่างประเทศก็พยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ แน่นอนครับ แม้ว่าการหยุดชะลอ หรือหยุดชะงักตรงนี้ จะมีผลกระทบอยู่บ้างแต่เราก็ได้อธิบายให้ทางนักลงทุนเขาเข้าใจ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น