xs
xsm
sm
md
lg

ยกชั้นบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ สู่กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ถอดบทเรียน “บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ” กรณีตัวอย่างการพัฒนาที่ก้าวพ้นจากชุมชนแออัดกระทั่งสามารถยกระดับสู่กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งแรกของประเทศ สานเป้าหมายสร้างความมั่นคงในชีวิตทุกมิติทั้งที่อยู่อาศัย อาชีพ สวัสดิการ การศึกษา รวมทั้งการปลดเปลื้องภาระหนี้สิน

เมืองชุมแพนับว่าเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและอุตสาหกรรม มีโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 82 กิโลเมตร ด้วยความเจริญทำให้ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมือง จนเกิดปัญหาด้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายได้ร่วมมือกันแก้ไข

แม่สนอง รวยสูงเนิน ประธานกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ บอกว่า แต่เดิมนั้นเทศบาลเมืองชุมแพ มีชุมชนแออัดมากถึง 25 ชุมชน ประมาณ 10,400 ครัวเรือน อาศัยอยู่ในที่ดินของราชพัสดุ ที่ดินเอกชน สภาพความเป็นอยู่แออัด ทรุดโทรม ไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ชุมชนประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย จำเป็นต้องเช่าบ้านที่เป็นห้องแถวไม้เล็กๆ พอได้นอนให้หายเหนื่อยจากการทำงาน ต่อมาเจ้าของบ้านเช่ารื้อบ้านเพื่อสร้างตึก ทำให้ค่าเช่ามีราคาแพง จึงชวนกันยึดที่ดินว่างเปล่าสร้างที่อยู่อาศัย

กระทั่งปี 2547 นายกเทศมนตรีเมืองชุมแพ บอกเล่า ถึงโครงการบ้านมั่นคง แต่ยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้ดีพอ เทศบาลจึงประชาสัมพันธ์ให้คนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้บุกรุก ครอบครัวบ้านเช่า บ้านทรุดโทรม ครอบครัวขยาย มาลงทะเบียนซึ่งขณะนั้นมีคนสนใจมาลงประมาณ 1,000 คน กระแสเรื่องบ้านมั่นคงแพร่กระจายไปในหมู่คนจน แต่มีคนเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างเพราะใครที่ไหนจะมาสร้างบ้านให้คนจน บ้างก็ว่าถูกหลอก บ้างก็ว่ามีจริงแต่ต้องย้ายไปอยู่ตามภูเขา หลายครับครัวต่างพากันถอย ไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สับสนได้มีเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประสานจัดประชุมร่วมกับเทศบาล ทำความเข้าใจกับชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มเข้าใจ
 
แม่สนอง เป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างจับใจว่า บ้านมั่นคงมีอยู่จริง เพราะได้เห็นจากทีวีหลายต่อหลายครั้ง จึงขยันหมั่นเพียรในการหาข้อมูลมาเล่าให้คนในชุมชนฟัง และได้ติดตามเจ้าหน้าที่พอช. ไปประชุมกับสมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงอื่นๆ ด้วยความอดทนเพราะอยากมีบ้าน จนแน่ใจว่าโครงการบ้านมั่นคงสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ชุมชนต้องรวมกลุ่มและออมทรัพย์ร่วมกัน จากนั้น จึงประสานความร่วมมือจากเทศบาลเพื่อสำรวจข้อมูล พบว่า ร้อยละ 80 เป็นกลุ่มบ้านเช่า บุกรุกที่ดิน

ความพยายามของผู้คนในชุมชนและความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำไปสู่การสร้างชุมชนใหม่ ที่มีการออกแบบ วางผังชุมชนร่วมกัน

ถาวร ผ่องใส ประธานกลุ่มออมทรัพย์และช่างชุมชน บอกว่า ขั้นตอนการวางผังแปลงบ้าน จะมีชาวบ้าน สถาปนิก พอช. นายช่างเทศบาลเป็นผู้ออกแบบตามความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านจะตัดกระดาษเป็นสีๆ ตามมาตราส่วนจริง แล้ววางแบบกันว่าห้องนอนอยู่ตรงไหน ห้องครัว ห้องน้ำ ขนาดบ้านมีสักเท่าใดถึงจะพอเหมาะ สนุกมากไม่ถึงชั่วโมงก็ได้แบบที่ทุกคนพอใจ

หลังจากนั้น เทศบาลก็จะนำความต้องการของชาวบ้านไปออกแบบแปลนบ้านซึ่งมีให้เลือก 2-3 แบบ ในเนื้อที่ขนาด 8x10 เมตร หรือ 20 ตารางวา ราคาก่อสร้างจะต่างกัน ตั้งแต่วงเงิน 80,000 – 180,000 บาท ต่อหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน โดยดูจากเงินออม รายได้ เป็นหลัก ส่วนการเช่าที่ดินหรือซื้อที่ดิน เทศบาล และ พอช. จะเข้ามาช่วย ทั้งการประสาน เจรจาต่อรองราคาซื้อขาย เป็นต้น

วาสนา ภูติอัด กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ เล่าว่า ในปี 2550 เมืองชุมแพแก้ปัญหาผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น 395 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เช่าที่ดินของกรมธนารักษ์เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย 4 ชุมชน และรื้อย้ายไปก่อสร้างในที่ดินซื้อใหม่ของเอกชนจำนวน 4 ชุมชน การจัดการที่อยู่อาศัยชุมชนจะเว้นที่ว่างสำหรับลูกหลานในอนาคต เพราะรู้ว่าปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยก็ไม่หมดไป แต่จะแก้ไขให้หมดเท่าที่เห็นข้อมูล

กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นว่าชาวบ้านเขาก็มีดี ค้นหาสิ่งที่เขามีดีมาทำประโยชน์กระตุ้นให้มีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้ เชื่อมสัมพันธ์ ประสานอย่างไม่สิ้นสุด มีระบบเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม คล่องตัว รวดเร็ว แก้ปัญหาได้จริง และมีความหลากหลายของการจัดการที่อยู่อาศัย

ด้วยฐานความคิดข้างต้น บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จึงมีความก้าวหน้าไปมาก แต่พวกเขาไม่ได้หยุดอยู่เพียงนั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะกรรมการบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ” นอกเหนือจากคณะกรรมการเมืองที่มีอยู่แล้ว

คณะกรรมการบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ นอกจากจะมีบทบาทในการจัดการ “บ้าน” แล้ว ยังได้จัดความสัมพันธ์ของสมาชิกเพื่อรักษาคนทำงาน มีการขยายแนวคิดไปไกลกว่าเรื่องที่อยู่อาศัยไปสู่การออมเพื่อสวัสดิการ การส่งเสริมอาชีพ การจัดกิจกรรมในชุมชน การจัดการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชน และผู้ที่เข้ามาเรียนรู้

แม่สนอง เล่าว่า เมื่อมีบ้านแต่พี่น้องหลายคนยังลำบาก จึงประสานคณะกรรมการมาร่วมแก้ปัญหา คนที่ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สองสิ่งนี้นับว่าสำคัญ หากสามารถแก้ได้จะทำให้เกิดการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนไม่มีเงินออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้านได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย

กองทุนดังกล่าว ซึ่งต้องการให้เกิด “การสร้างทุนชุมชน” หรือ “เงินทุน” มุ่งให้ความช่วยเหลือ 3 ด้าน หลักๆ คือ 1. อาชีพ 2. สวัสดิการที่ให้ความช่วยเหลือทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส และ 3 การปลดหนี้นอกระบบ และการออม

การให้ความช่วยเหลือทั้งสามด้าน หวังผลที่คาดว่าจะได้รับคือ เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนมีการดำเนินการตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาแล้ว กองทุนฯจะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงบูรณาการ สร้างโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยง่าย สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน มีสวัสดิการอย่างทั่วถึง และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ชุมชนจะเป็นชุมชน เป็นสังคมที่น่าอยู่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สมัครสมานสามัคคี

สำหรับการบริหารจัดการกองทุนฯ นั้น เพื่อความโปร่งใสและยึดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทางคณะกรรมการเมืองและเครือข่าย ได้ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 5 คน
 
บทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ คือ ดูแล เก็บรักษา เบิกจ่ายตามระเบียบหรือกรรมการเมืองอนุมัติ เสนอแนวทาง/หลักเกณฑ์ ระเบียบในการบริหารจัดการกองทุน ทำนิติกรรมสัญญาการกู้เงิน รายงานสถานะกองทุนต่อกรรมการเมืองทุกเดือน ประสานภาคีหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อให้กองทุนเติบโตอย่างยั่งยืน ประสานภาคีการดูแลความเสี่ยงให้สมาชิกภายในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการเมืองที่มีอยู่แล้ว

เวลานี้ กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมีองชุมแพ มีการจัดการ ดังนี้ ร้อยละ 10 ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพและปลดหนี้นอกระบบวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของหุ้นสมทบคอกเบี้ย 6% ต่อปี ชำระคืน 60 งวดภายใน 5 ปี ร้อยละ 65 ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 150,000 บาทต่อหลังคาเรือน ดอกเบี้ย 4% ต่อปี กำหนดคืน 180 งวดภายใน 15 ปี
 
และก่อสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ ร้อยละ 5ให้สมาชิกกู้ยีมเพื่อช่อมแชมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของหุ้นสมทบคอกเบี้ย 4% ต่อปี ชำระคืน 60 งวดภายใน 5 ปี ร้อยละ 5 ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่เกิน 3 เท่าของหุ้นสมทบดอกเบี้ย 3% ต่อปี ชำระคืน 60 งวดภายใน 5 ปี และร้อยละ 15 เงินอุดหนุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโคและสิ่งแวดล้อมวงเงินไม่เกิน 35,000 บาทต่อหลังคาเรือน

แม่สนอง เล่าว่า ความจริงแล้วพวกเราตั้งกองทุนฯขึ้นมาไม่ได้หวังหรือไม่ได้ต้องการเงินมาสนับสนุนเยอะๆ แต่ต้องการคน ต้องการเพื่อนหลายๆ ฝ่ายมาร่วมงานกับเรา จึงเชื่อแน่ว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสมบูรณ์แบบได้ เมื่อได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย และทั้ง 8 ชุมชนที่ร่วมโครงการจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลและสำรวจคนจนในชุมชน โดยเฉพาะการสำรวจด้านที่อยู่อาศัย อาชีพ สวัสดิการและการแก้ไขปัญหาในชุมชนทุกๆ ด้าน

สาโรจน์ สนั่นเมือง เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองชุมแพ ให้ทัศนะต่อการมีกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ว่าในประเทศไทยยังขาดกองทุนในลักษณะเช่นนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการตั้งกองทุนขึ้นมาหลายกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่รัฐบาลก็ยังคงคิดในลักษณะแบบสั่งการจากข้างบนลงล่าง ซึ่งหลายโครงการ หลายกองทุนไม่สามารถเดินไปได้

เขาบอกว่า หากเปรียบเทียบจากการดำเนินงานระหว่างบนลงล่างกับล่างขึ้นบน จากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนของรัฐจะดำเนินงานในลักษณะให้เงินลงมาแต่ไม่เคยมาจัดทำความเข้าใจ สร้าง กฎ กติกา ร่วมกัน จึงสู้กองทุนชาวบ้านไม่ได้ เพราะกองทุนชาวบ้านจะรู้ว่าชุมชนต้องการอะไร สิ่งไหนควรทำก่อนทำหลัง บริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการมีกองทุนฯ ถ้าชุมชนสามารถทำได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาทุนที่ไหนอีก เพราะเชื่อว่ากองทุนฯจะสามารถนำไปสู่ความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาของชุมชนในที่สุด

กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ ถือว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างกองทุนนี้ขึ้นมา และเป็นตัวอย่างที่สามารถแก้ไขปัญหาได้หมดทุกมิติ ปัจจุบันมีหลายเมืองกำลังสนใจกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยของเมืองชุมแพ และเชื่อมั่นว่าหากกองทุนนี้ได้รับการพัฒนาจากชุมชนไม่หยุดยั้ง จะเป็นแบบอย่างให้ชุมชนทั้งประเทศได้

ปัจจุบันกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนบ้านมั่นคงทั้ง 8 โครงการ เทศบาลเมืองชุมแพ มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย พอช. เอกชน/องค์กรการกุศลต่างๆ รวมปัจจุบันมีเงินกองทุน 3,744,977 บาท

ถึงวันนี้ บ้านมั่นคงไม่เพียงแต่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย หากแต่เป็นความมั่นคงของชีวิต มีความรักใคร่สามัคคี ความเอื้ออาทรของคนทั้งชุมชน

**************

รายงานโดย ......ประพันธ์ สีดำ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น