xs
xsm
sm
md
lg

หน้าต่างสังคม!“โรงพยาบาลในฝัน” ประชาชนร่วมกำหนดทิศทาง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นอกจากเปี่ยมไปด้วยความหวัง หากสามารถจับสัญญาณความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในผู้คนที่เข้า-ออกโรงพยาบาลได้ เชื่อว่าสิ่งนั้นคงหนีไม่พ้นความหวาดกลัว

อาจเป็นทั้งความกลัวจากภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย กระทั่งความกลัวจากอาการวิตกถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อเนื่องจากการรักษา

เมื่อโรงพยาบาลคือแหล่งรวมบรรดาความรู้สึกที่ไม่(ค่อย) ดีเหล่านี้ การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลโดยมีเป้าหมายที่การสร้างความเชื่อมั่นและลดทอน ‘ความทุกข์’ให้แก่ผู้เข้ารับบริการจึงเป็นแนวทางที่ถูกเริ่มอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งนางดวงสมร บุญผดุง รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(พรพ.) อธิบายถึงภาระหน้าที่ว่า เป็นไปเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วประเทศให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการรับรองคุณภาพตามหลักมาตรฐานสากลในระบบHA (Hospital accreditation) และ HPH (Health promoting hospital) ที่ช่วยปรับกระบวนทัศน์การทำงานให้เป็นระบบที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

“โดยเฉพาะอย่างการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากบุคลากรทุกส่วนในระบบสาธารณสุข มิให้มองเพียงมิติของการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงไปสู่การผสมผสานการสร้างเสริมสุขภาพเข้าไปในการดูแลรักษาทุกขั้นตอน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในระดับต่างๆตามบริบทอย่างเหมาะสมมากขึ้นด้วย”

นางดวงสมร บอกว่า ที่ผ่านมาการทำงานของบุคลากรวิชาชีพในโรงพยาบาลยังมีรูปแบบของการแยกส่วนตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการรักษาจึงมีข้อจำกัด

“ยกตัวอย่างคนเป็นโรคเบาหวาน แต่เดิมเมื่อเข้ามารับการรักษาหมอจะจ่ายยาให้ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งสำคัญคือพฤติกรรมการกิน เขาต้องรู้ว่าควรจะกินอาหารประเภทไหน ปฏิบัติตนอย่างไร ถ้าจะกินอาหารหรือสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนจะกินอะไรได้บ้าง หรือถ้าอยากกินพืชผักประเภทนี้แต่หาซื้อไม่ได้ คนในชุมชนจะช่วยกันปลูกได้ไหม องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนอะไรได้บ้าง หรืออย่างกรณีมาหาหมอเพราะปวดหัวการรักษาต้องไม่ใช่ให้ยาแก้ปวดอย่างเดียวเพราะสาเหตุของโรคมีหลากหลาย หากมีการสื่อสารระหว่าง ‘ผู้รับการรักษา’กับ ‘ผู้รักษา’แล้ว จะเข้าใจถึงต้นตอของการเจ็บป่วยที่แท้จริง”

ด้านนพ.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาฯว่า สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดคือการได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนทำงาน

คุณหมอ กล่าวว่า คนไข้ที่เข้ารับการรักษาต่างรู้สึกเป็นทุกข์จากอาการป่วยอยู่แล้ว ดังนั้นหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขคือการลดความรู้สึกนั้นไปพร้อมๆกับสร้างความสุข ซึ่งความสุขของผู้ป่วยมีหลากหลาย ทั้งการที่ผู้รักษาสนใจและเข้าใจอาการเจ็บป่วยของเขา

“เราต้องจริงใจ ทำอย่างไรให้คุณลุง คุณป้าที่มารักษาเห็นว่าเราไม่ใช่แค่หมอ แต่เราเป็นเสมือนลูกหลานในครอบครัว หน้าที่ของเราจึงไม่ใช่เพียงแค่การรักษาเท่านั้น แต่มันคือการมองทะลุถึงจิตใจเพื่อค้นหาสิ่งที่อยู่ในใจเขา อะไรคือความต้องการและสิ่งที่เขาอยากจะบอก”

“อย่างไรก็ตามโรคบางโรคอาจไม่มีการรักษาใดที่จะทำให้หายขาดได้ แต่สิ่งที่ทำให้ดีที่สุดคือการทำเขาอยู่ในกระบวนการดูแลสุขภาพอย่างมีความสุข”นพ.วิวัฒน์ชัย กล่าวเสริม

เมื่องานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จึงต้องมีการต่อยอด โดยนางดวงสมรให้รายละเอียดว่า ผู้เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขหลายท่านได้เล็งเห็นประโยชน์การทำงานในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้การสนับสนุนจนนำมาสู่“โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ กุมภาพันธ์2552 – มีนาคม2554

นางดวงสมร บอกอีกว่า โครงการฯนี้ยังยึดหลักการเดิมที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางและร่วมบูรณาการในทุกมิติของการแทรกการรักษาสุขภาพในชีวิตประจำวัน แต่การทำงานที่เข้มข้นขึ้นจากนี้คือการสร้าง‘โรงพยาบาลในฝัน’ ที่มีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดสถานพยาบาลที่สมบูรณ์แบบและยั่งยืน โดยจะคัดเลือกโรงพยาบาลปีละ60แห่งจากทั่วประเทศตามระยะเวลาโครงการจากจำนวนที่เคยผ่านการพัฒนาฯในระดับแรกมาแล้ว เพื่อเข้าสู่การพัฒนาต่อไป

“โรงพยาบาลทั้งหมดที่เข้าร่วมจะตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าการสร้างโรงพยาบาลและระบบสุขภาพในฝันต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จากนั้นจะเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และถอดบทเรียนไปพร้อมๆกันเพราะแต่ละโรงพยาบาลจะมีข้อดีต่างกัน เมื่อนำเอาส่วนดีทั้งหมดมาร่วมกันจะทำให้เกิดความร่วมมือและประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น สามารถเป็นต้นแบบแก่สถานพยาบาลทั้งหมดทั่วประเทศได้”

อ.ดวงสมร ยังได้เล่าถึงภาพฝันสูงสุดของโครงการฯนี้ว่า เมื่อกระบวนการทั้งหมดเริ่มเดินหน้าและเห็นผล จากนี้ไปสถานพยาบาลทุกแห่งจะเป็นของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ กล่าวคือนโยบายและทิศทางการทำงานของระบบสาธารณสุขรวมถึงโรงพยาบาลทุกระดับจะถูกกำหนดจากประชาชาชน โดยมีพื้นฐานที่ประโยชน์สูงสุด ความพึงพอใจและความสอดคล้อง เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่

“การไปสู่ความฝันที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต้ถ้าไม่เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ก็ไม่มีทางที่จะไปถึง” ผู้จัดการโครงการฯกล่าวทิ้งท้ายถึงจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่
จุดเริ่มที่ผู้ป่วยจะหลุดพ้นความหวาดกลัวเมื่อเข้าสู่รั้วโรงพยาบาล





กำลังโหลดความคิดเห็น