xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมข้าวภาคอีสาน : ชะตากรรมข้าวไทยกับทางเลือกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานมหกรรมข้าวอีสาน
“ข้าว คือ ทรัพย์สมบัติของสาธารณะ” “ข้าว คือ อาหารที่มั่นคง” “ข้าว คือ การดำรงวิถีชีวิต” “ข้าว คือ ศิลปวัฒนธรรม ” “ข้าว คือ ความหวังของคนทั้งชาติที่ไม่ควรคิดจะเก็บเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ” ... นี่คือมุมมองต่อข้าว อาหารหลักสำคัญของคนทั้งชาติตามแบบฉบับของ “พ่อบุญส่ง มาตขาว” ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสาน ผู้ที่นับว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติซึ่งคลุกคลีสัมผัสวิถีแห่งการเพาะปลูกข้าวมาชั่วชีวิต

พ่อบุญส่งบอกว่า หลากหลายความหมายของคำว่า “ข้าว” ที่ชาวบ้านให้นิยาม แสดงออกถึงความผูกพันและพึ่งพิงในสิ่งที่พวกเขาคุ้นชินและอบอุ่นในทุกยามของการดำรงชีวิต แต่ในมุมมองของรัฐ พ่อค้า และโรงสี กลับมอง “ข้าวพื้นบ้าน” ว่าเป็นพืชมีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ และคิดแต่จะเอาไปเป็นสินค้าแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน

“พ่อบุญส่ง” ถ่ายทอดภูมิปัญญาว่าด้วยเรื่องข้าวพื้นบ้านสู่คนรุ่นหลังในงาน “มหกรรมงานข้าวภาคอีสาน” จัดโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สวน 200 ปี บึงแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยงานนี้มีการเสวนาเรื่อง “ชะตากรรมข้าวไทยกับทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน” เพื่อวิเคราะห์นโยบายและการค้าข้าวของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย พร้อมกับจัดทำข้อเสนอจากภาคประชาชนต่อการพัฒนาข้าวไทย

ตัวแทนเครือข่ายเกษตรฯ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนการพัฒนาข้าวไทยและชีวิตของชาวนาว่า ทุกข์ซ้ำๆ ของชาวนากับปัญหาเรื่องข้าวเกิดรอบด้าน ทั้งเรื่องปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลเห็นว่าข้าวคือพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับแรกของโลกจึงส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวเชิงพาณิชย์ก่อให้เกิดการแข่งขัน สร้างกลไกการตลาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาด้วยตนเอง บางปีข้าวราคาแพงต้องถูกโกงตาชั่ง หักความชื้นของข้าว ลดเกรดของข้าว มองดูแล้วชาวนามีแต่เสียประโยชน์แทบทั้งสิ้น

ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน แนวทางพัฒนาการเพาะปลูกข้าวของรัฐจึงต่างไปจากความคิดคำนึงของชาวนาซึ่งมีความผูกพันกับข้าวพื้นบ้าน

เมื่อรัฐมองข้าวพื้นบ้านเป็นเป็นเรื่องผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจทำให้แนวทางพัฒนาเน้นหนักไปในเรื่องการเพิ่มผลผลิต เช่น การส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาเทคโนโลยี ทั้งเครืองจักรกล พลังงาน เมล็ดพันธุ์ สารเคมี การมุ่งไปในแนวทางดังกล่าวชาวนาจึงสูญเสียการพึ่งตนเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิต และความมั่นคงในการดำรงชีวิต เหตุนี้ชาวบ้านจำเป็นต้องออกมาทวงถามกับรัฐ สะท้อนสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวนาไทย

“บุปผา สารรัตน์” เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน จากตำบลศรีวิลัย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า การรวมตัวกันในนาม เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน ทั้ง 19 จังหวัด และภายหลังได้รวมเป็นเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก 4 ภาค เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าและการรับจำนำข้าวจากภาครัฐทุกๆ ปี

คำถามที่ชาวบ้านได้ถามถึงความเป็นธรรมต่อรัฐอย่างเนื่องยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน ผ่านกระบวนการชุมนุมเรียกร้องทั้งระดับท้องถิ่นจนถึงระดับรัฐบาล ก็คือ สิทธิชุมชนของชาวบ้านต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ชาวนาผู้ทำการผลิตมาแต่ครั้งปู่ย่าต้องมีสิทธิเรื่องการค้าข้าว สิทธิเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ฯลฯ ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่

ส่วนการผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อเป็นเอกสารสิทธิสำหรับชาวบ้านยังน้อยไป พวกเขาต้องการกฎหมายและนโยบายที่เข้ามาดูแลชีวิตชาวนาที่มากกว่านั้น คือ นโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์ ดูแลรักษา และจัดการข้าวพื้นเมืองอย่างเหมาะสม

“สุชาติ ผิวสว่าง” เลขาธิการสมาคมเครือข่ายเกษตรกรไทย เล่าเสริมว่า เวลานี้ ชาวบ้านได้เริ่มโครงการศึกษาวิถีชีวิตและพึ่งพิงทรัพยากรเพื่อจะบอกกล่าวถึงสิทธิชุมชนตามวิถีที่สืบมาแต่บรรพบุรุษ

เมื่อเปิดสมุดบันทึกของบรรดานักวิจัยชาวบ้าน เช่น พ่อบุญส่ง มาตขาว ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสาน พ่อถาวร พิลาน้อย ปราชญ์ชาวบ้านผู้ผลิตข้าวร้อยสายพันธุ์บ้านโนนยาง จ.ยโสธร, ภาคภูมิ อินแป้น ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ จ. สุรินทร์, ดาวเรือง พืชผล แล้ว จะเห็นว่า ชาวบ้านกับเรื่องข้าวพื้นบ้านนั้นสัมพันธ์กันลึกซึ้งเหลือเกิน ควรที่นักวิชาการของรัฐจะได้คิดและมองพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในมุมมองเดียวกัน

อย่างสมุดบันทึกหน้าแรกของ “ดาวเรือง พืชผล” โครงการวิจัยการศึกษาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านเพื่อการขยายผลผลิตข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ อ. กุดชุม จ. ยโสธร หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านที่บันทึกเรื่องราวของการทำนาแบบอินทรีย์ ภาพวิถีชีวิตของหันหลังให้การผลิตแบบการค้ามาเป็นการผลิตแบบยั่งชีพเหลือจึงขาย

แต่สิ่งที่เขาสะท้อนออกมานั้นน่าเห็นใจนักวิชาการเพราะมันลึกซึ้งเกินกว่าที่จะเข้าใจ แม้แต่ระดับชาวบ้านด้วยกัน หากไม่ใช่ลูกชาวนาแท้ๆ แล้ว ก็คิดไปไม่ถึงด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้เห็นความผูกพันระหว่างคน ควาย นา กับคนในยุคอดีตแล้ว ยังเผยให้เห็นวิถีของชาวนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตนและต่างไปจากชาวไร่ ชาวสวน ที่มีวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่แตกต่างกันออกไป เช่นกัน

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน บอกว่า รูปธรรมการสร้างสรรค์เรื่องข้าวที่ประสบผลสำเร็จยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายสร้างระบบการลิตที่หลากหลายสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จนชาวบ้านสามารถจัดการพันธุกรรมข้าวทั้งการรวบรวมพันธุ์ ขยายพันธุ์ และเป็นเจ้าของพันธุ์ พัฒนาจนเป็นต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้

การรวมกลุ่มกันทำนาอินทรีย์และการค้าข้าวมีตัวอย่างให้เห็นหลายพื้นที่ เช่น สหกรณ์กองทุนข้าว จ. สุรินทร์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ. ยโสธร เป็นต้น ซึ่งรูปธรรมความสำเร็จนี้ได้สะท้อนให้เห็นทิศทางที่เหมาะสมของการผลิตและการค้าข้าว ที่เอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรมากขึ้น และนี่คือตัวอย่างบันทึกของนักวิจัยชาวบ้าน

บันทึกชาวนาไทย ยังได้เห็นภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ที่สอดคล้องตามสภาพระบบนิเวศน์ชุมชน สืบต่อสั่งสมกันมายาวนาน มีกระบวนการส่งต่อถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน สิ่งเหล่านี้หาไม่ได้ในห้องเรียนหากต้องเรียนรู้ผ่านการการวิถีชีวิตด้วยตนเอง แต่ภูมิปัญญาของชาวบ้านนับวันแต่จะหายสูญไปจากชุมชนคนอีสาน สิทธิชุมชนนับวันถูกละเมิดและถูกคุกคามหนักขึ้น ทั้งจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิต การบริโภค ตามระบบทุนนิยมที่ถาโถมเข้าสู่ชุมชน

..........................

ประพันธ์ สีดำ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) .... รายงาน
อุบล อยู่หว้า
กำลังโหลดความคิดเห็น