xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มายาคติ “การเมืองเก่า” ต่อ“พรรคการเมืองใหม่” กับ ปฏิกิริยาของ “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการประชุมใหญ่สมาชิกพรรคการเมืองใหม่เมื่อวันที่ 6 ต.ค.52
“พรรคการเมืองใหม่” อันเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ลงหลักปักฐาน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการประชุมใหญ่สมาชิกครั้งแรก ที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ก็ได้หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคที่มาจากพันธมิตรฯ รวมถึงผู้ที่เคยเคลื่อนไหวร่วมเป็นร่วมตายกับพันธมิตรฯ มาก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองใหม่ ตามที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้แสดงเอาไว้ในวันประชุมพรรคนั้น พรรคการเมืองใหม่จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรฯ ในการสืบสานอุดมการณ์การต่อสู้ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2548 ดังนั้นผู้ที่จะมาคุมทิศทางการดำเนินงานของพรรคจะต้องมีความเข้าใจในอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ ให้ถ่องแท้

เรียกได้ว่า การดำเนินงานของพรรคการเมืองใหม่ จะยึดโยงอยู่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชนิดที่ตัดไม่ขาด-แยกไม่ออก โดยพรรคการเมืองจะเข้าไปต่อสู้ในรัฐสภา ขณะที่พันธมิตรฯ จะคงบทบาทของภาคประชาชนเอาไว้ และจะออกมาเคลื่อนไหว หากการทำงานในระบบของพรรคการเมืองเจอกับอุปสรรคปัญหา ซึ่งก็ไม่มีกฎมายข้อไหนบัญญัติเอาไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวกับพรรคประชาชน

อย่างไรก็ตาม คนที่ยังยึดติดกับกรอบความคิดการเมืองแบบเก่า มักจะมีคำพูดที่เป็นมายาคติ ว่า “เมื่อพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองแล้วจะต้องยุติบทบาทการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” หรือแม้แต่พันธมิตรฯ ด้วยกันเอง บางส่วนที่ยังไม่ทะลุปรุโปร่งถึงอุดมการณ์ของพันธมิตรฯ และคัดค้านการตั้งพรรค มักจะแสดงความเห็นทำนองเป็นห่วงว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้ว บทบาทของพันธมิตรฯ ในฐานะองค์กรของภาคประชาชนจะลดน้องลงไป

แต่การแสดงวิสัยทัศน์ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ ถือว่า ได้ทำลาย “มายาคติ” ดังกล่าวลงไปอย่างสิ้นเชิง จากคำพูดที่ว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นเนื้อเดียวกัน ใครก็ตามที่บอกว่า เมื่อเรามีพรรคการเมืองแล้ว เราประท้วงไม่ได้นั้น เป็นคนที่ไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือๆ หนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นเอง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือเข้าไปต่อสู้ในระบบ แต่หากในระบบนั้นยังถูกปิดกั้นด้วยอำนาจมืด และยังถูกปิดกั้นด้วยการฉ้อฉล การซื้อสิทธิ์ขายเสียง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นภาคประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ต่อต้านอย่างสงบและอหิงสา และพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากเป็นพรรคของประชาชน ก็ต้องมีสิทธิ์เข้าร่วมสู้ด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นจะมาพูดบอกว่า เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีพรรคการเมืองแล้ว บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นต้องสลายไป จึงเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง”


คำพูดของสนธิ ลิ้มทองกุล ดังกล่าว มีบทสรุปอยู่ในตัวแล้วว่า ระหว่างพรรคการเมืองใหม่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะวางบทบาทต่อกันอย่างไร และคนที่เข้าใจปัญหาความฉ้อฉลของการเมืองแบบเก่า และอยากให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คงไม่ยากที่จะทำความเข้าใจกับโจทย์ข้อนี้

หลังจากพรรคการเมืองใหม่ได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ ก็มีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะบรรดา “นักการเมืองเก่า” ที่ฟังแล้ว สะท้อนออกมาเลยว่าเขาเหล่านี้ ไม่มีทาง “เก็ต” ความคิดแบบการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เฉลิม อยู่บำรุง, บรรหาร ศิลปอาชา แม้กระทั่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ

และอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ นักการเมืองเก่าระดับ “ตัวพ่อ” แต่มักอวดอ้างตัวเองว่า “คิดใหม่ทำใหม่” อย่าง ทักษิณ ชินวัตร

หลังการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่เป็นทางการ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีคดีทุจริตมูลค่าหลายแสนล้าน ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ twitter.com หน้า Thaksinlive ซึ่งเมื่อวันออกพรรษาที่ผ่านมาหยกๆ เขาเพิ่งบอกว่า อโหสิให้กับทุกคน แต่ปฏิกิริยาที่ ทักษิณ แสดงออกต่อการตั้งพรรคการเมืองใหม่ กลับระอุไปด้วยความเคียดแค้นปนกับอาการเพ้อเจ้อ ว่า

“ไชโย หลังจากปฏิวัติครบ ๓ ปีเราก็ได้หัวหน้าม็อบ หัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองคนละพรรคหลังจากได้ร่วมกันล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชน

“พรรคของหัวหน้าม็อบและพรรคของหัวหน้าคณะปฏิวัติก็คงร่วมกันกับพรรคของหัวหน้าบอยคอตการเลือกตั้งท่านเห็นทีมสมรู้ร่วมคิดล้มล้างอำนาจประชาชนแล้วยัง”


ทำให้สาวกคนหนึ่งใช้นามว่า “antactica” ถามว่า “ท่านประชดรึว่าว่า ยินดีจริงๆ ครับนั่น “

ซึ่ง ทักษิณ ตอบกลับไปว่า “ยินดีจริงๆ ครับจะได้มีการต่อสู้กันในเกม เปิดประชาชนเป็นคนดูและเป็นคนตัดสินจะได้ไม่ต้องวิ่งไปซุกใครอีกต่อไป คนให้ซุกก็จะกระดากขึ้น”

ขณะที่ ผู้ติดตามทวิตเตอร์ของ ทักษิณ รายหนึ่ง ใช้นามว่า moui ได้ส่งข้อความถึง ทักษิณ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Khun Sondhi selects good day - October 6th - to be the new party leader. Everyone will remember forever” ซึ่งแปลความได้ว่า “คุณสนธิเลือกวันดีนะคะ วันที่ 6 ตุลาฯ เพื่อขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ ทุกคนจะได้จดจำตลอดไป”

ซึ่ง ทักษิณ ได้ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษว่า “I am very happy that Sondhi is now come out to politic. It is much better than let him be a privilege person and untouch. I hope.” แปลความได้ว่า “ผมดีใจมากที่สนธิออกมาเล่นการเมืองเสียที มันดีกว่าที่จะปล่อยให้เขาเป็นอภิสิทธิ์ชนและแตะต้องไม่ได้ ผมหวังอย่างนั้น”

หลายคนคงจะงงกับ ข้อความของทักษิณตอนท้ายที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น งงว่า สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นอภิสิทธิชนตรงไหน เพราะทำธุรกิจก็ต้องปากกัดตีนถีบ สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ไม่ได้เข้าหาศูนย์อำนาจเพื่อเข้าไปทำธุรกิจผูกขาดเอาเปรียบผู้อื่นอย่างใครบางคน

สนธิ ลิ้มทองกุล แตะต้องไม่ได้ตรงไหน พามวลชนออกมาขับไล่คนโกงชาติ ก็ถูกฟ้องร้องนับ 100 คดี บางคดีถูกตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญา แถมยังถูกลอบยิงด้วยอาวุธสงครามเกือบ 200 นัด แทบเอาชีวิตไม่รอด

เมื่อพิจารณาคำพูดของทักษิณ ประโยคที่ว่า “มันดีกว่าที่จะปล่อยให้เขาเป็นอภิสิทธิ์ชนและแตะต้องไม่ได้ประกอบกับประโยคก่อนหน้านั้นที่ว่า “จะได้ไม่ต้องวิ่งไปซุกใครอีกต่อไป” แล้ว

จึงน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ความหมายจริงๆ ที่ ทักษิณ ชินวัตร ต้องการจะสื่อ คืออะไรกันแน่
ทวิตเตอร์ปฏิกิริยาของทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น