xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่อไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในกระแสเศรษฐกิจการเงินโลกในช่วงนี้เริ่มมีการพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องมาจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็มีความกังวลกันว่าจะเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปในขณะที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว มีการหยิบยกประเด็นที่ว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่มักจะกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากเกินไปในขณะที่ให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อย ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ ผมเองก็เห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ออกจะเร็วเกินไป อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆในโลกจะมีการพิจารณาภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบที่จะมาถึง ในครั้งนี้ผมจึงขอพูดถึงปัจจัยหลักๆที่ธนาคารกลางโดยทั่วไปพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อาศัยเป็นหลักในการคาดการณ์ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยต่อไป

1.อัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อของประเทศจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม

กล่าวคือไม่สูงเกินไปหรือต่ำจนเกินไป อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมนี้จะเอื้อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำจนเกินไปจะไม่สนับสนุนให้มีการผลิต ซึ่งก็จะตามมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอาทิ การว่างงาน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงก็จะเป็นตัวบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชน สินค้ามีราคาแพง ของที่ผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกก็จะขายไม่ได้ ในที่สุดปัญหาเศรษฐกิจก็จะตามมา โดยในบางประเทศก็จะมีการประกาศเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อไว้ชัดเจน เมื่อไรก็ตามที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ที่จะเกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้ก็จะเป็นสัญญาณของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

2.Output Gap คือ ผลต่างระหว่าง GDP และระดับผลผลิตศักยภาพ

ทั้งนี้ผมเคยเขียนถึงผลผลิตศักยภาพเมื่อ 2 เดือนก่อนว่าคือ ระดับของผลผลิตในประเทศ (GDP) ที่สูงที่สุดที่ประเทศสามารถผลิตได้และเป็นระดับผลผลิตที่ประเทศจะผลิตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศนั้นๆ หาก GDP ของประเทศอยู่เหนือระดับผลผลิตศักยภาพ จะสะท้อนว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ร้อนแรงเกินไป ความต้องการในประเทศมีมากกว่าการผลิต มีโอกาสที่จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุดก็จะเป็นเหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ย

3.ความไม่สมดุลของภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ

นอกเหนือไปจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เศรษฐกิจยังคงประกอบไปด้วยภาคส่วนต่างๆทั้งภายในประเทศ เช่น ตลาดสินเชื่อ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงาน ระบบธนาคารพาณิชย์ ตลาดเงิน ภาคการคลัง และด้านที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น การส่งออก การนำเข้า การเคลื่อนย้ายเงินทุน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ทั้งนี้หากเกิดความไม่สมดุลขึ้นในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งและธนาคารกลางเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถชะลอผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจได้ ธนาคารกลางก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาคส่วนเหล่านี้มักจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยมาตรการเฉพาะที่ซึ่งโดยมากจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

สำหรับประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายของนโยบายการเงิน ที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ซึ่งเข้าใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวนี้เป็นอัตราเงินเฟ้อที่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ อัตราเงินพื้นฐานของเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 และ 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 และ 1.5 ตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก.ย. 52) ดังนั้นย่อมจะเป็นข้อที่ยืนยันว่าทางการไม่ได้มองว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าจะเป็นปัญหาที่สำคัญ สำหรับเรื่องของ Output Gap ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบนี้ มีนักวิชาการทั้งต่างชาติและไทยประเมินว่า ระดับผลผลิตศักยภาพน่าจะขยายตัวอยู่ที่ช่วงประมาณร้อยละ 5.0-6.0 แม้ในปีนี้และปีหน้าอาจลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อดูการประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 และ 2553 จะขยายตัวร้อยละ -3.0 และ 3.3 ตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก.ย. 52) แสดงว่า Output Gap จะแคบลงแต่จะยังไม่เป็นแรงกดดันที่รุนแรง

ดังนั้น หากความไม่สมดุลไม่เกิดขึ้นในภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจแล้ว ภายใต้ข้อมูลที่เรามีในปัจจุบันของปี 2552 และ2553 เราไม่เห็นแรงกดดันที่มีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก อย่างไรก็ตาม อยากให้ท่านผู้อ่านระวังว่า 1) นโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า การขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ ไม่ได้เพื่อแก้ไขปัญหาของวันนี้ ธนาคารกลางทั่วไปทราบว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้จะค่อยๆมีผลและจะมีผลเต็มที่ต่อระบบเศรษฐกิจใช้เวลานานเป็นปี การมองอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ 2) ข้อมูลเศรษฐกิจและการประมาณการมีการเปลี่ยนแปลงได้ ภาพที่เราดูวันนี้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงได้จากราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงและปัญหาภายในประเทศ ดังนั้น การคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่อไร คงต้องคอย Update ข้อมูลเศรษฐกิจและข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจอยู่สม่ำเสมอ แต่หากท่านผู้อ่านติดตามและใช้หลักการในการวิเคราะห์นี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่อไรครับ

                                                           surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น