xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ข้อดี-ข้อเสียของการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจแบบเทียบปีต่อปี (YoY)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ในการนำวิธีการประกันราคาพืชผลการเกษตร (บางท่านเรียกว่าการประกันความผันผวนของราคาขายหรือการประกันรายได้) มาทดแทนโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรนั้น เริ่มตกผลึกและจะนำมาปฏับติในเร็วๆนี้แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขข้อด้อยและจุดรั่วไหลของโครงการรับจำนำแบบเดิมซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีปัญหาและสร้างภาระการเงินให้แก่รัฐบาลมาก จึงมีข้อน่าพิสูจน์ว่าการรับประกันราคาจะแก้ปัญหาต่างๆ ของโครงการรับจำนำได้จริงหรือไม่ และใครจะได้หรือเสียผลประโยชน์จากวิธีใหม่นี้

หลักการของการประกันราคาก็คือการให้สิทธิกับเกษตรที่ทำสัญญากับรัฐในการได้รับเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง หากราตาตลาดอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกัน เกษตรกรที่ทำสัญญาก็จะได้รับเงินส่วนชดเชยส่วนต่าง คล้ายกับการทำประกันความเสี่ยงในกิจกรรมอื่นๆ แต่ต่างกันตรงที่ผู้ที่ได้รับการคุ้มครองซึ่งในกรณีนี้คือเกษตรกรไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันหรือค่าพรีเมี่ยม กระบวนการหลักของการประกันราคามีสี่ขั้นตอนคือ หนึ่งการประกาศราคาประกันซึ่งจะทำก่อนที่เกษตรกรจะก่อนลงมือเพาะปลูก สองในช่วงเพาะปลูกก็จะทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูก มีการตรวจสอบว่าผลิตจริงโดยใช้กระบวนการประชาคมชุมชนเป็นกลไกตรวจสอบ และจัดทำสัญญาประกับระหว่างเกษตรกรกับผู้แทนของรัฐซึ่งในปีนี้คือ ธกส. โดยสัญญาจะระบุว่ามีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนเท่าไร เกษตรกรจะใช้สิทธิเมื่อใด สามช่วงเก็บเกี่ยวก็จะมีการสุ่มตรวจสอบอีกครั้งเพื่อทบทวนผลผลิตซึ่งจะมีผลต่อคาดการณ์วงเงินที่จะต้องจ่าย สี่ช่วงเก็บเกี่ยวซึ่งรัฐบาลจะประกาศราคาตลาดอ้างอิงเพื่อใช้ในการคำนวณเงินชดเชยให้เกษตรกรในกรณีที่ราคาประกันที่ทำสัญญาไว้ต่ำกว่าราคาตลาดอ้างอิง

การประกันราคาพืชผลเกษตรที่ในเบื้องต้นจะใช้กับสินค้า 3 ประเภทคือ ข้าวเปลือกนาปี ข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ และมันสำปะหลัง และใช้ ธกส. เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรเนื่องจากมีความคุ้นเคยกับเกษตรกรและเคยร่วมในโครงการรับจำนำมาก่อน ข้อแตกต่างระหว่างการรับจำนำกับประกันความเสี่ยงของราคาคือ 1. ปริมาณที่จะรับประกันมีจำกัดให้แต่ละครัวเรือนเกษตร เช่น มันสำปะหลังอาจรับไม่เกิน 100 ตันต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้านาปีรับไม่เกิน 20 ตันต่อครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากการรับจำนำที่รับจำนวนมากกว่าทำให้มีการเวียนเทียนนำพืชผลการเกษตรมาเข้าโครงการซ้ำรวมถึงมีพืชผลของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิด้วยซึ่งแน่นอนย่อมทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง 2. ภาครัฐ (ธกส.) จ่ายเงินแค่ส่วนต่างของราคาประกันกับราคาตลาด ไม่ต้องจ่ายเต็มราคาเช่นในโครงการรับจำนำ

3. ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการเก็บสต็อกข้าวเปลือกแล้วรอเวลาสีแปรสภาพเพื่อระบายออกนอกประเทศ เป็นการลดความเสี่ยงการทุจริตในขั้นตอนเหล่านี้ได้ 4. หลักของการรับจำนำคือต้องการลดปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่ตลาดในประเทศในช่วงที่ออกมาพร้อมกันมาก แต่ของการประกันราคาจะไม่มีผลในการลดปริมาณข้าวที่เข้าสู่ตลาด 5. ภายใต้ระบบประกันราคาการทำงานของกลไกตลาดยังคงทำหน้าที่ได้ ในขณะที่การรับจำนำเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดซึ่งผลก็คือตลาดรับซื้อผลผลิตปกติไม่สามารถขยายตัวได้ 6. การประกันราคาจะมีตัวแปรตัดสินใจด้านราคาเพิ่มเป็นสองตัว คือการกำหนดราคาประกันและราคาตลาดอ้างอิง ขณะที่การจำนำมีเพียงการกำหนดราคาจำนำซึ่งมักสูงกว่าราคาตลาดมากเป็นที่มาของภาระภาครัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดีวิธีประกันราคาก็ยังมีความเสี่ยงในการกำหนดราคาถึงแม้จะอยู่ในรูปของคณะกรรมการ หากกำหนดราคาตลาดอ้างอิงให้ต่ำกว่าราคาประกันมากเท่าไร รัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นการกำหนดราคาตลาดที่น่าจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อันจะนำมาซึ่งการหาผลประโยชน์จากความแตกต่างของราคานี้ได้

หากจะสรุปผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับประกันก็คือ เกษตรกรซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานเกษตรตำบลหรืออำเภอก่อน และเมื่อผลผลิตออกมาก็ต้องหาผู้รับซื้อในตลาดเพื่อขายขาดเลยและขอรับส่วนต่างจากรัฐซึ่งภาระโดยรวมคงไม่น่าจะมากไปกว่าการรับจำนำ กลุ่มโรงสีหรือโกดังกลาง จะได้รับผลเนื่องจากเดิมจะได้รับค่าเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายในการสีข้าวและส่งมอบให้กระทรวงพาณิชย์ กลุ่มอาชีพเซอร์เวเยอร์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติข้าวเปลือกก็ยังจำเป็นต้องใช้ในระบบประกันราคาต่อไป ในด้านของ ธกส. ซึ่งต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนในทั้งสองกรณีแต่วงเงินจ่ายจากการประกันราคาจะน้อยกว่ากรณีการรับจำนำจึงน่าจะเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ ธกส. ได้ไม่มากก็น้อย ในแง่ของนักการเมืองที่เดิมมีมักข้อครหาว่าใช้การรับจำนำเป็นเครื่องมือเรียกคะแนนเสียงแม้จะเปลี่ยนเป็นการประกันราคาก็ยังพอมีทางที่จะใช้เป็นเครื่องมือได้ ยิ่งมีการจำกัดปริมาณรับประกัน และขึ้นทะเบียนเกษตรที่จะได้รับสิทธิ ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติให้แก่พวกพ้อง กระทรวงเกษตรมีหน้าที่ต้องรับขึ้นทะเบียนและทำฐานข้อมูลเกษตรกรซึ่ งเรื่องนี้ ธกส. น่าจะช่วยได้มาก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ (อคส.) ก็หมดภาระในการดูแลสต็อกข้าวและการระบายข้าว ท้ายที่สุดภาระค่าใช้จ่ายของของภาครัฐโดยรวมในการทำโครงการน่าจะต่ำกว่าการใช้วิธีรับจำนำแบบเดิม (โดยมีสมมติฐานว่าโครงการดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริต)
กำลังโหลดความคิดเห็น