xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเกณฑ์ประกันราคาข้าว รัฐจ่ายชดเชยพุ่ง 4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กขช.ถกอีกระลอกก่อนประกาศราคาประกันสินค้าเกษตรกร 3 รายการ เล็งปรับเกณฑ์รับประกันข้าวจากกำหนดปริมาณเป็นวงเงินไม่เกินรายละ 3.5 แสนบาทแทน หวั่นเกษตรกรเมินร่วมโครงการได้ต่ำกว่าราคาจำนำส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินชดเชยพุ่ง 4 หมื่นล้าน

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย ในวันคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะประชุมเพื่อพิจารณาประกาศราคาประกันสินค้าเกษตรที่รัฐบาลนำร่อง 3 ประเภท คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก ซึ่งในการประชุมนั้นยังมีความเห็นและข้อเสนอที่แตกต่างกันบางประการ โดยเฉพาะการกำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่ใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการนั้น อาจเปลี่ยนจากกำหนดจำนวนตันเป็นวงเงินรวมที่เข้าร่วมโครงการแทน

เพราะการจำกัดปริมาณไว้สูงสุด 20 ตัน นั้นหากเป็นข้าวเปลือกตันละ 1 หมื่นบาท ก็คิดเป็นเงินเพียง 2 แสนบาท แต่การจำนำก่อนหน้านี้เกษตรกรอาจเคยได้รับ 3.5 แสนบาท จึงอาจทำให้เกษตรกรรายใหญ่ไม่สนใจ จึงมีผู้เสนอให้จำกัดที่วงเงิน 3.5 แสนบาทต่อรายแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของที่ประชุม แต่หากมีการกำหนดวงเงินแทนก็อาจทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.5 หมื่นล้านบาทเป็น 4 หมื่นล้านบาท

“เม็ดเงินที่ใช้ดำเนินโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรจะมาจากโครงการไทยเข้มเพื่อใช้ในการแข็งชดเชยส่วนต่างให้ข้าวโพดและมันสำปะหลัง 1.85 หมื่นล้านบาท และข้าวที่กำหนดไว้เบื้องต้น 2.5 หมื่นล้านบาท หากต้องใช้เงินเพิ่มยังไม่แน่ใจว่าจะดึงเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งได้ทันทีหรือไม่ ธ.ก.ส.จึงต้องมีกันงบไว้ 1.2 แสนล้านบาท สำรองไว้ดำเนินโครงการ” นายเอ็นนู กล่าวและว่า ส่วนของราคาข้าวนั้นน่าจะเป็นไปตามข้อเสนอเดิม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ให้ราคาสูงถึง ตันละ 1.53 หมื่นบาทนั้น มีการบวกเพิ่มกำไรให้ถึง 40% เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวที่มีราคาและคุณภาพดีที่สุดมากขึ้น อีกทั้งผลผลิตที่ได้ต่อไร่ปัจจุบันยังค่อนข้างต่ำ

สำหรับการชดเชยส่วนต่างราคาข้าวที่รับประกันนั้นประเมินไว้ที่ 2 พันบาทต่อตัน ซึ่งเป็นส่วนต่างของราคาประกันกับราคาอ้างอิง (ราคาตลาด) จึงต้องประสานความร่วมมือกับสมาคมโรงสีที่เข้าร่วมโครงการให้เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรหากเห็นว่าส่วนต่างราคามีแนวโน้มจะห่างกันมากขึ้น เพื่อช่วยให้รัฐไม่ต้องแบกรับภาระการชดเชยมากนัก ซึ่งจากการหารือกับโรงสีทุกจังหวัดก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ โดยหลังจาก กขช.ประกาศราคาประกันเกษตรกรก็สามารถยื่นขอเข้าโครงการได้ทันที โดยให้นำหนังสือรับรองพื้นที่การปลูกมาติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อจัดทำสัญญาประกันราคาพืชผลในแต่ละชนิดต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือก กข.15 ณ ความชื้น 15% ราคาประกันอยู่ที่ตันละ 15,300 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 13,300 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปี ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณความชื้น 14.5% ราคากิโลกรัมละ 7.10 บาท มันสำปะหลัง ณ เชื้อแป้ง 25% ราคาประกันกิโลกรัมละ1.70 บาท สำหรับเป้าหมายในการประกันราคาข้าวเปลือกมีเป้าหมายอยู่ที่ 23.5 ล้านตัน มันสำปะหลัง 29.7 ล้านตัน และข้าวโพด 4.25 ล้านตัน

สำหรับข้อเสนอเดิม เกษตรกรสามารถใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกกข.15 ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวหอมจังหวัด ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี ไม่เกิน 20 ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปี ไม่เกิน 20 ตัน ข้าวเปลือกเหนียวไม่เกิน 16 ตัน โดยเกษตรกรแต่ละครัวเรือนสามารถใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 ชนิดข้าวเปลือก แต่เมื่อรวมแต่ละชนิดแล้วต้องไม่เกิน20 ตัน ส่วนมันสำปะหลังไม่เกิน 100 ตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เกิน 20 ตัน

ขณะที่การกำหนดราคาอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงทำหน้าที่กำหนดราคาตลาดอ้างอิงที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตรโดยกำหนดราคาตลาดอ้างอิงทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน และนำเสนอประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ประธานกรรมการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประธาน กขช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศราคาตลาดอ้างอิง

ส่วนระยะเวลาในการใช้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถใช้สิทธิ์ประกันราคาได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552-กุมภาพันธ์ 2553 มันสำปะหลังใช้สิทธิประกันได้นับถัดจากทำสัญญา 45 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน และต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้สิทธิ์การประกันได้หลังจากวันทำสัญญา 15 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือนและต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น