xs
xsm
sm
md
lg

เทพเทือกžเมินมติวิป3ฝ่ายแก้รธน.ต้องแนวมาร์คž

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่วิป 3 ฝ่าย มอบหมายให้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯได้หมดลงแล้ว หากวิปจะให้ทำงานต่อก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ
ขณะที่นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ถึงแม้ว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะหมดวาระแล้วก็สามารถแต่งตั้งใหม่ได้ โดยขออำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ทั้งนี้เมื่อวิป 3 ฝ่ายและนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกันและมีแนวทางเป็นข้อยุติก็จะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯขึ้นมาอีกครั้งเพราะถือว่าได้เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนแล้ว
ต้องรอวิป 3 ฝ่ายหารือกันก่อน จากนั้นจะหารือกับนายชัย เพื่อแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ ใหม่พร้อมทั้งยกร่างอำนาจและภารกิจใหม่ทั้งหมดเพราะภารกิจตอนเป็นสมานฉันท์แค่ศึกษา ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดึงเรื่องและ การดำเนินการ จะไม่ล่าช้า โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการที่วางไว้ น่าจะเสร็จอยู่ในกรอบเวลา 6 เดือน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยืนยันแนวทางเดิมที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอไว้ต่อรัฐสภา คือ ให้ยกร่างแก้ไขเป็น 6 ร่าง โดยทุกฝ่ายเข้าชื่อรับเป็นเจ้าภาพร่วมกัน จากนั้นจะทำประชามติเพียงครั้งเดียว เพื่อถามประชาชนใน 6 ประเด็น เรื่องไหนประชาชนรับได้ก็เดินหน้าต่อไป เรื่องนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติ ตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย
เชื่อว่ากระบวนการทำประชามติคงไม่นาน เพราะสภาฯผ่านกม.ทำประชามติแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาของวุฒิสภาก็สามารถประกาศใช้ได้
ส่วนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนนั้น นายสเทพ กล่าวว่า เราต้องทำให้ดี รัฐบาลและรัฐสภาต้องช่วยกันทำ ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ รู้ข้อเท็จจริงและสามารถตัดสินใจได้ ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งในส่วนของ ส.ว.และพรรคฝ่ายค้าน ที่ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะที่หลายกหลาย ซึ่งสุดท้ายอาจจะเป็นประเด็นความขัดแย้งของแต่ละฝ่ายได้ เช่นพรรคเพื่อไทย ที่ยังมี ส.ส. ออกมาปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอทางออกโดยการทำประชามติ ซึ่ง ส.ส.บางคนไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ต้องการทำประชามติ ระหว่าง รัฐธรรมนูญปี 2540 กับปี 2550 บางกลุ่มก็ต้องการที่จะแก้เฉพาะประเด็นเขตเลือกตั้ง ให้เปลี่ยนมาใช้เป็นเขตเล็ก หรือเขตเดียวเบอร์เดียว ขณะที่บางกลุ่มในพรรคเพื่อไทย ก็ต้องการใช้แบบเขตใหญ่ เช่นเดิมและยังมีประเภทความเห็นสุดขั้ว ที่ต้องการยกเลิก ม. 309 เพื่อที่ต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากความผิดทั้งหมด หนำซ้ำยังมีความเห็นแตกต่างระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับแกนนำนปช. อีกด้วย ทั้งที่เป็นพวกเดียวกัน
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่มีข้อยุติแน่นอน แต่มีความพยายามโยนความผิดมาให้รัฐบาล จึงอยากให้จับตามองว่าใครกันแน่เล่นเกมและป้ายสีคนอื่น
นายวิทยา บุรณศิริ ประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าในวันที่ 1 ต.ค. วิปฝ่ายค้านจะเข้าหารือกับวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำข้อสรุปไปคุยกับ นายกรัฐมนตรี แต่ทราบว่าหลังนายกฯเดินทางกลับจากสหรัฐฯ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลจะเข้าไปคุยกับนายกฯถึงข้อสรุปก่อน แต่อย่างไรเรื่องนี้จุดยืนของ พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นให้ยึดตามกรอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในการแก้ไข 6ประเด็น และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ โดยวิปฝ่ายค้านจะไปหารือกับวิปรัฐบาลก่อนไปหารือกับนายกฯในสัปดาห์หน้า โดยจะเสนอให้รัฐบาลใช้ รัฐธรรมนูญ ม. 291ที่ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมได้เลย เนื่องจาก เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่ควรเสียเวลาหรือสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดทำประชามติ แต่หากต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ควรทำในรูปแบบ ประชาพิจารณ์แทน
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้มีการประเมินว่ารัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ อาจเปลี่ยนใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 190 เพียงบางส่วน เนื่องจากเกิดปัญหาที่มีกำลังทหารและชาวกัมพูชารุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6ตารางกิโลเมตร บริเวรณปราสาทพระวิหาร ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาจต้องคง หลักการของ ม. 190 ไว้เพื่อควบคุมสถานการณ์ชายแดนไทยกับกัมพูชา
พรรคเพื่อไทยยังประเมินอีกว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเสนอกฎหมายลูก เข้ามาเพื่อให้อำนาจ ครม.ใช้อำนาจในการตัดสินบางกรณีที่จำเป็นกับต่างประเทศ แต่หลักการเดิมยังคงไว้ นอกจากนี้ยังประเมินอีกว่าในกรอบ6ประเด็นคงแก้ไขไม่หมด โดยประเด็นเกี่ยวกับการยุบพรรคและการให้อำนาจหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.ในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านนั้น อาจจะเอื้อประโยชน์กับพรรคเพื่อไทยโดยตรง
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานวิปวุฒิ กล่าวว่า อยากเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ก็ได้ ดังนั้นหากรัฐบาลมีความจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องยื่นญัตติเอง เพราะจะมีน้ำหนักมากกว่าการลงชื่อของส.ส. และส.ว.จำนวน 1 ใน 5 หรือ 125 คน ตามรัฐธรรมนูญ ม.291 ก็กำหนดว่าสามารถทำได้
ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นควรเป็นร่างเดียว เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน ส่วนกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น