xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.เล็งยื่นตีความพ.ร.บ.กู้ ไร้รายละเอียดให้ตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ....(เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3
สำหรับการพิจารณา วาระ 2 เป็นการพิจารณารายมาตรา เริ่มจาก ชื่อร่าง กมธ.ไม่มีการแก้ไข มีส.ว.สงวนคำแปรญัตติ 1 คน คือนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนสงวนคำแปรญัตติ ตั้งแต่มาตรา 1 ไปจนถึงมาตราสุดท้าย ซึ่งขออภิปรายในภาพรวมว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพราะไม่มีการเสนอรายละเอียดให้ตรวจสอบว่าจะนำเงินไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งหากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ตนและเพื่อน ส.ว.จำนวนหนึ่ง จะร่วมกันเข้าชื่อยื่นต่อศาลรธน. เพื่อวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ชอบด้วยรธน.หรือไม่
นายคำนูณ ยืนยันว่า ที่จะทำเช่นนี้ ไม่ใช่การเตะถ่วง และไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ทำเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในหลักการใช้งบประมาณต่อไปในอนาคต เพราะการทำงบประมาณต้องทำตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง นั่นคือ เข้าตามตรอก ออกตามประตู ซึ่งมีหลายช่องทางที่รัฐบาลจะทำได้ อาทิ การแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หรือการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมงบประมาณกลางปี และที่ผ่านมาวุฒิสภา กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ได้อภิปรายคัดค้านในวาระที่ 1 แต่ก็รับหลักการไป เพื่อที่จะให้มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ แต่ก็เป็นไปตามคาดว่า รัฐบาลจะไม่ให้มีการแก้ไขในหลักการของร่าง ซึ่งทำให้วุฒิสภาไม่สามารถควบคุมการใช้งบประมาณได้ ทั้งที่นายกฯได้กล่าวเป็นสัจจะกลางที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่า ขอให้รับไปก่อน และค่อยแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ตนคิดว่าทำยาก ทำให้ตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่า นี่คือการขอใช้เงินนอกงบประมาณ ที่ชื่อร่างเป็น พ.ร.บ. แต่หัวใจเป็น พ.ร.ก
จากนั้น เป็นการลงมติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คงไว้ตามร่างเดิม ด้วย คะแนน 76 ต่อ 22 งดอออกเสียง 5 เสียง

**กอร์ปศักดิ์"อ้างเพื่อความยืดหยุ่น
จากนั้น เป็นการพิจารณา คำปรารภ และ มาตรา 1 กมธ.ไม่มีการแก้ไข และ ส.ว.ถอนคำแปรญัตติ ทำให้มาตราดังกล่าว เป็นไปตามร่างเดิม
ส่วนมาตรา 2 กมธ.ไม่มีการแก้ไข มีส.ว.สงวนคำแปรญัตติ 1 คน คือนาย คำนูณ สงวนคำแปรญัตติ เสนอมาตรา 2/1 และ 2/2 ที่เพิ่มคำนิยามศัพท์ ซึ่งจะไปสอดคล้อง ในมาตรา 3 ที่ กมธ. แก้ไขร่าง เพื่อให้มีการนำเสนอโครงการให้รัฐสภาพิจารณา
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา กมธ. ชี้แจงว่า ข้อสงสัยว่า การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ยังลักลั่น ตามอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร และจะใช้อำนาจใดเป็นอำนาจหลักในการบริหารราชการแผ่นดินกันแน่นั้น ตนเห็นว่า อำนาจทั้ง 2 ส่วน จำเป็นทั้งคู่ เมื่อพูดถึงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบนี้ก็มาจากกฎหมายที่สภาเห็นชอบ และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อสมาชิกสงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ และไม่ไว้ใจ ฝ่ายบริหารก็มีความกังวลไม่ต่างกัน แต่การนำระเบียบทั้งหมดที่ฝ่ายบริหารวางไว้ มาใส่ในกฎหมายก็คงไม่ใช่ เพราะความยืดหยุ่นก็จะหายไป และกระบวนการตรวจสอบก็มีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล เมื่อมีการลงมติ มาตรา 2 ที่ประชุมมีมติให้คงไว้ตามร่างเดิม ด้วยคะแนน 68 ต่อ 21 งดออกเสียง 7 เสียง

**"กรณ์"ขู่กม.ตกยิ่งเสียหาย
จากนั้นเป็นการพิจารณามาตรา 3 กมธ. มีการแก้ไขในวรรคหนึ่งว่า ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติครม. มีอำนาจกู้เงินบาทในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ ครม.เสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ โดยแสดงรายละเอียดของโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้จ่าย
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กมธ.สงวนความเห็น โดยขอให้คงไว้ตามร่าง ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ คือให้ครม.เสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ โดยระบุว่า แผนไทยเข้มแข็ง มีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที เพื่อให้เม็ดเงินลงไปถึงประชาชนรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเม็ดเงินจะตามตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทไปติดๆ ทำให้รัฐบาลต้องเสนอในลักษณะการรายงานให้รัฐสภาเพื่อทราบ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังกังวลว่าหากเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณา จะขัดต่ออำนาจหน้าที่สภา ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่าหากเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณา จะขัดรธน. มาตรา 171 อย่างไรก็ดี เรื่องการตรวจสอบ รธน. ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมวิธีการบริหารของ ครม.ไว้ ได้แก่ ยื่นกระทู้ และขอเปิดอภิปราย ทั้งนี้ยังยืนยันแก้ไข รัฐบาลก็ต้องส่งศาลรธน.วินิจฉัย
นายกรณ์ กล่าวว่าเมื่อส่งศาลรธน. ก็เป็นไปได้ว่า ศาลจะต้องดูว่าการแก้ไขนั้น ส่งผลต่อสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.โดยรวมหรือไม่ และถ้าศาลเห็นตามรัฐบาลและกฤษฎีกา ก็จะทำให้ร่างตกไป ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะตามมาระดับที่คำนวณไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ส.ว. หลายคนที่สงวนคำแปรญัตติ ได้อภิปราย โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างที่ กมธ.แก้ไข เพียงแต่เสนอปรับปรุงถ้อยคำบางคำ นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายโจมตี กมธ.จากรัฐบาลในเรื่องการสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 3 อาทิ พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายคำนูณ สิทธิสมาน นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ต่างระบุว่า ที่นายกรณ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สงวนคำแปรญัตติ แล้วมาขู่ว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากวุฒิสภายังยืนยันตามที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่แก้ไขนั้น แล้วแต่มุมมองของกฎหมาย แต่คิดว่าโครงการทั้งหลายควรให้รัฐสภาพิจารณา เพราะสภาไม่ได้เป็นตรายาง การมาขู่ทั้งเรื่องอาจขัดรัฐธรรมนูญ หรืออ้างว่า หากกฎหมายตกไป จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาศาลนั้น คงไม่เป็นเหตุผล และวุฒิสภาแห่งนี้มาขู่กันไม่ได้ ลองดูจากกฎหมายก่อนหน้านี้ที่วุฒิสภาคว่ำไปหลายฉบับ ก็เป็นข้อพิสูจน์
นายกรณ์ ชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาขมขู่สภาด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย หรือปัจจัยทาง เศรษฐกิจ เพียงแต่เมื่อมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จึงต้องนำเสนอ เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชน ทั้งนี้ ตนร้อนใจถึงปัญหาเศรษฐกิจ ที่รุมเร้าอยู่ จึงต้องสร้างความชัดเจนด้านบทบาท อำนาจให้เร็วที่สุด เพื่อความมั่นใจ แต่ไม่ได้ละเลยสภา และยืนยันว่า เรื่องความโปร่งใส รัฐบาลจะขอร่วมมือจาก สตง.เพื่อติดตามการใช้เงินตามแผนไทยเข้มแข็ง โดยจะแบ่งตามจังหวัด เพื่ออุดช่องโหว่ และและการรั่วไหลของเม็ดเงิน
จากนั้นเป็นการลงมติในมาตรา 3 ที่ประชุมมีมติ เห็นด้วยกับร่างที่กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 51 ต่อ 34 ไม่ลงคะแนน 4 งดออกเสียง 1 เสียง

**แฉส.ว.ต่อรองของบลงพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายที่ประชุมหวิดล่ม เนื่องจากช่วงนั้น สมาชิกให้ความสนใจกับการพิจารณาคดีกล้ายาง จึงออกจากห้องประชุมไปฟังการพิจารณาคดี ประกอบกับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ส.ว. เกี่ยวกับการต่อรองของบประมาณรัฐบาลเพื่อลงพื้นที่ของตนเอง พื้นที่ละประมาณ 20 ล้านบาท ผ่านงบในส่วนของกรมปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมทางหลวงชนบท โดยอ้างว่า ส.ว. ก็มีหน้าที่ดูแลประชาชนเช่นกัน และที่ผ่านมาในวาระรับหลักการ ปรากฏว่า มี ส.ว.กลุ่มหนึ่งที่ปกติ โหวตไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาโดยตลอด กลับโหวตรับหลักการ โดยมีการของบจากรัฐบาลเพิ่มเติมให้ อปพร.
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังคงพิจารณาเรียงมาตรา ตั้งแต่มาตรา 4 ถึงมาตรา 13 ซึ่งที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกที่สงวนความเห็น และสงวนคำแปรญัตติ ได้อภิปราย โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯแก้ไข ทั้งนี้นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายสอบถามกลางที่ประชุมว่า มีกระแสข่าวว่ามีการต่อรองงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมทางหลวง เพื่อลงพื้นที่ของ ส.ว. แลกกับการโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ อยากให้รัฐบาลชี้แจงซึ่งจะมีผลต่อการโหวตร่างดังกล่าว นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จึงชี้แจงว่า ยืนยันไม่มีการต่อรองงบฯเพื่อลงพื้นที่ แต่ยอมรับว่ามีการพูดคุยกับ ส.ส.และส.ว.จริง แต่เป็นที่ร้องขอไม่ให้รัฐบาลจัดงบฯกระจุกตัวในพื้นที่ ส่วนการลงมติของส.ว.นั้นเป็นอย่างไรก็เป็นสิทธิของส.ว.แต่ละคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่สุด ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯในวาระ 2 และวาระ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น