xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้สำนึก “บิ๊กป๊อก” อย่านิ่งเฉยปกป้องสถาบันกษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
ส.ว.สรรหา ยื่นกระทู้จี้สำนึก ผบ.ทบ.อย่านิ่งเฉยพิทักษ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ด้าน “เทพเทือก” ควง “ประวิตร” แจงสถาบันเบื้องสูงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย พร้อมรับข้อเสนอไปปฎิบัติ สั่งการ 3 กระทรวงให้ความรู้ปกป้องสถาบัน และใช้กฏหมายดำเนินคดีกับพวกที่จาบจ้วง

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา วาระกระทู้ถาม โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ตั้งกระทู้ถามด่วนต่อนายกรัฐมนตรี เรื่อง บทบาทของกองทัพในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีบุคคลบางกลุ่มโฆษณาต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย เรียกร้องให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อถวายฎีกาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในลักษณะที่ทั้งนายกฯ ส.ส. ส.ว.นักวิชาการ พรรคการเมืองบางพรรค และองค์กรภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย เห็นว่า ไม่ถูกกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เข้าข่ายทั้งฎีกาขอพระราชอภัยโทษและฎีการ้องทุกข์ หากแต่เป็น “ฎีกาการเมือง” ที่มีเจตนาแฝงเร้นอันอาจเป็นเสียอย่างใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นายคำนูณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.กลับออกมาให้สัมภาษณ์ในกรณีดังกล่าว ว่า “ผมในฐานะที่เป็นทหารของชาติและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีความเห็น “และได้ยืนยันประโยคเดิมว่า “ไม่มีความเห็น” อีกหลายครั้ง ทั้งที่เป็นที่ทราบกันว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เป็นเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกองทัพและทหารมีหน้าที่โดยตรงในการพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ดังนั้น ขอเรียนถามว่า 1.การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ ดังกล่าวมีความหมาย และเจตนาแท้จริงอย่างไร สอดคล้องกับภารกิจของกองทัพและทหารตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ 2.กองทัพจะมีการใช้ประโยชน์จากสื่อของกองทัพที่มีอยู่จำนวนมากอย่างไร

“ขณะนี้กำลังเกิดสงครามครอบงำความคิด อาวุธที่จะต่อสู้กับสงครามนี้ไม่ใช่ปืน แต่เป็นสื่อซึ่งกองทัพเหมาะสม ที่จะดำเนินบทบาทนี้มากที่สุด และขอย้ำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ได้เพราะกองทัพ ทั้งนี้ การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองทำได้ แต่การวางตัวเป็นกลางในเรื่องความมั่นคงของประเทศผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ได้” นายคำนูณ กล่าว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า กองทัพบกยืนยันปฏิบัติภารกิจ รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ที่มีการเทิดทูนสถาบัน 2.การถวายความปลอดภัยให้กับสถาบัน แต่เรื่องดังกล่าวกองทัพต้องทำด้วยความระมัดระวัง และไม่สร้างความแตกแยกให้สังคม นอกจากนี้ ผบ.ทบ.ยังได้กำชับให้กองทัพช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนเข้ารใจในข้อกฎหมาย และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานต่อสถาบัน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีการให้ความเห็นต่างๆ ส่วนเรื่องการยื่นถวายฎีกา ที่ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ตอบสื่อ เพราะ ผบ.ทบ.คำนึงถึงบรรยากาศการเมือง ขณะนี้ไม่เหมาะสมที่จะตอบคำถาม เกรงว่าจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ แย้งว่า กองทัพควรชี้แจง เพราะประเทศเหมือนตกอยู่ในภาวะสงครามที่ประชาชนแตกแยกทางความคิด และควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่เรื่องสถาบันกองทัพ จะวางตัวเป็นกลางไม่ได้ ควรเลือกทางใดทางหนึ่งเลย และอยากให้กองทัพนำกระทู้ถามของ ส.ว.กลับไปทบทวน เพราะเชื่อว่า สถานการณ์ต่างๆ คงไม่จบเพียงเท่านี้

รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีการใช้สื่อว่า ยืนยันว่ากองทัพใช้สื่อย่างเต็มที่แล้ว เช่น มีการเสนอโครงการพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง แต่รับปากว่าจะไปดำเนินการเพิ่มเติม และทำเท่าที่ทำได้

จากนั้น นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ได้ตั้งกระทู้ถามด่วนต่อนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหากรณีการกระทำอันเป็นการกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง 1.รัฐบาลได้รับทราบถึงสถานการณ์ ในปัจจุบันที่มีการกระทำของบุคคลที่ส่อไปทางกระทบกระเทือนต่อสถาบันเบื้องสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเรียกร้องให้องคมนตรีลาออก การล่ารายชื่อประชาชนทั่วประเทศ เพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวเล็งเห็นผลได้ว่าจะก่อให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งหากภาครัฐยังนิ่งเฉยอาจจะทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายจนเกิดความแตกแยกทำลายสถาบันและประเทศชาติ

ดังนั้น จึงขอถามว่า 1.รัฐบาลได้รับทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนารูปแบบต่างๆไปมากหรือไม่ และได้มีมาตรการวางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหรือไม่อย่างไร 2. รัฐบาลได้ดำเนินการบูรณาการกลไกรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่ปกตินี้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากการถวายฎีกา จะมีการใช้กลไกลูกเสือชาวบ้าน เป็นเครื่องมือในการสร้างความรักและปกป้องสถาบันหรือไม่อย่างไร 3.รัฐบาลมีมาตรการและได้ดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดทั้งกรณี ในการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนสถาบันเบื้องสูง และความมั่นคงของชาติอย่างไร

“สถาบันคือฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทย ถ้าขาดวันนี้ เราก็คงต้องต่างคนต่างไป ถ้าไม่มีสถาบันก็ไม่มีความมั่นคง ไม่มีชาติและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย อีกต่อไป”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ชี้แจงว่า เรื่องการปกป้องสถาบัน รัฐบาลเห็นว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ และพยายามดำเนินการโดยไม่ให้ใคร ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างเด็ดขาด ขณะนี้ตนได้มอบให้ สตช.กองบัญชาการตำรวจสันติบาล รวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน รวมถึงการปราศรัยในที่ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเบื้องต้นในปี 2552 ได้ตรวจสอบพบแล้ว 35 คดี เตรียมฟ้อง 5 คดี เหลือเพียง5คดีไม่มีหลักฐาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่า คงไม่มีวิธีอื่นใดที่จะจัดการกับผู้ละเมิดสถาบันได้นอกจากวิธีทางกฎหมาย

รองนายกฯกล่าวว่า ส่วนที่ ส.ว.ระบุว่า สถาบันเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ยับยั้งความแตกแยกของสังคมได้ รัฐบาลคิดเช่นเดียวกัน และกำลังเตรียมดำเนินการอยู่ โดยให้ความรู้กับประชาชนเพื่อตระหนักถึงปัญหา ช่วยกันรวบรวมหลักฐานไม่ให้ผู้คิดกระทำผิดหมิ่นสถาบันอีก โดยขณะนี้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย จัดอบรมผู้นำท้องถิ่นให้เข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ มอบให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้ในสถานศึกษาด้วย รวมทั้งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และนักเรียนที่อยู่นอกโรงเรียน ทั้งนี้ รัฐบาลจะนำสิ่งที่ ส.ว.แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะการถวายฎีกาไปพิจารณาแก้ปัญหาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น