xs
xsm
sm
md
lg

ชายแดนพม่า-จีนในท่ามกลางความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะหยุดนิ่งแบบลางบอกเหตุร้ายที่กำลังจะมาถึง คลี่กระจายปกคลุมเหนือภาคเหนือของพม่า ตั้งแต่ที่ฝ่ายทหารของรัฐบาลสร้างความปราชัยให้แก่พวกผู้ก่อความไม่สงบชนชาติโกก้างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทุกๆ ฝ่ายเหมือนกับกำลังเตรียมตัวเพื่อการสู้รบรอบต่อไป ซึ่งอาจจะฉุดดึงให้เขตหยุดยิงอื่นๆ ของพม่าถลำเข้าสู่สงครามกลางใหม่ครั้งใหม่ได้ทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าการโจมตีและการต้านทานการโจมตีจะมีความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน
นักวิเคราะห์จำนวนมากเคยเชื่อว่า การที่ในอดีตจีนเคยสนับสนุนกลุ่มชนชาติต่างๆ ตามแนวชายแดนจีน-พม่า ที่บัดนี้ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับฝ่ายรัฐบาลพม่ามาหลายปีแล้ว จะทำให้คณะทหารผู้ปกครองพม่าไม่กล้ากระทำการตามคำขู่ ที่จะบังคับให้กองกำลังอาวุธของกลุ่มชนชาติเหล่านี้แปรสภาพตัวเอง ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า

ทั้งนี้ ทางคณะทหารผู้ปกครองพม่า เรียกร้องพวกกลุ่มชนชาติต่างๆ ที่ทำข้อตกลงหยุดยิงไว้กับรัฐบาล โดยที่ทางตอนเหนือของพม่า กลุ่มที่ใหญ่ๆ ก็ได้แก่ กองทัพสหภาพรัฐว้า (UWSA), กองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA), กองทัพพันธมิตรชาติประชาธิปไตย-รัฐชานเขตตะวันออก (NDAA) และกองทัพพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (MNDAA) ที่นำโดยชนชาติโกก้าง ให้ลดขนาดกองกำลังของพวกเขา และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังรักษาชายแดนที่บริหารสั่งการโดยกองทัพพม่า

การแปรสภาพกองกำลังอาวุธที่มีอำนาจบังคับบัญชาตนเองอย่างอิสระ ให้กลายเป็นหน่วยรักษาชายแดนที่ถูกควบคุมโดยรัฐเช่นนี้ ก็คือการเรียกร้องให้องค์การทางการเมืองของชนชาติต่างๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิการปกครองตนเองในพื้นที่ของพวกเขา ต้องยอมสูญเสียกองกำลังอาวุธของพวกตน และหมดสิ้นหมากสำคัญที่ใช้ในการต่อรองกับระบอบปกครองนี้ไปโดยปริยาย กลุ่มชนชาติในเขตภาคเหนือที่ระบุนามข้างต้นทั้งหมดจึงต่างปฏิเสธข้อเสนอ ตรงกันข้ามพวกเขาเรียกร้องให้รักษาข้อตกลงหยุดยิงในปัจจุบันไปก่อน แล้วจึงค่อยจัดทำความตกลงใหม่กับรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง

การที่ฝ่ายทหารพม่าประสบความสำเร็จในการโจมตีพวกโกก้าง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในบรรดากลุ่มหยุดยิงทางภาคเหนือที่รวมตัวกันเป็นพันธมิตรหลวมๆ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่าได้ทำให้ทางกองทัพเพิ่มความได้เปรียบอะไรเพิ่มขึ้นมาในสมรภูมิ แต่ฝ่ายทหารก็ได้มีการเสริมกำลังหน่วยรบต่างๆ ที่กำลังเผชิญหน้าที่มั่นของพวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นๆ เป็นต้นว่า การเพิ่มปืนใหญ่และรถถังที่ตั้งประจันทหารกองทัพพันธมิตรชาติประชาธิปไตย-รัฐชานเขตตะวันออก และของสหภาพรัฐว้า ตามแนวชายแดนติดกับจีนและกับไทย อันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า กองทัพพม่าเชื่อว่าตนเองกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ยังคงข้องใจว่า ฝ่ายทหารพม่าจะสามารถเปิดการรุกรบอย่างเต็มที่เข้าใส่บรรดากลุ่มหยุดยิง โดยที่ยังประคับประคองรักษาให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไปตลอดจนถึงการเลือกตั้งในปีหน้าได้หรือไม่ ทั้งนี้ในพันธมิตรหลวมๆ ของกลุ่มหยุดยิงต่างๆ ทางภาคเหนือนั้น กองทัพสหภาพรัฐว้า และกองทัพกะฉิ่นอิสระ ถือว่ามีความเข้มแข็งมากกว่าเพื่อน โดยกองทัพสหภาพรัฐว้ามีกำลังทหาร 20,000 - 25,000 คน สนับสนุนด้วยอาวุธหนักอย่างปืนครก, ปืนใหญ่, และปืนต่อสู้อากาศยาน ส่วนทางคะฉินมีนักรบราว 5,000 คนที่ติดอาวุธครบครัน และเมื่อก่อนได้เคยตรึงกองทัพพม่าจนเคลื่อนไหวไม่ออกเป็นเวลาร่วมๆ 20 ปี

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชาวไทยผู้หนึ่งที่พูดโดยขอมิให้เปิดเผยนาม เชื่อว่าฝ่ายทหารพม่าอาจต้องทำการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษหรือกว่านั้น จึงจะสามารถปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ลงได้ในที่สุด

จากคำทำนายเรื่องความเป็นไปได้ที่จะต้องเจอกับสงครามอันยืดเยื้อ และจากการที่ได้เริ่มลงมือเล่นงานพวกพันธมิตรชนชาติต่างๆ ทางภาคเหนือไปแล้ว ทำให้เป็นไปได้ยากเหลือเกินที่ฝ่ายทหารพม่าจะสามารถสำแดงอำนาจเข้าควบคุมเขตหยุดยิงต่างๆ ได้ก่อนการเลือกตั้งปี 2010 นอกจากนั้น การที่ต้องใช้ทหารจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับพวกผู้ก่อความไม่สงบ ยังจะลดทอนความสามารถของระบอบปกครองนี้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วยซ้ำ

คณะทหารผู้ปกครองพม่ายังคงหวาดหวั่นว่าอาจจะเกิดความไม่สงบของประชาชนตามเมืองใหญ่แพร่กระจายไปในวงกว้าง แบบที่ปรากฏใน "การปฏิวัติผ้าเหลือง" ที่นำโดยพระสงฆ์ชาวพุทธเมื่อปี 2007 ดังนั้น ระบอบปกครองนี้จึงจำเป็นต้องมีกองกำลังความมั่นคงขนาดใหญ่ออกมารักษาการณ์ทั้งภายในและรอบๆ ตัวเมืองใหญ่ต่างๆ

นอกจากนั้น กลุ่มหยุดยิงอื่นๆ ตามส่วนอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งก็รู้สึกไม่พอใจข้อเรียกร้องเรื่องกองกำลังรักษาชายแดน ตลอดจนหลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะมองเห็นความไม่สงบที่ปะทุขึ้นอีกในภาคเหนือ เป็นโอกาสที่พวกเขาจะฟื้นฟูการต่อสู้ด้วยอาวุธของพวกเขาเอง

ขณะเดียวกัน การที่กองทัพต้องเคลื่อนทหารไปยังภาคเหนือ ก็จะทำให้กลุ่มที่ไม่ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงและกำลังประสบความลำบาก เป็นต้นว่า สหภาพชาติกะเหรียง (KNU) และ กองทัพรัฐชาน (ใต้) มีเวลาหยุดพักหายใจและมีโอกาสที่จะฟื้นฟูสร้างกองกำลังที่ทรุดโทรมของพวกตนขึ้นมาอีกครั้ง

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง China, Myanmar border on a conflict โดย Brian McCartan ไบรอัน แมคคาร์แทน นักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น