xs
xsm
sm
md
lg

ชายแดนพม่า-จีนในท่ามกลางความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China, Myanmar border on a conflict
By Brian McCartan
09/09/2009

การที่รัฐบาลพม่าโจมตีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชนชาติโกก้างจนพ่ายแพ้ยับเยิน ณ บริเวณชายแดนติดประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจจะเป็นทั้งการทดสอบความตั้งใจแน่วแน่ของปักกิ่งในการหนุนหลังเหล่าพันธมิตรของตนที่ตั้งฐานอยู่ในแดนพม่า ตลอดจนความพรักพร้อมของพวกกลุ่มกบฎเหล่านี้ที่จะรวมตัวกันต่อสู้กับคณะทหารผู้ปกครองประเทศ แต่ในสภาพที่ทุกๆ ฝ่ายต่างตระเตรียมเพื่อการสู้รบในรอบต่อไป จึงดูเหมือนว่าฝ่ายทหารพม่าคงจะไม่สามารถเข้าควบคุมบรรดาพื้นที่หยุดยิงได้ทันเวลาก่อนถึงการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2010

กรุงเทพฯ – ภาวะหยุดนิ่งตึงเครียดแบบลางบอกเหตุร้ายที่กำลังจะมาถึง คลี่กระจายปกคลุมเหนือภาคเหนือของพม่า ตั้งแต่ที่กองทัพของรัฐบาลสร้างความปราชัยให้แก่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชนชาติโกก้าง (Kokang) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทุกๆ ฝ่ายเหมือนกับกำลังเตรียมตัวเพื่อการสู้รบรอบต่อไป ซึ่งอาจจะฉุดดึงให้เขตหยุดยิงอื่นๆ ของพม่าถลำเข้าสู่สงครามกลางใหม่ครั้งใหม่ได้ทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าการโจมตีและการต้านทานการโจมตีจะมีความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พวกนายพลพม่ากำลังมีเจตนาอย่างไรกันแน่ นี่คือการท้าทายชนชาติว้า (Wa) และกะฉิ่น (Kachin) ซึ่งติดอาวุธที่ดีกว่าพวกโกก้าง (รวมทั้งการท้าทายกลายๆ ต่อจีนที่คอยช่วยเหลือชนชาติส่วนน้อยริมชายแดนเหล่านี้ด้วย) หรือว่าความเคลื่อนไหวในช่วงหลังๆ มานี้เป็นส่วนหนึ่งแผนการเกทับบลั้ฟแหลกทางยุทธศาสตร์อันละเอียดลุ่มลึกเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยการเข้าปราบปรามพวกโกก้าง จนทำให้ผู้คนชนชาตินี้หลายหมื่นคนหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในดินแดนจีนที่อยู่ตอนเหนือขึ้นไป คณะทหารผู้ปกครองพม่าก็กำลังทดสอบทั้งความตั้งใจแน่วแน่ของปักกิ่งในการหนุนหลังพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ตั้งฐานอยู่ในเขตพม่าเหล่านี้ และทั้งเจตนารมณ์มุ่งมั่นของกลุ่มชนชาติเหล่านี้ที่จะให้ความสนับสนุนช่วยเหลือทางทหารแก่กันและกัน

นักวิเคราะห์จำนวนมากเคยเชื่อว่า การที่ในอดีตจีนได้ให้ความสนับสนุนกลุ่มชนชาติต่างๆ ตามแนวชายแดนจีน-พม่า ที่บัดนี้ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับฝ่ายรัฐบาลพม่ามาหลายปีแล้ว จะทำให้คณะทหารผู้ปกครองพม่าไม่กล้ากระทำการตามคำข่มขู่ ที่ระบุว่าจะใช้วิธีบังคับให้กองกำลังอาวุธของกลุ่มชนชาติเหล่านี้ ต้องยอมแปรสภาพตัวเองกลายเป็นหน่วยรักษาชายแดนซึ่งรับคำสั่งบงการจากรัฐบาล ให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อนถึงการเลือกตั้งระดับชาติในปีหน้า แนวการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ดูยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นอีก เมื่อมีรายงานหลายกระแสที่บ่งบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนได้แจ้งทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าว่า พวกเขาจะไม่ยอมทนให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นตามแนวพรมแดนจีน-พม่า 2,185 กิโลเมตร ในช่วงเวลาก่อนจะถึงเดือนตุลาคมนี้ ที่เป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของการที่คอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะครอบครองประเทศจีน

กลุ่มหยุดยิงกลุ่มใหญ่ๆ ทางตอนเหนือของพม่า อันได้แก่ กองทัพสหภาพรัฐว้า (United Wa State Army หรือ UWSA), กองทัพกะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army หรือ KIA), กองทัพพันธมิตรชาติประชาธิปไตย-รัฐชานเขตตะวันออก (National Democratic Alliance Army-Eastern Shan State หรือ NDAA) และกองทัพพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army หรือ MNDAA) ที่นำโดยชนชาติโกก้าง กำลังถูกทางคณะทหารผู้ปกครองพม่าเรียกร้อง (โดยที่บรรดากลุ่มชนชาติในภาคอื่นๆ ที่ทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล ก็ถูกกดดันเรียกร้องทำนองเดียวกัน) ให้ลดขนาดกองกำลังอาวุธของพวกเขาลง และเข้าร่วมสังกัดในกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ที่บริหารสั่งการโดยกองทัพพม่า

การแปรสภาพกองกำลังอาวุธที่มีอำนาจบังคับบัญชาตนเองอย่างอิสระ ให้กลายเป็นหน่วยรักษาชายแดนที่ถูกควบคุมโดยรัฐเช่นนี้ ก็คือการเรียกร้องให้องค์การทางการเมืองของชนชาติต่างๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิการปกครองตนเองในพื้นที่ของพวกเขา ต้องยอมสูญเสียกองกำลังของพวกตนไป และหมดสิ้นหมากตัวสำคัญที่ใช้ต่อรองกับระบอบปกครองนี้โดยปริยาย กลุ่มชนชาติในเขตภาคเหนือที่ระบุนามข้างต้นทั้งหมดจึงต่างปฏิเสธข้อเสนอ ตรงกันข้ามพวกเขาเรียกร้องให้รักษาข้อตกลงหยุดยิงในปัจจุบันไปก่อน แล้วจึงค่อยจัดทำความตกลงใหม่กับรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง

จีนนั้นให้การสนับสนุนแก่กลุ่มหยุดยิงในเขตภาคเหนือพม่าเหล่านี้เรื่อยมา ทั้งด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการปรองดองในชาติ, ทั้งด้วยการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างกลุ่มต่างๆกับฝ่ายทหารพม่า, และด้วยการกดดันระบอบปกครองพม่าให้ละเว้นการใช้กำลังเพื่อบีบบังคับให้ได้สิ่งที่ตนเองเรียกร้องต้องการ การแสดงบทบาทในเชิงติดต่อประสานงานเหล่านี้ นับว่าสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายระดับกว้างขึ้นมาของปักกิ่ง ที่ต้องการประคับประคองให้พื้นที่ชายแดนมีเสถียรภาพ โดยที่ขณะเดียวกันก็ทำให้ปักกิ่งมีตัวแทนทางการทหารและการเมืองไว้ใช้ ในกรณีที่เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นภายในแดนหม่อง เฉกเช่นที่เคยเกิดความไม่สงบในหมู่ประชาชนพม่าครั้งมโหฬารเมื่อปี 1988 และปี 2007

เสถียรภาพของพม่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับจีน เนื่องจากจีนได้ไปทำการลงทุนอย่างมหาศาลเอาไว้ในด้านการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติของพม่า รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ของพม่าก็ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในฐานะที่เป็นช่องทางออกสู่ทะเลสำหรับการค้าของมณฑลหยุนหนาน (ยุนนาน) ซึ่งเป็นดินแดนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไร้ทางออกทางทะเล นอกจากนั้นยังมีการกำหนดไว้แล้วว่าจะก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซผ่านพม่า โดยเริ่มกันในเดือนนี้และเสร็จสิ้นในปี 2012 ซึ่งจะทำให้จีนสามารถได้รับเชื้อเพลิงที่ขนส่งทางเรือจากตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องเดินเรือวกลงไปข้ามช่องแคบมะละกา เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนมีความหวั่นกลัวว่าจะเกิดการปิดล้อมทางนาวีขึ้นที่บริเวณช่องแคบดังกล่าว ถ้าหากปักกิ่งมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงกับวอชิงตัน

การที่พม่าเปิดการโจมตีพวกโกก้างเมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลทำให้จีนต้องเสริมกำลังตำรวจและทหารเข้าไปตามชายแดน รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกมาต่อว่าต่อขาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก โดยคำแถลงของกระทรวงฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่ที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม กล่าวว่า จีน”หวังว่าพม่าจะสามารถแก้ไขปัญหาภายในของตนได้อย่างเหมาะสม และปกป้องคุ้มครองเสถียรภาพของพื้นที่พรมแดนจีน-พม่า” คำแถลงยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า “พิทักษ์คุ้มครองความปลอดภัยและสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายของพลเมืองจีนในพม่า”

ทางฝ่ายพม่าได้ตอบสนองด้วยการกล่าวขอโทษหากมีคนจีนเกิดบาดเจ็บล้มตายในระหว่างการสู้รบคราวนี้ พร้อมกับขอบคุณปักกิ่งที่ให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยสงคราม ตามตัวเลขของพวกเจ้าหน้าที่จีนในมณฑลหยุนหนาน มีผู้ลี้ภัยราว 37,000 คนหลั่งไหลข้ามชายแดนเข้าไปในตอนที่เกิดการสู้รบกัน พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเวลานี้กำลังจับตามองผลของการประชุมเจรจากันระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนและฝ่ายพม่า รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาคแถบนี้

**การประกาศท้ารบ**

หลายๆ คนรู้สึกประหลาดใจจากการที่พม่าดูเหมือนมีเจตนาที่จะท้าทายจีนในกรณีของกลุ่มหยุดยิงในเขตภาคเหนือของพม่า แหล่งข่าวฝ่ายค้านหลายรายอ้างว่า มีการประชุมเจรจากันถึง 2 ครั้งในระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยที่ครั้งหนึ่งเจรจากันที่หยุนหนาน ระหว่าง พล.จ.โพนส่วย (Phone Swe) รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยของพม่า กับ เมิ่งเจี้ยนจู้ รัฐมนตรีกระทรวงรักษาความมั่นคงภายในของจีน และอีกครั้งหนึ่งหารือกันที่เมืองลาเฉียว (Lashio) เมืองเล็กๆ ทางภาคเหนือของพม่า ระหว่างนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนและกองทัพพม่า โดยที่ฝ่ายพม่ามี พล.ท.มินอองหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารทุกหน่วยในรัฐชานเข้าร่วมด้วย

พวกกลุ่มหยุดยิงทางภาคเหนือของพม่านั้น ได้มีการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรแบบหลวมๆ โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม แนวร่วมสันติภาพและประชาธิปไตยพม่า (Myanmar Peace and Democracy Front หรือ MPDF) ประกอบด้วย MNDAA (กองกำลังที่นำโดยโกก้าง), UWSA (ว้า), NDAA (ชาน) และ KIA (กะฉิ่น) กลุ่มพันธมิตรนี้จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นการร่วมใจสามัคคีกันคัดค้านระบอบปกครองทหารพม่า รวมทั้งคัดค้านข้อเสนอให้จัดตั้งกองกำลังรักษาชายแดน แต่เพิ่งมีการประกาศการจัดตั้งนี้ในเดือนสิงหาคม เมื่อตอนที่ความตึงเครียดระหว่าง MNDAA ที่นำโดยพวกโกก้าง กับฝ่ายทหารพม่าเริ่มที่จะเขม็งเกลียวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น กลุ่มหยุดยิงอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กองทัพรัฐชาน (เหนือ) Shan State Army (North) ซึ่งตั้งฐานอยู่บริเวณตอนกลางของรัฐชาน ก็เชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกันพันธมิตรนี้ด้วยเช่นกัน

ฝ่ายทหารพม่าตระหนักเป็นอย่างดีว่า MNDAA (นำโดยโกก้าง) คือห่วงโซ่ที่อ่อนแอที่สุดในพันธมิตรหลวมๆ นี้ ด้วยการฉกฉวยใช้ประโยชน์จากการที่คณะผู้นำชาวโกก้างเกิดความแตกแยกกันในจุดยืนเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องกองกำลังรักษาชายแดน ระบอบปกครองพม่าก็สามารถเคลื่อนไหวเข้าโจมตี MNDAA ได้อย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม และขับไล่ผลักดันพวกเขาออกจากเมืองหลวงของพวกเขา ข้ามชายแดนเข้าไปในจีน หรือบางส่วนก็แตกกระเส็นกระสายไปอยู่ตามเขตภูเขารอบๆ ในเวลาเพียงแค่ 2 วัน

การโจมตีคราวนี้ยังเป็นการทดสอบความตั้งใจแน่วแน่ของกองกำลัง UWSA (ว้า) ที่มีนักรบกว่า 20,000 คน ว่าจะมาช่วยเหลือหุ้นส่วนพันธมิตรรายนี้ที่อยู่ใกล้เคียงกันกับพวกเขาหรือไม่ ก่อนหน้านี้ทางพันธมิตรมีการพูดอวดกันว่า การจับมือร่วมใจกันของพวกเขาคือสัญญาค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยของกันและกัน ทว่าเมื่อเข้าสู่สภาพเงื่อนไขในสมรภูมิจริงๆ มันก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ถึงแม้ในตอนแรกมีกำลังนักรบ UWSA ราว 500 คนจากกองพล 318 ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ น้ำเทือก (Namteuk) ทางตอนเหนือ ได้ถูกส่งมาเสริมกำลังฝ่ายโกก้าง แต่แล้ววันรุ่งขึ้นกำลังเหล่านี้ก็ถอนตัวกลับไปยังดินแดนที่พวกว้าควบคุมอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำน้ำทิง (Namting)

นักเฝ้ามองพม่าบางรายเห็นการล่าถอยในทางยุทธวิธีคราวนี้ว่า แสดงถึงความไม่ได้ตั้งใจที่จะช่วยเหลือจริงๆ ของ UWSA การประเมินเช่นนี้ทางกองทัพพม่าเวลานี้ก็น่าจะเห็นในทำนองเดียวกัน ขณะเดียวกัน ถึงตอนนี้พวกนายพลของพม่าก็น่าจะได้แนวความคิดบางประการ ว่าจีนจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร หากเกิดมีการรุกโจมตีพวกกลุ่มหยุดยิงกลุ่มอื่นๆ อีก

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความสำเร็จจากการโจมตีพวกโกก้าง ได้ทำให้ฝ่ายทหารพม่าเพิ่มความได้เปรียบอะไรขึ้นมาในสมรภูมิ แต่พวกเขาก็ได้มีการเสริมกำลังหน่วยรบต่างๆ ที่กำลังเผชิญหน้าที่มั่นของพวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นๆ เป็นต้นว่า มีการเพิ่มปืนใหญ่และรถถังที่ตั้งประจัน NDAA (ชาน) และ UWSA (ว้า) ตามแนวชายแดนติดกับจีนและกับไทย อันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า กองทัพพม่าเชื่อว่าตนเองกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ยังคงข้องใจว่า ฝ่ายทหารพม่าจะสามารถเปิดการรุกรบอย่างเต็มที่เข้าใส่บรรดากลุ่มหยุดยิง แล้วประคับประคองรักษาสถานการณ์ให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไปจนตลอดถึงการเลือกตั้งในปีหน้าได้หรือไม่ ทั้งนี้ในพันธมิตรของกลุ่มหยุดยิงต่างๆ ทางภาคเหนือนั้น UWSA (ว้า) และ KIA (กะฉิ่น) ถือว่าปรปักษ์ที่น่าเกรงขามกว่า MNDAA (นำโดยโกก้าง) เป็นอย่างมาก UWSA มีกำลังทหาร 20,000 – 25,000 คน สนับสนุนด้วยอาวุธหนักอย่างปืนครก, ปืนใหญ่, และปืนต่อสู้อากาศยาน ส่วน KIA มีนักรบราว 5,000 คนที่ติดอาวุธครบครัน และเมื่อก่อนได้เคยตรึงกองทัพพม่าจนเคลื่อนไหวไม่ออกเป็นเวลาร่วมๆ 20 ปี

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองชาวไทยผู้หนึ่งที่พูดโดยขอมิให้เปิดเผยนาม เชื่อว่าฝ่ายทหารพม่าอาจต้องใช้เวลาทำการสู้รบอย่างหนักหน่วงถึง 1 ทศวรรษหรือกว่านั้น จึงจะสามารถปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ลงได้ในที่สุด ตลอดช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 นักรบชาวว้าได้เคยสู้รบตามแบบแผนอย่างดุเดือดนองเลือดกับกองทัพพม่า โดยตอนนี้พวกเขาเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เวลานี้พวกว้าประกอบอาวุธดียิ่งกว่าเมื่อตอนนั้นอีก กระทั่งปราศจากความช่วยเหลือจากจีน ทั้ง KIA (กะฉิ่น) , UWSA (ว้า) , และ NDAA (ชาน) ก็ยังสามารถนำยุทธศาสตร์แบบจรยุทธ์มาใช้เพื่อทำให้การสู้รบยืดเยื้อ

นอกจากนั้นกองทัพพม่ายังจะต้องพะว้าพะวังกับกองกำลังอาวุธของกลุ่มชนชาติที่ยังไม่ยอมหยุดยิงหลายๆ กลุ่มตรงบริเวณพรมแดนไทย-พม่า โดยมีทั้งพวกกะเหรี่ยง, กะยา (Karenni), และชาน เป็นเสมือนหนามแหลมที่คอยทิ่มแทงระบอบปกครองพม่าอยู่ทางอีกฟากหนึ่ง ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้กำลังสูญเสียพื้นที่ไปจำนวนมาก และค่อนข้างจะถูกปฏิเสธไม่ใยดีจากไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นกรุงเทพฯได้ให้ความสนับสนุนพวกกลุ่มชนชาติตามแนวชายแดนของตน เพื่อมุ่งให้เป็นกันชนในการรับมือกับพม่า แต่เวลานี้ไทยกลับมีการติดต่อสมาคมทางด้านการพาณิชย์กับระบอบปกครองพม่า รวมทั้งมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งด้วย

**ความขัดแย้งที่ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น**

เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามอันยืดเยื้อ โดยที่กองทัพพม่าได้เปิดฉากลงมือเล่นงาน MNDAA (นำโดยโกก้าง) ไปแล้วด้วย ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เป็นไปได้ยากเหลือเกินที่ฝ่ายทหารพม่าจะสามารถสำแดงอำนาจเข้าควบคุมเขตหยุดยิงต่างๆ เอาไว้ได้ก่อนจะถึงการเลือกตั้งปี 2010 นอกจากนั้น การที่ต้องใช้ทหารจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับพวกผู้ก่อความไม่สงบ ยังจะลดทอนความสามารถของระบอบปกครองนี้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วยซ้ำ

คณะทหารผู้ปกครองพม่ายังมีความหวาดหวั่นด้วยว่า อาจจะเกิดความไม่สงบของประชาชนตามเมืองใหญ่แพร่กระจายไปในวงกว้าง แบบที่ปรากฏใน “การปฏิวัติผ้าเหลือง” ที่นำโดยพระสงฆ์ชาวพุทธเมื่อปี 2007 โดยที่นักเฝ้ามองพม่าบางรายเชื่อว่า เวลานี้ข้างในใต้เปลือกนอกลงไปก็ยังคงมีความระอุคุกรุ่นกันอยู่ ดังนั้น ระบอบปกครองนี้จึงจำเป็นต้องมีกองกำลังความมั่นคงขนาดใหญ่ออกมารักษาการณ์ทั้งภายในและรอบๆ ตัวเมืองใหญ่ต่างๆ เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามการประท้วงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น กลุ่มหยุดยิงตามส่วนอื่นๆ ของประเทศ ก็รู้สึกไม่พอใจข้อเรียกร้องเรื่องกองกำลังรักษาชายแดน ตลอดจนหลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเขาอาจจะมองเห็นการสู้รบที่ปะทุขึ้นอีกในภาคเหนือ เป็นโอกาสที่พวกเขาจะฟื้นฟูการต่อสู้ด้วยอาวุธของพวกเขาเอง พวกนักวิเคราะห์บอกว่า กลุ่มที่อยู่ในสภาพดังกล่าวนี้ ก็มีอย่างเช่น พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอเรื่องกองรักษาชายแดน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นตัวแทนของชนชาติส่วนน้อยกลุ่มย่อมๆ ลงมา เป็นต้นว่า กะยา และพวกปะโอ (Pa-O)ในภาคตะวันออกของพม่า

ขณะเดียวกัน การที่กองทัพต้องเคลื่อนทหารไปยังภาคเหนือ ก็จะทำให้กลุ่มที่ไม่ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงและกำลังประสบความยากลำบาก เป็นต้นว่า สหภาพชาติกะเหรียง (Karen National Union หรือ KNU) และ กองทัพรัฐชาน (ใต้) Shan State Army (South) มีเวลาหยุดพักหายใจและมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกองกำลังที่ทรุดโทรมของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง

ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดซึ่งอาจเกิดขึ้นมาได้สำหรับคณะทหารผู้ปกครองพม่าก็คือ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้เข้าร่วมกับพวกกลุ่มก่อความไม่สงบทางภาคเหนือ กลายเป็นพันธมิตรใหม่ที่กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้พันธมิตรลักษณะเช่นนี้ในอดีตจะไม่ค่อยสามารถทำอะไรได้จริงจัง อีกทั้งเวลานี้ยังมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้อย่างน้อยก็อีกช่วงเวลาหนึ่ง มันก็ยังเป็นภาพสมมุติสถานการณ์ที่ระบอบปกครองพม่าต้องรู้สึกผวา และต้องเร่งกระจายกองทหารภาคพื้นดินของตนออกไปจนสุดเหยียด

กระทั่งจีนเองในที่สุดแล้วก็อาจเลือกขอดูไพ่เพื่อจับการบลั้ฟของพม่า ขณะที่จีนมีท่าทีเต็มอกเต็มใจยอมรับผู้ลี้ภัยชาวโกก้างเข้าสู่แผ่นดินของตน แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปักกิ่งจะมีความอดกลั้นน้อยกว่ามาก ถ้าการค้าและการลงทุนต้องถูกรบกวนขัดขวาง จากการที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากๆ หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนจีนไม่ขาดสายสืบเนื่องจากการสงครามที่สู้รบกันอย่างดุดันจริงจังมากขึ้น หากจีนเพิ่มความสนับสนุนแก่กลุ่มชนชาติต่างๆ ก็จะทำให้การโจมตีของทหารพม่าต่อพื้นที่ชายแดนได้ผลลดน้อยลง อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะจุดชนวนให้แก่สงครามยืดเยื้อที่เห็นได้ชัดเจนว่า ระบอบปกครองที่กระเป๋าแห้งของพม่าไม่สามารถแบกรับไหว

นี่อาจหมายความว่า พวกนายพลพม่าต้องยินยอมให้กลุ่มชนชาติอื่นๆ รักษากองกำลังอาวุธของพวกเขา ตลอดจนรักษาฐานะการเป็นคู่ตกลงหยุดยิงกันไปก่อนจนกว่าจะภายหลังการเลือกตั้ง จากนั้นจึงผลักดันพวกเขาให้เจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่กับคณะรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดี ภาพสมมุติสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะกลายเป็นจริงได้ ย่อมหมายความว่าพวกนายพลพม่าทั้งหลายจะต้องยอมเก็บงำศักดิ์ศรีเกียรติภูมิทางทหารของพวกเขาเอาไว้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพวกเขาได้เคยแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแรงกล้าที่จะหลีกเลี่ยง

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนกัหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ อาจติดต่อกับเขาได้ที่ brianpm@comcast.net.
กำลังโหลดความคิดเห็น