xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละFTAอาเซียน-อินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-อินเดีย ในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า ถือเป็นอีกหนึ่ง FTA ที่ใช้ระยะเวลาในการเจรจายาวนานที่สุดก็ว่าได้ เพราะต้องใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าที่อาเซียนและอินเดียจะบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยสามารถเจรจากันได้สำเร็จก็เมื่อการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 13-16 ส.ค.2552 ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ผลจากการที่อาเซียน-อินเดีย สามารถบรรลุข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างกันได้นั้น จะเป็นแรงผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและอินเดียมีการขยายตัวได้มากขึ้น โดยคาดกันว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2559 หรืออีกใน 7 ปีข้างหน้า จากปีที่ผ่านมา การค้าอาเซียน-อินเดียมีมูลค่า 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเป็นการรวมกลุ่มของตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรสูงถึง 1,100 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในส่วนของไทย คาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ตามข้อตกลง อาเซียนและอินเดียได้ตกลงที่จะเริ่มลดภาษีในวันที่ 1 ม.ค.2553 โดยได้มีการจัดกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีและยกเลิกภาษีไว้ทั้งสิ้น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มสินค้าปกติ (Normal Track) จะทยอยลดภาษีลงเหลือ 0% สำหรับสินค้าอย่างน้อย 71% ของรายการสินค้าทั้งหมดในวันที่ 31 ธ.ค.2556 และอีก 9% ของรายการสินค้าทั้งหมดในวันที่ 31 ธ.ค.2559 ซึ่งจะต้องครอบคลุมมูลค่าการนำเข้าอย่างน้อย 75% โดยผ่อนผันให้ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนลดภาษีช้าลงได้ 5 ปี
ในกลุ่มนี้ สินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอินเดีย เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนแปรรูป และน้ำผลไม้ เป็นต้น
2.กลุ่มสินค้าไม่ลดภาษี (Exclusion List) เป็นสินค้าที่ไม่พร้อมลดภาษี ซึ่งจะมีไม่เกิน 489 รายการ และไม่เกินสัดส่วนของมูลค่าการนำเข้าจากอีกฝ่าย โดยไทยและอินเดียต่างไม่ลดภาษีสินค้าในสัดส่วนของมูลค่าการนำเข้าจากอีกฝ่ายเท่ากัน คือ 7.9% ตามสถิติการนำเข้าปี 2548 แต่ก็มีการเปิดโอกาสให้มีการหารือเพื่อลดภาษีภายใน 1 ปี หลังจากความตกลงการค้าสินค้ามีผลใช้บังคับแล้ว
ในกลุ่มนี้ สินค้าที่ไทยไม่ลดภาษี เช่น เนื้อโคกระบือแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม หอม กระเทียม ชา กาแฟ ไหมและผลิตภัณฑ์ ข้าว เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
3.กลุ่มสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List) เป็นสินค้าในส่วนที่เหลือ ได้กำหนดให้ลดภาษีลงเหลือในอัตราต่างๆ กัน รวมทั้งสินค้าอ่อนไหวสูง โดยสินค้าอ่อนไหวส่วนใหญ่จะทยอยลดภาษีเหลือ 5% ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2559
ในกลุ่มนี้ ไทยมีสินค้าอ่อนไหว เช่น ยาสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม กระจก และจักรยานยนต์ เป็นต้น แต่ไทยได้เจรจายืนยันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นและอินเดียยอมให้ไทยคงอัตราภาษีของสินค้าอ่อนไหวให้มีอัตราเท่าเดิมรวม 91 รายการ เพื่อชดเชยผลประโยชน์จากการที่อินเดียยกเลิกภาษีให้ไทยไม่มากนัก ซึ่งจะช่วยคุ้มครองภาษีของสินค้าอ่อนไหวของไทยได้มากรายการ เช่น กุ้ง แป้งข้าวสาลี หนังฟอก แผ่นเหล็กรีดร้อน แผ่นเหล็กรีดเย็น สิ่งทอ และเครื่องเขียน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นสินค้าที่จะมีการลดภาษี ยกเลิกภาษีภายใต้ความตกลงฯ แต่การจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ ต้องเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดของสินค้าภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจประเทศคู่เจรจาจะเป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างแท้จริง โดยสินค้าส่วนใหญ่จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไป (General Rule) คือ มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก และมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดีย (เรียกว่าสัดส่วนมูลค่าของอาเซียนหรือสัดส่วนมูลค่าของภูมิภาค) อย่างน้อย 35% ของราคาสินค้าที่ส่งมอบ ณ ท่าเรือต้นทาง
ส่วนสินค้าที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อกำหนดเกณฑ์เฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rule) ต่อไป
จะเห็นได้ว่า เมื่อ FTA อาเซียน-อินเดีย มีผลบังคับใช้ จะมีสินค้าเป็นจำนวนมากที่มีอัตราภาษีนำเข้าลดลง หรือยกเลิกภาษีนำเข้า จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องศึกษา เรียนรู้ และวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จาก FTA โดยต้องดูว่าสินค้าที่ตนเองผลิตได้นั้น เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มลดภาษีหรือไม่ และหากเข้าข่าย ก็จะต้องศึกษาต่อว่าการผลิตสินค้าเป็นไปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าหรือไม่ หากเข้าข่ายทั้ง 2 ข้อข้างต้น ก็สามารถที่จะขอใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลงฯ ในการส่งออกไปยังอินเดียได้
แต่หากยังมีข้อสงสัย ทั้งการลดภาษีสินค้า หรือกฎแหล่งกำเนิดสินค้า สามารถค้นหารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ www.dft.go.th หรือสอบถามที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือถ้าอยากจะคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ก็โทรสายตรงได้เลยที่ 0-2547-4872 เพราะทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่รัฐได้ชี้ช่องทางการค้า การขายไว้ให้แล้ว อยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยจะลุยต่อหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น