xs
xsm
sm
md
lg

ผวาการเมืองฉุดกำไรบจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ซีอีโอบริษัทจดทะเบียนไทย เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดปี 53 โต 0-2% แม้ปีนี้จะยังคงติดลบ 2-4% พร้อมห่วงปัจจัยเสี่ยง “เสถียรภาพการเมือง-ราคาวัตถุดิบพุ่ง” กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มผ่อนคลาย แต่ยังหวังรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ด้าน “กอบศักดิ์” เผยเอกชนเชื่อมั่นอัตราการขยายทางเศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าภาครัฐ
นางพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยถึง ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 “CEO Survey : Economic Outlook ครึ่งปีหลัง 2552” ว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มั่นใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีผู้บริหารบจ. คาดว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและต่อเนื่องจนถึงปี 2553 ในสัดส่วน 11% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
ขณะที่ผู้บริหารอีก 69% มองว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวบ้าง แต่ยังไม่เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และอีก 20% มองว่าเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัว โดยผู้บริหาร บจ. ส่วนใหญ่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโต 0-2% และเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 2-4% จากการสำรวจในเดือนมกราคา 52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวถึง 2-3%
สำหรับการสำรวจผู้บริหารบจ.ในครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 52 โดยมีผู้บริหารบจ. ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 120 บริษัท ใน 8 อุตสาหกรรม หรือคิดเป็นสัดส่วน 64% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ทั้งหมด
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมือง กำลังซื้อที่ลดลงภายในประเทศ แต่ถือว่าความกังวลในในปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวลดลงหากเทียบกับการสำรวจความเห็นครั้งก่อน (ม.ค. 52) ขณะที่ที่ผู้บริหารมีความกังวลมากขึ้น คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และปัญหาภาคการท่องเที่ยว
นางพ็ญศรี กล่าวว่า จากการสอบถามเรื่องความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ผู้บริหารกังวลใจมากสุดเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน ประกอบด้วย ปัจจัยทางการเมือง คิดเป็นสัดส่วน 60% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่ 44% รองมาคือ ราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน 31% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 7% ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงเป็น 27% จากเดิมที่ 52%
ขณะที่ผลการสำรวจด้านสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น ผู้บริหารบจ. เห็นว่าอยู่ในภาวะปกติ ถึง 64% และมีสภาพคล่องดีขึ้น และสภาพคล่องตึงตัวมาก ในสัดส่วน 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท คือ การถูกเร่งรัดหนี้สินให้คืนก่อนกำหนด 78% ไม่สามารถออกหุ้นกู้ 77% และปัญหาสินเชื่อการค้า 66%
ส่วนประเด็นมุมมองต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการไปแล้วนั้น พบว่า มีผู้บริหารในสัดส่วน 85% มองว่ามีผลบ้างต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 10% มีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก และ 5% ไม่มีผลเลย ส่วนผลงานของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบันนั้น 42% มองว่าเฉยๆ ขณะที่อีก 37% น่าพอใจและน่าพอใจมาก อีก 19% มองว่าไม่น่าพอใจ และ 2% มองว่าไม่น่าพอใจมาก
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันควรให้ความสำคัญ ตามลำดับ คือ การเร่งดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ การดูแลเสถียรภาพทางการเมือง การกระตุ้นการบริโภค การแก้ปัญหาสภาพคล่อง การส่งเสริมการทองเที่ยว การกระตุ้นการส่งออก การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การดูแลค่าเงินบาท ดูแลราคาสินค้าเกษตร และปรับโครงสร้างภาษี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนประเมินเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัวในอัตรา 0-2% ซึ่งต่ำกว่าหน่วยงานภาครัฐคาดการณ์ไว้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนยังไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันได้มองแนวโน้มของราคาวัตถุดิบในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบจ.ได้มั่นใจเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะอยู่ได้นานกว่าการสำรวจในครั้งก่อนหน้า
“แม้ผู้บริหารบจ. จะมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า แต่ประเด็นที่สำคัญคือรัฐบาลจะสร้างความมั่นใจต่อภาคเอกเชนให้เข้ามาลงทุนเพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยต่อเนื่องจากการดำเนินงานของรัฐบาลหรือไม่ สืบเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง จากเงินทุนที่มีอย่างจำกัดแค่ 1-2 ปีเท่านั้น ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องเข้ามาลงทุนกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป ขณะที่รัฐบาลเองจะต้องสร้างความมั่นใจแก่ภาคเอกชนให้มีการลงทุน และในปีหน้ารัฐบาลมีเงินจำนวน 1.43 ล้านล้านบาทที่จะมีการลงทุนในปี 2553-2554 จะนำไปใช้จ่ายอย่างไรเพื่อสร้างศักยภาพแข่งขันแก่เอกชนมากกว่า”
ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปหลังจากเกิดวิกฤติการเงินรอบนี้ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าบริโภคของประเทศที่พัฒนาแล้วจะลดลงหรือมีการขยายตัวช้าๆ การแข่งขันในเรื่องการค้าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ปรับตัวเพิ่มขึ้น และจากการที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าภูมิภาคอื่น ส่งผลให้จะมีเม็ดเงินการลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น