ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – จีน เร่งกรุยทางเปิดเส้นทาง R3b เชื่อมไทยผ่านพม่าอีกรอบ หลังปิดมานาน ผู้ว่าฯสิบสองปันนา ดึงไทยพม่า หวังเปิดใช้ภายในปีนี้ เพิ่มโครงข่ายคมนาคมเชื่อมจีนตอนใต้ครบทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ ขณะที่กลุ่มทุนท่องเที่ยวชายแดนเชียงราย ลุยต่อเรือสัญชาติไทยล่องน้ำโขงลำแรก
ระหว่างที่นางเตา หลินอิน ผู้ว่าเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะเดินทางเยือนไทย 23-30 สิงหาคม 2552 ผ่านเส้นทาง R3a (จีน ลาว ไทย) ส่วนหนึ่งของถนน “คุน-มั่ง กงลู่” นั้น ได้กล่าวถึงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมจีน-ไทย ว่า นอกจากเส้นทาง R3a ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ รอเพียงสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทยเท่านั้น และการคมนาคมทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงก็สามารถรองรับเรือขนาด 300 ตันได้ ขณะที่ China Eastern Airline ก็จะเปิดบินระหว่างคุนหมิง-เชียงรุ่ง(สิบสองปันนา)-กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 16 กันยายนที่จะถึงแล้ว
ล่าสุด ทางการจีนยังได้ประกาศยกระดับด่านต้าลั้ว หรือต้าล่อ (พรมแดนจีน-พม่า) จุดเชื่อมต่อจากชายแดนจีนเข้าสู่เส้นทาง R3b ที่จะผ่านเมืองลา – เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขึ้นเป็นด่านสากลแล้ว หลังจากที่มีคำสั่งปิดมานานกว่า 2 ปี
นางเตา หลินอิน บอกว่า ขณะนี้ จีน กำลังเจรจากับทางพม่า รวมถึงผู้นำเขตปกครองพิเศษที่ 4 ประเทศพม่า (อูไซลิน) ที่ปกครองพื้นที่เมืองลาอยู่ เพื่อให้เปิดใช้เส้นทาง R3b เพื่อขนถ่ายสินค้า – นักท่องเที่ยว ระหว่างกันได้ ซึ่งทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน จึงขอให้รัฐบาลไทย เจรจากับรัฐบาลพม่าอีกทางหนึ่งด้วย
“เรามุ่งหวังว่าจะเปิดเส้นทางสายนี้ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งในย่านนี้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น เสริมกับมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ ทั้งกรณีข้อตกลงจีน-อาเซียน ที่จะมีผลบังคับใช้ปีหน้า (2553) เป็นต้นไป รวมถึงข้อเสนอให้ใช้บอร์เดอร์พาสต์แทนพาสปอร์ต-วีซ่า สำหรับชาวจีนที่ต้องการเดินทางเข้าไทยผ่านชายแดนด้านนี้ ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลปักกิ่งตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว”
ถนน R3b เริ่มต้นจากท่าขี้เหล็ก รัฐฉานของพม่า (ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย) เชียงตุง-เมืองลา (ชายแดนพม่า-จีน) ระยะทาง 253 กิโลเมตร เชื่อมต่อเข้ากับถนนในจีนที่ต้าลั้ว-เชียงรุ่ง เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา แม้ว่าการพัฒนาเส้นทางจะเสร็จสมบูรณ์เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร ตั้งแต่ปลายปี 2547 โดยส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของบริษัท หงปัง อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด กิจการในเครือข่ายของกลุ่มว้าแล้วก็ตาม แต่การใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งจากจีน-ไทย และไทย-จีน ยังมีปัญหาอยู่ คือ "ด่าน" ที่มีมากกว่า 10 จุด เป็นด่านหลัก 3 ด่าน
โดยเฉพาะช่วงท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ระยะทาง 163 กิโลเมตร ที่เป็นช่วงที่บริษัทหงปัง รับสัมปทานมาจากรัฐบาลพม่า
ส่วนช่วงเชียงตุง-เมืองลา ระยะทาง 90 กิโลเมตร รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน แม้มีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางเพียง 3 ด่านคือ ก่อนออก เชียงตุง, ตะปิง และด่านเมืองลา ของเขตปกครองพิเศษที่ 4 กลุ่มอูไซลิน เท่านั้นก็ตาม แต่เส้นทางลัดเลาะตามเทือกเขาสูงชัน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายผ่านทางตลอดเส้นทางแล้ว หากเป็นสินค้าไทยจะมีต้นทุนค่าผ่านทางสูงถึง 50% ของมูลค่าสินค้า ขณะที่ของจีนจะมีต้นทุนอยู่ที่ 1 ใน 3
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดใช้ถนนเส้นนี้เต็มตัวตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เส้นทางสายนี้ไม่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าเท่าใดนัก จะมีเพียงการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเท่านั้น แต่หลังจากวิกฤตโรคซาร์สเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา จีนได้ปิดด่านต้าลั้ว ตรงข้ามเมืองลาของพม่า ทำให้ธุรกรรมผ่านเส้นทาง R3b เงียบเหงาลงอย่างรวดเร็ว
รวมถึง "เมืองลา" เขตปกครองพิเศษที่ 4 ของ "อูไซลิน" ที่ก่อนหน้านี้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของเส้นทางสายนี้ มีบ่อนกาสิโนขนาดใหญ่หรูหราหลายแห่งที่เคยคลาคล่ำไปด้วยนักพนันชาวจีน ก็พลอยเงียบเหงาลงไปด้วยเช่นกัน
ขณะที่ น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา ประธานกรรมการบริษัทแม่โขงเดลต้าทราเวล จำกัด ผู้ประกอบการนำเที่ยวในย่านสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย พม่า ลาว จีน) ที่มีกองเรือร่วมทุนกับเอกชนจีน และมีเรือโดยสารวิ่งขึ้นลงระหว่างเชียงรุ่ง – เชียงแสน สัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ไป-กลับ) เปิดเผยว่า เดิมทีมีข่าวว่าพม่าจะเปิดใช้เส้นทาง R3b ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งต้องดูว่า พม่าจะเจรจากับผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 (อูไซลิน) อย่างไร
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนต่อเรือสัญชาติไทยขึ้นมาให้บริการในแม่น้ำโขงในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้ได้ต่อเรือลำแรกเสร็จแล้ว เป็นเรือขนาด 120 ที่นั่ง กว้าง 5 เมตร ยาว 41 เมตร กินน้ำลึก 60 เซนติเมตร เพิ่งรับมอบมาตกแต่งภายในที่เชียงแสน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้เอง
เธอ บอกว่า เรือลำนี้จะจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติไทยลำแรกในแม่น้ำโขง ถ้าวิ่งขึ้นไปเชียงรุ่ง จะใช้กัปตัน-คนเรือ ชาวจีน แต่ถ้าวิ่งไปหลวงพระบาง สปป.ลาว จะใช้กัปตัน-คนเรือ เป็นคนลาว ส่วนพนักงานบริการบนเรือจะใช้คนไทยทั้งหมด เพราะมีทักษะการให้บริการที่ดีกว่า