xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดสินค้าไทยในพม่ากระเทือนจีนรุก-ยึดศูนย์กลางค้าหยกอัญมณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สินค้าไทยในตลาดพม่าหดหายไม่หยุด จากเดิมที่เคยยึดตลาดพม่าได้กว่า 80%ในช่วงก่อนปี 33 มาวันนี้เหลือไม่ถึง 30% ขณะที่จีนกลับครองตลาดส่วนใหญ่แทน เช่นเดียวกับความเป็น “ศูนย์กลางการค้าหยก-อัญมณี” ของ “แม่สอด แม่สาย เชียงใหม่” หลายสิบปีก่อน ล่าสุดกลับไปรวมศูนย์อยู่ที่ชายแดนจีนแล้ว

ระหว่างเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าพม่า-จีน 2008 ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ (ชายแดนจีน – พม่า) ของคณะผู้แทนจากจังหวัดตากนั้น นายสาโรช แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายปณิธิ ตั้งผาติ ประธานประชาคมตาก/ที่ปรึกษาหอการค้าฯตาก และนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอฯตาก ฯลฯได้พยายามสำรวจตลาดสินค้าไทย ณ หัวเมืองชายแดนพม่า-จีนแห่งนี้ หลังจากที่หลายสิบปีก่อนสินค้าไทยที่ส่งออกผ่านแม่สอด สามารถส่งขึ้นมาจำหน่ายได้อย่างทั่วถึงด้วย

นายปณิธิ กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า ในช่วงก่อนปี 1990 หรือปี 2533 สินค้าไทย ที่ส่งออกผ่านชายแดนต่าง ๆ ทั้งระนอง , กาญจนบุรี , แม่สอด จ.ตาก ,แม่ฮ่องสอน ,แม่สาย จ.เชียงราย สามารถครองตลาดพม่ามากกว่า 80% มูลค่าการค้าต่อจุดทั้งในและนอกระบบ มากกว่า 20,000 ล้านบาท/ปี มีทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า ทุกประเภท สินค้าบางส่วนถูกส่งผ่านพม่าเข้าไปจำหน่ายถึงอินเดีย – สป.จีน ผ่านพรมแดนพม่า

แต่หลังจากจีนเริ่มเปิดพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ที่โดยนโยบายแล้วเริ่มมาตั้งแต่ปี 1985 แต่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมช่วงปี 1995 เป็นต้นมา พร้อมกับเข้าไปให้การช่วยเหลือพม่าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน – ระบบคมนาคม ทำให้ สป.จีน สามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน สินค้าจีนมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50-60%แล้ว ส่วนของไทย ถือครองส่วนแบ่งอยู่ไม่เกิน 20-30%เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นสินค้าจากมาเลย์ สิงคโปร์ และบางส่วนจะเป็นสินค้าที่พม่าผลิตขึ้นเอง รวมถึงยี่ห้อไทยที่ผลิตในจีน เป็นต้น

“อย่างตลาดมูเซ ชายแดนพม่า-จีน ที่ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ มากกว่า 30-40 ชม. สมัยก่อนเราก็มีลูกค้า ที่สั่งซื้อสินค้าจากแม่สอดเข้ามาขาย แต่ตอนนี้เขาหันไปนำเข้าจากจีนหมด ซึ่งต่อไปแม้จะเหลือช่องว่างอยู่บ้าง แต่เราคงต้องทำตลาดคุณภาพมากขึ้น” นายปณิธิ กล่าว

ทำนองเดียวกับนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าตาก ที่ออกสำรวจสินค้าไทยบนแผงจำหน่ายสินค้า – โชวห่วยในเมืองมูเซ ร่วมกับนายสาโรช แสงอรุณ รองผู้ว่าฯตาก ที่บอกว่า ที่เห็นเหลืออยู่บนแผงตอนนี้ก็มีเครื่องสำอางค์นีเวีย บะหมี่ยำยำ – ไวไว ปฏิทินน่ำเอี้ยง ขณะที่ขนมเวเฟอร์บางอย่างที่แม้ว่าจะตีตรายี่ห้อไทย แต่ไม่แน่ใจว่านำเข้าจากไทยหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น “มาม่า – ยำยำ” ก็มีสินค้าเลียนแบบในพม่า มีผู้ประกอบการผลิตขึ้นในแบรนด์นี้เข้าร่วมเปิดบูธในงานแสดงสินค้าพม่า-จีน 2008 ณ เมืองมูเซ ประเทศพม่าด้วย ซึ่งปรากฏว่า ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างหนาแน่น โดยที่ไม่ต้องมีโปรโมชั่นพิเศษ หรือพริตตี้แนะนำสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายเปิดพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ สป.จีน ในกรณีที่ติดกับพม่านี้ ยังมีผลกระทบต่อทิศทางการซื้อขายหยก-อัญมณี จากแหล่งผลิตในพม่า ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นแหล่งอัญมณีที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะ “ทับทิมสีเลือดนก” ที่ช่วงตั้งแต่ปี 1960 – 1980 เคยมีศูนย์กลางการซื้อขายใหญ่อยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย , อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.เชียงใหม่ มีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้นหลายหมื่นล้านบาท/ปี โดยปัจจุบันจีน เปิดรับซื้อแบบไม่อั้น ไม่สนใจว่า สภาคองเกรสของอเมริกา – กลุ่มสหภาพยุโรป ฯลฯ จะบอยคอตอัญมณีพม่า ห้ามนำเข้าโดยตรง หรือผ่านการเจียระไน จากประเทศที่ 3 ก็ตาม ทำให้ศูนย์กลางการซื้อขายหยก-อัญมณี จากพม่า ย้ายมาอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว – เมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ มณฑลหยุนหนัน สป.จีน แทนแล้ว

ประกอบกับการสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบนำหยก-ทับทิม และอัญมณีอื่น ๆ ออกมาจำหน่ายในตลาดมืดผ่านชายแดนต่าง ๆ เช่นเคย โดยจัดงานแสดง – ประมูลอัญมณี ขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้งที่ร่างกุ้ง เพื่อดึงดูดลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไทย

สำหรับบริเวณ 2 ฝั่งถนนจีน – พม่า (จงเหมี่ยน เจี่ย) ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว นอกจากจะมีร้านจำหน่ายหยกชั้นดีจากพม่า ในราคาต่ำกว่า ที่วางจำหน่ายกันที่ แม่สอด แม่สาย กว่าครึ่งเท่าตัวแล้ว ในเขตเมืองรุ่ยลี่ ก็มีการจัดพื้นที่เป็น “ถนนอัญมณี” ที่มีผู้ประกอบการจำหน่ายมากกว่า 400-500 รายขึ้นไป

“สมัยก่อนพ่อค้าอัญมณีจากฮ่องกง – ไต้หวัน ต้องมาเช่าโรงแรมในเชียงใหม่ หรือแม่สอด แม่สาย นอนกันเป็นเดือน ๆ เพื่อรอซื้อทับทิม – หยก จากพม่า ที่กลุ่มอดีตนายทหารจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) กองพล 93 บางคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาศัยสายสัมพันธ์ดั้งเดิมลักลอบนำเข้ามาขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งบางเม็ดมีมูลค่านับสิบ นับร้อยล้านบาท” นายปณิธิ กล่าว

หรือที่แม่สอด บริเวณถนนประสาทวิถี เขตเทศบาลเมืองแม่สอด หรือย่านสยามเจมส์เซ็นเตอร์ ในยุคการค้าอัญมณีรุ่งเรือง ก็จะคราคร่ำไปด้วย “กุลี หรือแกลี” ที่ลักลอบนำหยกชั้นดี – ทับทิมชั้นเลิศ จากบ่อหยก บ่อทับทิมในพม่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยในพม่า เข้ามาส่งให้กับพ่อค้าคนกลางที่แม่สอดเลือกซื้อ โดยกลุ่มพ่อค้าคนกลางจะจ่ายเงินให้ไปก่อน 5-15% เพื่อให้ “กุลี” ชาวพม่านำไปสมทบกับทุนส่วนตัวซื้อหยกมาให้ตามออเดอร์ เมื่อส่งของถึงมือก็จะได้รับเงินส่วนที่เหลือ ป้องกันการฉ้อโกง

“ตอนนี้แถบสยามเจมส์เซ็นเตอร์ แม้ยังมีการค้าอัญมณี หยกจากพม่ากันอยู่ แต่ก็เป็นเพียงกิจกรรมการขายให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น การซื้อขายรายใหญ่ หรืออัญมณีชั้นดีไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว” นายบรรพต กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อฟื้นฟูภาพแห่งการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหยก-อัญมณีพม่าของแม่สอดในอดีต รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ – การท่องเที่ยวของชายแดนแม่สอด จ.ตาก พาณิชย์จังหวัด – สภาอุตสาหกรรม จ.ตาก และหอการค้าฯตาก ได้ร่วมกันจัดงาน “เปิดตลาดพลอยและอัญมณีแม่สอด” ขึ้นระหว่าง 6-8 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ย่านสยามเจมส์เซนเตอร์ ถนนประสาทวิถี เขตเทศบาลเมืองแม่สอด แหล่งค้าขายหยกพม่าแต่ดั้งเดิม

โดยระดมผู้ประกอบการที่มีอยู่ร่วม ๆ 160-200 ราย ร่วมออกร้านจำหน่ายอัญมณี-เครื่องประดับ พร้อมกับกิจกรรมเดินแบบที่แต่งกายด้วยเครื่องประดับที่สวยงาม

เขาคาดหวังว่า งานนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าอัญมณีให้กลับคืนมาสู่แม่สอด และหากนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชอบซื้อสินค้าอัญมณีเครื่องประดับ ไม่มั่นใจหรือคิดว่าปลอมสามารถคืนได้ทุกชิ้น โดยหอการค้าจังหวัดตาก รับเป็นสื่อกลางในการร่วมกับผู้ประกอบการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าจากสถาบันรับรองมาตรฐานสินค้าอัญมณี สินค้าทุกชิ้นจะซื้อ-ขายกันในราคาที่พึงพอใจระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยการดูแลของพาณิชย์จังหวัด-หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมตาก

ขณะที่ น.ส.พัชรี พงษ์พิทักษ์ พาณิชย์จังหวัดตาก คาดหวังว่า จะนำตลาดพลอย-อัญมณีแม่สอด ให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่จัดงานกระตุ้นครั้งนี้แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น