xs
xsm
sm
md
lg

ติงกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบ วรรณรัตน์ยันพึ่งน้ำมัน-ก๊าซเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-  “วรรณรัตน์” ติงกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบไม่เลือกสักอย่างเสี่ยงอันตราย แจงน้ำมันมีแต่แพงสำรองโลกอีก 30 ปีก็เริ่มหมดอ่าวไทยปี 2553 นับถอยหลังหมดก่อน ก๊าซใช้สูงเกินไปแล้วถึง 70% แถมต้องพึ่งพิงนำเข้า หวังลุ้นถ่านหิน-นิวเคลียร์เข้าเสริมแต่ยังไม่รู้ชะตากรรม

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเทคโนโลยีพลังงาน ฝ่าวิกฤตการเงิน ที่จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) วานนี้(27ส.ค.) ว่า  นโยบายและแผนพลังงานประเทศมีความพยายามที่จะลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันด้วยการหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่วนไฟฟ้าได้กำหนดที่จะใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์ในระยะยาวแต่ยอมรับว่าแผนที่กำหนดก็ยังคงมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟที่สูงซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยมากกว่า 70% ทำให้ระยะยาวไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง

“ เวลานี้การสร้างโรงไฟฟ้าอะไรๆกลุ่มเอ็นจีโอ ก็ไม่เอาสักอย่างไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ แบบนี้น่าเป็นห่วงเพราะแม้ว่าเวลานี้การใช้ไฟของไทยจะไม่ได้สูงมากขึ้นแต่หากเศรษฐกิจฟื้นจะมีปัญหาได้ต้องคิดและมองให้ไกลเพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา”รมว.พลังงานกล่าว

ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นประเมินว่าจะถึงจุดสูงสุด(พีค)ในปี 2555-2556 และหลังจากนั้นจะยอยหมดลงภายใน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ก๊าซฯในโลกจะหมดลงในอีก 60-70 ปีข้างหน้า น้ำมันจะหมดลง 30-40 ปีข้างหน้า ถ่านหินมากกว่า 100 ปี จะเห็นว่าหากการผลิตไฟหันไปพึ่งพิงน้ำมันก็จะมีปัญหาราคาแพงมากแต่การใช้น้ำมันมากขึ้นก็จะเร่งให้ก๊าซฯหมดลงเร็วตามมาเช่นกันการวางแผนพลังงานจึงต้องคำนึงถึงปริมาณเชื้อเพลิงของโลกและความมั่นคงประกอบด้วย

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวนแต่เชื่อว่าโอกาสจะกลับไปเห็นราคาน้ำมันดิบในระดับ 30 กว่าเหรียญต่อสหรัฐเช่นอดีตคงไม่มีอีกแล้วและจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปและยังมีโอกาสที่จะเห็นวิกฤติน้ำมันได้อีกเช่นกันเนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในโลกเริ่มลดลงและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจะกดดันให้ราคาขยับสูง

อย่างไรก็ตาม กรณีน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงมาเหลือ 70 เหรียญต่อบาร์เรลส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันของผู้ค้าอยู่ในระดับ 1 บาทกว่าต่อลิตร ก็ยังถือว่าไม่สูงนัก

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานปีที่แล้วสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาทโดยนำเข้าน้ำมันสูงถึง 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจสูงถึง 6 แสนล้านบาท และการใช้พลังงานเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.2-1.3 ต่อ 1 ซึ่งปกติควรเป็น 1 ต่อ 1 ชี้ให้เห็นว่าไทยยังใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)กล่าวว่า ราคาน้ำมันยังผันผวนตามข่าวรายวันแต่เฉลี่ยน้ำมันดิบปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 70-80 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนโอกาสจะเห็น 100 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น ต้องเป็นปัจจัยที่ไม่คาดคิดเช่น การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง สงคราม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น