xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.คาดหวัง ธปท.ดูแลค่าเงินบาท แนะรัฐอุดหนุนพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธาน ส.อ.ท. ฝากความหวัง ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคการส่งออก แนะรัฐหนุนการเงินพลังงานทดแทน ก่อนต่างชาติเข้ามาฉวยประโยชน์

นายสันติ วิลาสศักดานท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ส่งออก เพราะทำให้ภาระต้นทุนมากขึ้น โดยค่าเงินที่ผู้ส่งออกยอมรับได้ควรเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แม้ว่ายังไม่ผันผวนมาก แต่ก็ทำให้ภาคส่งออกต้องทำงานหนักขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการที่มีเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวน รวมทั้งต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะต้องดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการเก็งกำไรค่าเงินเกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูแลไม่ให้ผู้ส่งออกเดือดร้อน ส่วนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น หากไม่สูงกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังไม่มีปัญหาด้านต้นทุนมากนักยังยอมรับได้ และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะไม่ลดต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อีกแล้ว ที่สำคัญการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นน่าจะชี้ได้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้น

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนเองได้เสนอปัญหาเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ต่อรัฐบาล โดยเสนอทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากรณีการขาดการสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มนี้ ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต

นายพิชัยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำหนดแล้วว่าในแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน 15 ปี จะมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ แต่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้ ทำให้นักลงทุนไทยไม่มีเม็ดเงินลงทุน ต้องไปเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วย เช่น โรงไฟฟ้าขยะที่ภูเก็ต และเชียงใหม่ เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มทุนจากมาเลเซีย และเกาหลีใต้ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นต้น

“ประเทศไทยมีพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลส่งเสริมทั้งการให้ค่าส่วนเพิ่ม (adder) และให้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 20-25 ปี ภาคเอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุน แต่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นธุรกิจของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับว่าจะเข้ามาช่วยดูแลให้”

ทั้งนี้ นายพิชัยกล่าวในระหว่างการร่วมเสวนาโต๊ะกลม เรื่องทางเลือกพลังงานของประเทศไทยในอนาคต ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวแทนของภาครัฐ/เอกชน และองค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) เข้าร่วม ซึ่งตัวแทนเอ็นจีโอ ยังคงติติงเรื่องการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ระยะยาว 15 ปีของประทศ ว่าเน้นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินไป จนทำให้เกิดสำรองไฟฟ้าในปริมาณสูงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น ในขณะที่ตัวแทนกระทรวงพลังงานระบุ สำรองไฟฟ้าที่สูงถึงร้อยละ 27 ในขณะนี้เกิดจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การวางแผนต้องเดินหน้าต่อไป รองรับช่วงเศรษฐกิจพลิกฟื้น เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยแผนอาจจะมีการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม รวมไปถึงเรื่องการปิดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร็วขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น