xs
xsm
sm
md
lg

การนิรโทษกรรมในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ตามที่พรรคภูมิใจไทยภายใต้อิทธิพลของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งใช้กลยุทธ์จิ้งจกปรับสี จากทายาททักษิณ กลายเป็นเทพบุตรประชาธิปัตย์ ยกพวกมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในความรู้สึกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มประชากรที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ต้องย่อมเห็นว่าเป็นการดี เพราะมีลักษณะเป็นยุทธศาสตร์ WIN-WIN-WIN กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องพอใจเพราะจะได้มีโอกาสพักรบกับกลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยแห่งระบบทักษิณเพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว พธม.เสียพลังไปพอสมควร

เมื่อต้องประท้วงขับไล่รัฐบาลหุ่นของทักษิณ ทั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยคนสำคัญของทักษิณ ซึ่งทั้งสองแพ้ภัยตัวเอง และทำให้ประชาชนเห็นชาติกำเนิดภายในของคนทั้งสองที่ไม่ได้รักชาติจริงเหมือนนักการเมืองที่ยอมเสียสละโอกาสและอำนาจในอดีต เพียงแต่มีทิฐิวิปลาสหรืออาจเข้าถึงขั้นทิฐิวิบัติก็ว่าได้ เพราะรู้ว่าเป็นบาป เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่จำเป็นต้องทำบาปเหล่านั้นเพราะอำนาจทักษิณ และคิดว่าบาปนั้นไม่เป็นไร เช่น ปล่อยให้ฝ่ายทักษิณทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้งจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แต่รัฐบาลทั้งสองไม่พยายามที่จะป้องกันอย่างจริงใจ ตลอดจนการใช้กำลังตำรวจทำลายฝูงชนอย่างบ้าเลือด ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างอเนจอนาถจนภาพเหล่านั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก เมื่อผู้บริสุทธิ์ถูกระเบิดแก๊สน้ำตาถึงขาขาด และถูกยิงตรงเข้าทรวงอกเสียชีวิต เป็นมลทินติดตัวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกจนวันตายของพวกเขา

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ย่อมดีใจที่พรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนเป็นรัฐบาล และประชาชนทั่วไปก็ร่วมอนุโมทนาไปด้วย เพราะความวุ่นวายทางการเมืองย่อมสงบลงในระดับหนึ่ง เพราะคนเสื้อเหลืองหรือ พธม. คงจะยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านกันและกันยาวนานเสียที และกลุ่มคนเสื้อแดงพิทักษ์ทักษิณ ก็ย่อมต้องหาประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาต่อต้าน และประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเกิดกรณีสงกรานต์เลือดเมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงบ้าคลั่งทำตามแรงปลุกระดมของทักษิณประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นอกจากนั้นแล้วกลุ่ม พธม.ก็ต้องดีใจที่เกิดความแตกแยกระหว่างนายเนวิน ชิดชอบ กับทักษิณซึ่งอาจทำให้ฐานเสียงในภาคอีสานบางส่วนถูกแบ่งสันปันส่วนใหม่ก็ได้

อิทธิพลนายเนวิน ชิดชอบ ยิ่งใหญ่พอสมควร เหมือนเป็นแม่เหล็กดูดให้พรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคภูมิใจไทยภายใต้ธงของนายเนวิน เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล และชี้นำรัฐบาลในหลายๆ นโยบาย โดยเฉพาะนโยบายใหญ่ๆ เช่น เรื่องรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ

จากกรณีที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยพร้อม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคมถึง 3 ธันวาคม 2551 และระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 เพื่อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งผู้ที่ออกคำสั่ง และรับคำสั่งไปปฏิบัติโดยไม่รวมถึงผู้ที่กระทำผิดทางการเมืองกรณียุบพรรคการเมืองทุกพรรค รวมผู้บริหารพรรคการเมืองเหล่านั้นรวม 220 คน หรือผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน

มีผู้วิจารณ์ถึงหมากการเมืองนี้น่าหนักใจ เพราะว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานขบวนการยุติธรรมใหม่ที่ไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยเลย เพราะการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมเฉพาะเหตุการณ์ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนั้นย่อมไม่เป็นธรรมกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผู้ถูกลงโทษไปแล้ว ทั้งพฤติกรรมและนิติกรรม

มีกรณีหลายกรณีคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับประชาชน เช่น กรณีศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องคดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พิพากษาให้ผู้ประท้วงชนะคดี และให้ สตช. จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งได้รับบาดเจ็บจำนวน 24 ราย รายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี

ซึ่งบทเรียนจากคดีนี้ทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นขบวนการที่ถูกต้องแล้ว และสามารถสร้างความยุติธรรมและความสมดุลในสังคมได้ เพราะหากรัฐใช้อำนาจที่มีอยู่เหนือประชาชนอยู่แล้ว แต่ขาดหลักประชาธิปไตยและลิดรอนอำนาจของประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รัฐนั้นย่อมเป็นรัฐเผด็จการเสมอ

หรือกรณีฝูงชนหนึ่งที่มีกำลังอำนาจมากกว่าอีกฝูงชนหนึ่ง ด้วยทั้งพลังอิทธิพลทางการเมือง อำนาจรัฐ และกำลังเงินก็สามารถใช้กฎหมู่ที่ขาดหลักประชาธิปไตยหรือไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการเคารพสิทธิคนอื่นใช้อำนาจทางกายภาพกดดัน ทำร้าย และขัดขวางการใช้สิทธิทางรัฐธรรมนูญของอีกฝ่ายหนึ่งที่ด้อยกำลังกว่าย่อมทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมเถื่อน

หรือกรณีที่พลังประชาชนสองกลุ่มมีพลังเท่ากัน และต้องการเอาชนะกันและกัน จึงก่อความไม่สงบรบราฆ่าฟันกันด้วยกำลังให้เป็นเครื่องตัดสินความขัดแย้งอย่างรุนแรงและมีการบาดเจ็บล้มตาย การสูญเสียมากมาย และเมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ทั้งสองฝ่ายก็ต้องรับโทษตามความผิดที่ก่อขึ้น จะยกโทษกันง่ายๆ ได้อย่างไร

ดังนั้น การนิรโทษกรรมเป็นหนทางที่ไม่ใช่หนทางของนิติรัฐที่จะให้บ้านเมืองสงบ บังเกิดสันติสุข และเมื่อบรรทัดฐานของขบวนการยุติธรรมถูกทำลายด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันอย่างฟุ่มเฟือยแล้ว ประเทศชาติจะเป็นนิติรัฐและมีความสงบสุขได้อย่างไร

ความคิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงหยิบมือ เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนหมู่มากแล้ว ย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ คนเพียงหยิบมือเดียวจะปรับเปลี่ยนวิธีการปกครองด้วยนิติรัฐได้อย่างไรจึงขอให้เลิกความคิดนั้นเสีย

การกระทำผิดย่อมต้องได้รับโทษตามกบิลกฎหมายบ้านเมือง ปล่อยให้ระบบยุติธรรมได้พิพากษาให้มีผู้ผิด ผู้ไม่ผิด หรือคดีไม่มีมูลให้เป็นไปตามการพิจารณาคดีความ มิฉะนั้นแล้วทั้งอดีต และอนาคตจะตกลงมาอยู่ในปัจจุบัน เช่น เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในอดีตที่รัฐกระทำต่อประชาชนอย่างอยุติธรรมจะเป็นเรื่องถูกต้องไปด้วย หรือกฎหมู่ที่ละเมิดสิทธิคนหมู่มากทำให้สาธารณชนขาดประโยชน์ ก็จะเป็นผู้ชนะไปด้วยเช่นกัน

ในประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมของไทยมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สำคัญอยู่ฉบับหนึ่ง ซึ่งต้องศึกษาคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ยกโทษให้ผู้รักชาติต่อต้านการรุกรานญี่ปุ่น ซึ่งขณะเกิดสงครามนั้นไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นคนไทยจึงต่อต้านญี่ปุน แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วอาชญากรที่กระทำการใดๆ ต่อต้านญี่ปุ่น ก็ได้รับการยกโทษเพราะเป็นการกระทำเพื่อส่วนรวม

และขณะนี้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ กำลังต่อต้านการแสดงความดีใจการปล่อยตัว อับเดลเบเซท อาลี อัล เมกราฮี (Abdel baset Ali Al Megrahi) ชาวลิเบียที่ศาลอังกฤษตัดสินปล่อยตัว เป็นมือวางระเบิดเครื่องบินโดยสารแพนอเมริกัน เที่ยวบินที่ 103 เหนือเมืองลอคเคอร์บี สกอตแลนด์ ใน ค.ศ. 1988 ทำให้มีคนตาย 270 คน ซึ่งประชาชนลิเบียต่างออกมาดีใจให้การต้อนรับ พร้อมทั้งแสดงความมีชัย เพราะนักโทษลิเบียป่วยเป็นมะเร็ง และจะต้องตายภายใน 6 เดือน แต่ญาติคนตายกล่าวว่า “ฆาตกรควรจะต้องตายในคุก” จึงจะเป็นการยุติธรรมหรือสำนวนภาษาอังกฤษว่า “The murderer should rot in Jail” จึงเป็นการไม่ยุติธรรมกับนักโทษการเมืองที่อดอาหารตายในคุกประท้วงอังกฤษเกี่ยวกับขบวนการพิจารณาคดีผู้ก่อการร้ายไออาร์เอซึ่งทางการอังกฤษปล่อยให้ตาย

คนผิดก็ต้องได้รับโทษจึงจะถูก แต่จะนิรโทษกรรมนั้นต้องเป็นกรณีที่สังคมยอมรับ มิใช่การออกกฎหมายเพียงเกมการเมืองด้วยคนเพียงหยิบมือเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น