xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเกณฑ์ประกันราคาข้าว รัฐจ่ายชดเชยพุ่ง4หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กขช.ถกอีกระรอกก่อนประกาศราคาประกันสินค้าเกษตรกร 3 รายการ เล็งปรับเกณฑ์รับประกันข้าวจากกำหนดปริมาณเป็นวงเงินไม่เกินรายละ 3.5 แสนบาทแทน หวั่นเกษตรกรเมินร่วมโครงการได้ต่ำกว่าราคาจำนำส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินชดเชยพุ่ง 4 หมื่นล้าน

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย ในวันคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)จะประชุมเพื่อพิจารณาประกาศราคาประกันสินค้าเกษตรที่รัฐบาลนำร่อง 3 ประเภท คือข้าวโพด มันสำปะหลังและข้าวเปลือก ซึ่งในการประชุมนั้นยังมีความเห็นและข้อเสนอที่แตกต่างกันบางประการ โดยเฉพาะการกำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่ใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการนั้น อาจเปลี่ยนจากกำหนดจำนวนตันเป็นวงเงินรวมที่เข้าร่วมโครงการแทน

เพราะการจำกัดปริมาณไว้สูงสุด 20 ตัน นั้นหากเป็นข้าวเปลือกตันละ 1 หมื่น บาทก็คิดเป็นเงินเพียง 2 แสนบาท แต่การจำนำก่อนหน้านี้เกษตรกรอาจเคยได้รับ 3.5 แสนบาท จึงอาจทำให้เกษตรกรรายใหญ่ไม่สนใจ จึงมีผู้เสนอให้จำกัดที่วงเงิน 3.5 แสนบาทต่อรายแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของที่ประชุม แต่หากมีการกำหนดวงเงินแทนก็อาจทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.5 หมื่นล้านบาทเป็น 4 หมื่นล้านบาท

“เม็ดเงินที่ใช้ดำเนินโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรจะมาจากโครงการไทยเข้มเพื่อใช้ในการแข็งชดเชยส่วนต่างให้ข้าวโพดและมันสำปะหลัง 1.85 หมื่นล้านบาท และข้าวที่กำหนดไว้เบื้องต้น 2.5 หมื่นล้านบาท หากต้องใช้เงินเพิ่มยังไม่แน่ใจว่าจะดึงเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งได้ทันทีหรือไม่ ธ.ก.ส.จึงต้องมีกันงบไว้ 1.2 แสนล้านบาทสำรองไว้ดำเนินโครงการ”นายเอ็นนูกล่าวและว่า ส่วนของราคาข้าวนั้นน่าจะเป็นไปตามข้อเสนอเดิม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ให้ราคาสูงถึง ตันละ 1.53 หมื่นบาทนั้นมีการบวกเพิ่มกำไรให้ถึง 40% เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวที่มีราคาและคุณภาพดีที่สุดมากขึ้น อีกทั้งผลผลิตที่ได้ต่อไร่ปัจจุบันยังค่อนข้างต่ำ

สำหรับการชดเชยส่วนต่างราคาข้าวที่รับประกันนั้นประเมินไว้ที่ 2 พันบาทต่อตันซึ่งเป็นส่วนต่างของราคาประกันกับราคาอ้างอิง(ราคาตลาด) จึงต้องประสานความร่วมมือกับสมาคมโรงสีที่เข้าร่วมโครงการให้เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรหากเห็นว่าส่วนต่างราคามีแนวโน้มจะห่างกันมากขึ้น เพื่อช่วยให้รัฐไม่ต้องแบกรับภาระการชดเชยมากนัก ซึ่งจากการหารือกับโรงสีทุกจังหวัดก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ โดยหลังจากกขช.ประกาศราคาประกันเกษตรกรก็สามารถยื่นขอเข้าโครงการได้ทันที โดยให้นำหนังสือรับรองพื้นที่การปลูกมาติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อจัดทำสัญญาประกันราคาพืชผลในแต่ละชนิดต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือก กข.15 ณ ความชื้น 15% ราคาประกันอยู่ที่ตันละ 15,300 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 13,300 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปี ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท ส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณความชื้น 14.5% ราคากิโลกรัมละ 7.10 บาท มันสำปะหลัง ณ เชื้อแป้ง 25% ราคาประกันกิโลกรัมละ1.70 บาท สำหรับเป้าหมายในการประกันราคาข้าวเปลือกมีเป้าหมายอยู่ที่ 23.5 ล้านตัน มันสำปะหลัง 29.7 ล้านตัน และข้าวโพด 4.25 ล้านตัน

สำหรับข้อเสนอเดิม เกษตรกรสามารถใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการส่วนของ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกกข.15 ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวหอมจังหวัด ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี ไม่เกิน 20 ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปี ไม่เกิน 20 ตัน ข้าวเปลือกเหนียวไม่เกิน 16 ตัน โดยเกษตรกรแต่ละครัวเรือนสามารถใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 ชนิดข้าวเปลือก แต่เมื่อรวมแต่ละชนิดแล้วต้องไม่เกิน20 ตัน ส่วนมันสำปะหลังไม่เกิน 100 ตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เกิน 20 ตัน

ขณะที่การกำหนดราคาอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำหนดราคาตลาดอ้างอิงทำหน้าที่กำหนดราคาตลาดอ้างอิงที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตรโดยกำหนดราคาตลาดอ้างอิงทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน และนำเสนอประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ประธานกรรมการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประธาน กขช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศราคาตลาดอ้างอิง

ส่วนระยะเวลาในการใช้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถใช้สิทธิประกันราคาได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552-กุมภาพันธ์ 2553 มันสำปะหลังใช้สิทธิประกันได้นับถัดจากทำสัญญา 45 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน และต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม2553 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้สิทธิการประกันได้หลังจากวันทำสัญญา 15 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือนและต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น