xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจ่าย 2 เด้งเซ่นประกันราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนระบบการแทรกแซงสินค้าเกษตรจากการรับจำนำ มาเป็นการประกันรายได้ให้กับเกษตร โดยนำร่องสินค้า 3 รายการ คือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที้ 1 ต.ค.2552 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมั่นใจว่าการใช้ระบบดังกล่าว จะช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการแทรกแซงสินค้าเกษตรลงมา และเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้หมดไป

แต่ทว่า หลังจากเริ่มดำเนินโครงการมาได้ไม่ถึงเดือน กลับมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากความไม่พร้อมของระบบการประกันรายได้เกษตรกร ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่จนถึงขณะนี้ทำออกมาดูดีก็เพียงแค่ข้าวโพด และมันสำปะหลัง

ข้อมูล ณ วันที่ 12 ต.ค.2552 ข้าวโพด มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 391,595 ครัวเรือน คิดเป็น 104% ผลผลิต 7.07 ล้านตัน ผ่านประชาคมแล้ว 99% หรือคิดเป็น 386,141 ครัวเรือน ทำสัญญาแล้ว 21,781 สัญญา มันสำปะหลัง ขึ้นทะเบียนแล้ว 435,193 ครัวเรือน คิดเป็น 113% ผลผลิต 31.950 ล้านตัน ผ่านประชาคมแล้ว 97% หรือ 422,738 ครัวเรือน ทำสัญญาแล้ว 11,922 สัญญา

ส่วนข้าว ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคส่วนนี้ และเป็นภาคการเกษตรที่มีปัญหามากที่สุดในแต่ละปี กลับมีการขึ้นทะเบียนเพียง 2.83 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 76% ผลผลิต 26.48 ล้านตัน ผ่านประชาคมแล้ว 57% หรือ 1.63 ล้านครัวเรือน แต่มีการทำสัญญาไปเพียง 2,960 สัญญา

ขณะที่ราคาประกันรายได้ ที่รัฐบาลมั่นใจนักมั่นใจหนาว่าจะเป็นระบบที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรของไทยในขณะนี้ กลับมีปัญหาตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยการประกาศราคาประกันงวดแรก วันที่ 1-15 ต.ค. ล่าช้าเป็นสัปดาห์ และเมื่อประกาศแล้ว เกษตรกร ก็ไม่ได้รับการชดเชย เพราะยังขึ้นทะเบียนกันไม่เสร็จ ยังไม่ผ่านประชาคม และยังไม่ได้ทำสัญญา พอมางวด 16-31 ต.ค. เกษตรกรก็ได้รับการชดเชยจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศ เหตุผลก็เพราะยังไม่ได้ทำสัญญา จากความไม่พร้อมของระบบประกันรายได้เกษตรกร ทำให้เป็นโอกาสทองที่พ่อค้าจะฉวยโอกาสกดราคารับซื้อจากเกษตรกร

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ ข้าว ที่ราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา จนขณะนี้ข้าวบางชนิดรัฐบาลต้องจ่ายชดเชยสูงถึงตันละ 2 พันกว่าบาท (ดูรายละเอียดราคาประกันรายได้ในล้อมกรอบ)



สาเหตุที่ราคาตกต่ำ เพราะพ่อค้ามองว่ารัฐบาลกำหนดราคาประกันรายได้ไว้สูง และในการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร ก็จะมีการประกาศราคาอ้างอิง 2 งวดในแต่ละเดือน ซึ่งราคาอ้างอิงตัวนี้ จะคำนวณจากราคาตลาด ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งพ่อค้าก็จะมองราคาอ้างอิงเป็นฐาน และใช้เป็นราคาในใจที่จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งคงไม่มีใครให้ราคาสูงกว่าราคาอ้างอิง มีแต่กดราคาลงจึงทำให้ราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

ผลจากราคาที่ตกต่ำลง ทำให้รัฐบาลต้องกลับมามองถึงระบบการแทรกแซงสินค้าเกษตรแบบเดิมๆ ก็คือ การรับจำนำ แต่ก็กลัวเสียหน้า หากเรียกแบบเดิมหรือใช้ชื่อเดิม จึงได้ปรับเป็นการใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ซึ่งจะมีถึง 6 มาตรการที่จะนำมาใช้ และ 1 ในนั้น ก็คือ การรับจำนำดีๆ นั่นเอง

ทั้ง 6 มาตรการ ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่องให้โรงสี เพื่อให้มีเงินไปซื้อข้าว 2.ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไปซื้อข้าวโดยตรง จำนวน 2 ล้านตัน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท 3.จัดตลาดนัดพบโรงสีกับเกษตรกร 4.ผลักดันส่งออกข้าวต้นฤดู 5.ฝากเก็บในยุ้งฉางเกษตรกร และ 6.การสร้างความเข้าใจระบบประกันซึ่งว่ากันว่ามีการแอบสอดไส้ให้คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) อนุมัติวงเงินทำประชาสัมพันธ์สูงถึง 30 ล้านบาทเลยทีเดียว

ตอนนี้ ทั้ง 6 มาตรการ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อวันที่ 20 ต.ค. มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ก็คงจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเรียกชื่อแบบไหน คงหนีไม่พ้นการใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล เพราะต้องจ่ายสูงถึง 2 เด้ง ทั้งจ่ายชดเชยจากส่วนต่างประกันราคา และยังต้องจ่ายเงินซื้อข้าวมาเก็บไว้อีก ซ้ำรอยการรับจำนำดีๆนี่เอง แล้วจะมาบอกว่าระบบประกันรายได้เกษตรกรดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ทำไมไม่ทำให้ดีอย่างที่พูดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น