ระยอง – แกนนำชาวบ้านในจ.ระยอง ไม่พอใจ”อภิสิทธิ์” อนุมัติให้ 55 โรงงานในนิคมฯมาบตาพุด ที่อีไอเอผ่านก่อสร้างได้ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่มาบตาพุด 9 กันยายน ค้านการออกใบอนุญาตสร้างโรงงาน โดยขอให้รอแผนลดและขจัดมลพิษเสร็จก่อน
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า กรณี การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีมติเห็นชอบให้มีการออกใบอนุญาตแก่โรงงานที่ผ่านการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว(อีไอเอ) ทั้งหมด 55 โครงการ เม็ดเงินการลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยไม่ยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 เห็นว่า รัฐบาลส่งเรื่องให้ กฤษฎีกาตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ผลการตีความของกฤษฎีกา ตีความว่าไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้
ในเรื่องกฎหมาย ตามหลักกฎหมายต้องมีการถกเถียงต่อไป เพราะการตีความของกฤษฎีกา ไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการอาจเอื้อมไปตีความแทนศาลรัฐธรรมนูญ และกฤษฎีกาซึ่งเป็นนักกฎหมายของรัฐ ไปตีความแทนศาลรัฐธรรมนูญ ในทางที่ไม่ตรงต่อเจตจำนงของมาตรา 67 อาจจะมีผลในทางปฏิบัติได้
นายสุทธิกล่าวต่อไปว่า หลัง กรอ.มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือไปที่นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบ และทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนมติ กรอ.ใหม่ว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ในนามเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทยทั่วประเทศได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีที่รัฐสภา ให้ทบทวนมติ กรอ. โดยให้ยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ทุกขั้นตอน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
“หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และยังเดินหน้าขยายโรงงานอุตสาหกรรม มีการออกใบอนุญาตเมื่อไหร่ จะฟ้องศาลปกครอง จะฟ้องศาลยุติธรรม ฟ้องอาญาหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยกฎหมาย มีความผิดตามกฎหมายอาญาหลายมาตรา แจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่เป็นผล ในวันที่ 9 กันยายน 2552 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่ ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” นายสุทธิกล่าว
นายสุทธิกล่าวว่า เหตุผลในการชุมนุมเคลื่อนไหว คืออยากให้รัฐบาลยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการปฏิบัติหน้าที่ เราไม่ได้ขัดขวางการลงทุน การลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 67 อย่างชัดเจน
“การชุมนุมใหญ่ จะใช้เวลาในการชุมนุมยืดยาวแน่ หากมีการออกใบอนุญาตตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราจะไม่คัดค้าน อาจมีการปิดล้อมท่าเรือมาบตาพุด ปิดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และปิดล้อมโรงงานแห่งใหม่ให้เป็นสัญลักษณ์ว่า นี่คือวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเห็นว่า ปัญหามลพิษยังไม่ได้แก้ไข แต่มาเร่งเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นปัญหาในระยะยาว ตนมองว่า โรงงานขยายได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย จริงๆ แล้วควรให้ระยองจัดทำแผนลดและขจัดปัญหามลพิษเสร็จก่อนจึงจะถูกต้อง”