xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาฟัน “ป๊อด” ไม่พ้นบ่วงทุจริต วัดภาวะผู้นำ “มาร์ค” ตัดสินใจปลด-ปล่อย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ(โดนชี้)
ASTV ผู้จัดการรายวัน - “บิ๊กป๊อด” หนาว เก้าอี้ ผบ.ตร.สะเทือน หลังกฤษฎีกาตอบ “มาร์ค” ให้ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตงบประชาสัมพันธ์ 18 ล้าน ด้าน “เสรีพิศุทธ์” จี้ย้าย “บิ๊กป๊อด” เข้ากรุทำเนียบ ขีดเส้นไม่มีคำสั่งภายในสัปดาห์นี้ ฟ้องมาตรา 157 เอาผิด “มาร์ค” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณี นายนที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำความเห็นเสนอต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. มิได้กระทำความผิดวินัยตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.กล่าวหา และสมควรให้ยุติเรื่องนั้น ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือในประเด็นดังกล่าวไปยังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีแล้วว่า รายงานสรุปข้อเท็จจริงของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการ และสั่ง และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่อาจถือเอาความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ยุติได้
               

ส่วนการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) สั่งการให้ พล.ต.ท.ทวีพร นามเสถียร ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและสรุปความเห็นเสนอเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ภายหลังจากที่บริษัทผลิตรายการที่มีคุณภาพและถูกสกัดกั้นไม่ให้เสนอราคา มีหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังมิใช่การดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 แห่ง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ และมิใช่การสั่งให้ผู้ใดดำเนินการสืบสวนข้อ 6 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 ด้วย เนื่องจากมิได้มีการแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด โดยในการสั่งการก็มิได้ระบุให้ดำเนินการสืบสวน แต่เป็นการสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นการสั่งการของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงเป็นการใช้อำนาจสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเบื้องต้นของตนตามมาตรา 84 อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับรายงานจาก พล.ต.ท.ทวีพร แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มิได้มีการสั่งการอย่างใด จนกระทั่งตนเองได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

กฤษฎีกาชี้แนะสอบ “พัชรวาท”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางวินัยของ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า นายกรัฐมนตรี (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ได้มีคำสั่งเห็นชอบตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พล.ต.อ.พัชรวาท และข้าราชการคนอื่นที่ถูกกล่าวหาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงถือได้ว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาแล้วใช้อำนาจตามหน้าที่ เพื่อดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎ กตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 แต่โดยที่นายกรัฐมนตรี (สมชาย) ได้พ้นจากตำแหน่งก่อนที่จะได้ลงนามในคำสั่ง จึงมีผลทำให้การดำเนินการค้างพิจารณาอยู่ที่ขั้นตอนดังกล่าว

ยัน “มาร์ค” ต้องสอบต่อไป

ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหา ฉะนั้น แม้ว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ก่อนลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน แต่เนื่องจากเรื่องนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจผู้นี้กระทำผิดวินัย นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมา จึงยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค้างพิจารณาอยู่ แต่ถ้าหากมีการพิจารณาในเบื้องต้นแล้วมีความเห็นแตกต่างจากการดำเนินการที่ค้างพิจารณาอยู่ และจะไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจสั่งการที่จะพิจารณาตามที่เห็นควร

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า นอกจากทางกฤษฎีกาจะทำหนังสือถึงนายสุเทพแล้ว ยังได้สำเนาความเห็นดังกล่าวส่งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งจะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ ทั้งนี้หากตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะมีการย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกจากสังกัด เพื่อเปิดทางให้การสืบสวนข้อเท็จจริงเดินหน้าได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในกรณีที่บุคคลที่ถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน เพราะหากไม่มีการย้ายออกจากตำแหน่งอาจจะทำให้การสืบสวนข้อเท็จจริงถูกแทรกแซงได้ และคณะกรรมการก็จะไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้

สำหรับกรณีนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้กล่าวหาว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในกรณีการดำเนินการจัดจ้างโฆษณาและเผยแพร่รายการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเงิน 18,697,500 บาท จากงบประมาณปี 2548 โดยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอ็น เอส มีเดีย แอสโซซิเอทส์ จำกัด และเป็นการกระทำที่กีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้สามารถเข้ามาเสนอราคา หรือแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม ทำให้นายสมชาย นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.

“เสรีพิศุทธ์” ยันสอบแล้วผิดชัดเจน

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวและสรุปว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.บุญเรือง กระทำผิดวินัยร้ายแรง วิจารณ์ความเห็นของกฤษฎีกาอย่างรุนแรงว่า เป็นเพียงความพยายามที่จะช่วยให้ พล.ต.อ.พัชรวาท พ้นผิด เพราะการที่ระบุว่าตนไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แสดงว่ากฤษฎีกาดูกฎหมายไม่ครบ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า เมื่อมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำความผิดวินัยให้ผู้บังคับคัญชารีบดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า กรณีมีมูลที่กล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ โดยสิ่งที่ตนดำเนินการไป คือ พิจารณาเบื้องต้นตามกฎหมายและพบว่ามีการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ดังนั้นขั้นตอนต่อไปคือ นายกรัฐมนตรีต้องมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

“กฤษฎีกาเป็นเทวดาหรืออย่างไร จึงตีความเพื่อช่วยคนผิดเช่นนี้ หรืออยากจะไปเจอกันในชั้นศาล คดีนี้ยื้อเวลากันมา 2 ปีแล้ว ถือว่าพยายามช่วยเหลือกัน ผมสอบถามไปถึง 5 ครั้งแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่กรณีของผม นายสมัครตั้งกรรมการสอบภายในวันเดียว ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ผมจะให้เวลานายกฯ ภายในสัปดาห์นี้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงและให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี  ผมจะฟ้องนายกฯในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญามาตรา 157 คนเป็นนายกรัฐมนตรีถูกผู้ใต้บังคับบัญชาอย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท ตีแสกหน้ากลางที่ประชุม กตช.ด้วยการโหวตค้านชื่อคนที่นายกฯเสนอเป็น ผบ.ตร. ไม่อายหรือ ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่ให้นายกฯอาฆาตหรือแก้แค้นใคร แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถือว่าไม่เห็นหัวนายกฯ หรือว่านายกฯมีหัวไว้ตั้งบนบ่าเท่านั้นไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะสิ่งที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ทำเหมือนท้าทายว่า แน่จริงมึงย้ายกู นายกฯถูกเย้ยอย่างนี้ต่อไปความเป็นผู้นำก็ไม่มมีความหมายและไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกแล้ว” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว

อดีต ผบ.ตร.ยังให้เหตุผลที่นายกรัฐมนตรีจะต้องย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีว่า ถ้ายังปล่อยให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ก็จะทำให้การสืบสวนข้อเท็จจริงกระทำไม่ได้ เพราะอาจอาจจะมีการเผาเอกสาร ทำลายหลักฐาน ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้

99.99% รัฐบาลต้องปฎิบัติตาม

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พิจารณาข้อร้องเรียนของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว เปิดเผยว่า เรื่องที่รัฐบาลสอบถามมา ขณะนี้ ทางกฤษฎีกา ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะส่งถึงมือรัฐบาลหรือไม่ ตนยังไม่ทราบ และยังไม่สามารถตอบอะไรได้ เพราะเป็นความเห็นที่ยังเป็นความลับ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้เปิดเผยเอง

ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะต้องปฎิบัติตามหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะปฎิบัติตามคำแนะนำของกฤษฎีกาหรือไม่ เพราะกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับรัฐบาล เมื่อรัฐบาล ถามเรื่องใดเรื่องหนึ่งมายังกฤษฎีกา แสดงว่ารัฐบาลยังมีข้อข้องใจในบางเรื่อง แต่เมื่อกฤษฎีกามีความเห็นมารัฐบาลจะไม่ปฎิบัติตามก็ได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถามว่า หากไม่ปฎิบัติ แล้วจะถามมาทำไม เว้นแต่ความเห็นของกฤษฎีกา ไปขัดแย้งกับความเห็นบางอย่างของรัฐบาลที่มีความเห็นไปก่อนหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุย้ำว่า หากรัฐบาลไม่ปฎิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา รัฐบาลก็ต้องมีคำตอบ เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 99.99 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจะปฎิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา

จับตาสั่งสอบ-ปลด “พัชรวาท”

แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติตามข้อหารือของกฤษฎีกา ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.พัชรวาท เพื่อให้เรื่องที่ค้างอยู่ในสมัยนายสมชายเดินต่อไป และให้ได้ข้อยุติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และพวก ผิดจริงตามที่ถุกกล่าวหารือไม่ นายกรัฐมนตรี ก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะสั่งปลด หรือย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ออกจากตำแหน่ง ในระหว่างทำการสอบสวน เพื่อไม่ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสีย ในการสอบสวนข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเชื่อว่า เมื่อกฤษฎีกาได้ข้อสรุปชัดเจนมาอย่างนี้ นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามข้อแนะนำ ประกอบกับที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชรวาท ถือเป็นบุคคลที่แสดงอาการขัดขวางการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ จนทำให้การประชุม ก.ต.ช.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับ ตัว ผบ.ตร.คนใหม่ ตามที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จะต้องได้ชื่อภายในเดือนสิงหาคมนี้

*********

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตราเกี่ยวข้อง

มาตรา 84 เมื่อมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่

ในการสืบสวนข้อเท็จจริงให้แจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สั่งยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 85 หรือมาตรา 86 แล้วแต่กรณีทันที

มาตรา 89 ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อน ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทัณฑกรรม

ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้กระทำผิดวินัยควรได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตนที่มีอำนาจ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี

ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้

การลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

มาตรา 86 เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา เมื่อดำเนินการแล้ว ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามาตรา 89 หรือมาตรา 90 แล้วแต่กรณี ถ้าฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ให้สั่งยุติเรื่อง

ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่างกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันให้ผู้มีอำนาจสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งในระดับสูงกว่าเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน

ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาตามาตรา 101 และผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสั่งการตามผลการสอบสวนโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือดำเนินการสอบสวนใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น