xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิดชวนคุย :ต้องถาม ต้องรู้ ก่อนซื้อหุ้นกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่วงนี้ไม่ว่าจะเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใดเป็นต้องเห็นโฆษณาเสนอขายหุ้นกู้โดยบริษัทต่าง ๆ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงจนเห็นแล้วตาโต เพราะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหลายเท่าตัว ในภาวะเช่นนี้ บริษัทที่ต้องการใช้เงินต่างมองหาวิธีระดมทุนที่จะมีต้นทุนถูกกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และผู้ที่มีเงินเหลือใช้ก็มองหาช่องทางลงทุนที่คาดว่าน่าจะปลอดภัยและให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการฝากไว้กับธนาคาร "หุ้นกู้" จึงเป็นตราสารการลงทุนยอดนิยมในจังหวะนี้ค่ะ แต่ก่อนที่ท่านจะนำเงินออมไปซื้อหุ้นกู้ ท่านต้องมั่นใจก่อนว่าท่านสามารถตอบคำถามทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้ได้แล้วนะคะ

1. ใครเป็นผู้ออก? การที่รู้ว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ในอุตสาหกรรมใด มีฐานะการเงินเป็นอย่างไร ต้องการเงินทุนไปทำอะไร จะช่วยให้ผู้ลงทุนประเมินความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งว่า บริษัทนั้นจะสามารถหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้ผู้ลงทุนตามที่ระบุไว้ได้หรือไม่ อีกประการหนึ่ง ส่วนใหญ่ธนาคารเป็นผู้ขายหุ้นกู้ ซึ่งผู้ลงทุนต้องไม่สับสนไปเข้าใจว่า ธนาคารที่กำลังชักชวนให้ซื้อหุ้นกู้อยู่นั้นเป็นผู้ออกหุ้นกู้เองนะคะ

2. credit rating เป็นอย่างไร? Credit rating หรือ อันดับความน่าเชื่อถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ โดยแบ่งเป็นระดับ ตั้งแต่ระดับดีมาก (AAA) จนถึงระดับที่แย่มาก (D) ซึ่งปกติจะมีการประเมินความน่าเชื่อถือทั้งตัวผู้ออก (issuer rating) และหุ้นกู้แต่ละรุ่น (issue rating) ผู้ลงทุนควรจะพิจารณาข้อมูลอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 2 ประเภท และต้องไม่ลืมว่าข้อมูลอันดับความน่าเชื่อถือนี้ เป็นการประเมินตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ จึงมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ ดังนั้น เมื่อผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ใดแล้ว จะต้องหมั่นติดตามการประกาศอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงเครดิตพินิจ (credit alert: กรณีมีเหตุการณ์/ข้อมูลสำคัญต่อบริษัทแต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนอันดับ) และเครดิตวาระ (credit update: กรณีมีเหตุการณ์/ข้อมูลเพียงพอที่จะปรับอันดับ) โดยข้อมูลนี้จะแสดงอยู่ที่เว็บไซต์ของผู้ให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และในหนังสือพิมพ์ธุรกิจหากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญค่ะ

3. จ่ายผลตอบแทนอย่างไร? ตามหลักทฤษฎีหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงมักจะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ลงทุนต้องเข้าใจและยอมรับในหลักการนี้ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะต้องดูเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยด้วยค่ะ เช่น จ่ายอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรือจ่ายต่อเมื่อบริษัทมีกำไรและไม่สะสมดอกเบี้ย ซึ่งอย่างหลังนี้มีความไม่แน่นอนว่าผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยทุกงวดหรือไม่ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนได้รับจะต้องเสียภาษีรายได้ 15% ด้วยค่ะ

4. เงินก้อนนี้คาดว่าจะใช้เมื่อไหร่? หุ้นกู้มักจะมีอายุยาว (เช่น 5 ปีหรือ 10 ปี) ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องมั่นใจว่า เงินก้อนที่นำมาลงทุนนั้นไม่มีเหตุให้ต้องเอามาใช้ในเร็ววัน เพราะหากต้องการใช้เงินก่อนที่หุ้นกู้ครบกำหนด ผู้ลงทุนจะต้องขายหุ้นกู้นั้น แต่หุ้นกู้มักมีสภาพคล่องไม่มากนัก จึงมีโอกาสที่จะได้เงินต้นคืนไม่เท่าตอนซื้อและอาจขายไม่ได้เร็วอย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ **หุ้นกู้ที่มีอายุยาวมากจะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ย**ร่วมอยู่ด้วย ความเสี่ยงด้านนี้มีผลกระทบต่อราคาหุ้นกู้ที่มีอายุยาวมากกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นค่ะ เนื่องจากในระหว่างที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดขยับขึ้น ผู้ลงทุนก็จะเสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยในอัตราใหม่ที่สูงกว่าเดิม และอัตราดอกเบี้ยตลาดที่สูงขึ้นนี้ยังซ้ำเติมราคาหุ้นกู้ที่ออกมาก่อนให้มีราคาลดลงไปอีกด้วยค่ะ

5. มีลักษณะพิเศษอื่นอีกไหม? หุ้นกู้ที่ออกมาระยะหลังมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น แบบที่บริษัทผู้ออกสามารถไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุ แบบมีประกัน แบบด้อยสิทธิ (ในกรณีที่ผู้ออกมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับชำระเงินต้นคืนหลังจากเจ้าหนี้รายอื่น) และอีกหลากหลาย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ทำให้หุ้นกู้ที่เสนอขายแต่ละรุ่นมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันค่ะ ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อ ผู้ลงทุนต้องสอบถามผู้ขายและศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้ละเอียด โดยสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนได้จากตัวแทนขาย หรือจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ www.sec.or.th

ถึงแม้ว่าก่อนที่บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนได้ บริษัทจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อน โดย ก.ล.ต. จะดูว่าบริษัทนั้นเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนในหนังสือชี้ชวนไว้ครบถ้วนและถูกต้องแล้วหรือไม่ แต่หากผู้ลงทุนยังคงพบการเสนอขายหุ้นกู้ที่เปิดเผยข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมถึงหากถูกชักชวนโดยได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง สามารถร้องเรียนได้ที่ ก.ล.ต. Help Center โทรศัพท์ 0-2263-6000

สุดท้ายนี้ ขอให้นึกอยู่เสมอว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง " ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน จะทำให้ลดความเสี่ยงและช่วยปกป้องประโยชน์ของตนได้ และอย่าลืมว่า ก.ล.ต. เป็นที่พึ่งทางการลงทุน และช่วยปกป้องสิทธิ์ผู้ลงทุน ให้แก่ทุกท่านอย่างเต็มที่ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น