xs
xsm
sm
md
lg

กระแส"พันธบัตร"ติดลมบน ทางเลือกยุคเศรษฐกิจ(ใกล้)ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงที่ผ่านมา กระเเสของพันธบัตรไทยเข้มแข็ง ถือว่ามาแรงทีเดียว สิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี คือใช้เวลาเปิดขายเพียงแค่ไม่นาน พันธบัตรมูลค่า 80,000 ล้านบาท ถูกนักลงทุนจับจองหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่นาน...
และถึงแม้ว่ากระเเสไทยเข็มแข็งจะมาแรงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจของ "พันธบัตรเกาหลีใต้" หรือ "หุ้นกู้เอกชน" ลดน้อยลงไปด้วย โดยสังเกตุได้จากบริษัทจัดการกองทุนหลายๆ แห่ง ยังทยอยส่งโปรดักส์ใหม่ ที่ออกไปลงทุนในเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง...เช่นเดียวกัน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีเองยังแรงไม่เลิก เพราะหลายกองทุนที่ออกมา ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เต็มมูลค่าโครงการทุกกองทุน
...ไหนๆก็เป็นกระแสทั้งที"ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" ถือโอกาสทำความเข้าใจกับการลงทุนใน"พันธบัตรไทยเข้มแข็ง" และ"พันธบัตรเกาหลี" พ่วง"หุ้นกู้เอกชน" เข้าไปด้วย...ไปดูกันว่าความน่าสนใจของแต่ละกองทุนเป็นอย่างไร ผลตอบแทนกับความเสี่ยง ไปด้วยกันได้หรือไม่...
 วิน อุดมรัชตวนิชย์   ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ. แอสเซท พลัส บอกว่า เมื่อพูดถึงผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง ของ พันธบัตรไทยเข้มแข็ง พันธบัตรเกาหลี และหุ้นกู้เอกชน ที่กำลังได้รับความสนจากนักลงทุน โดยเมื่อนำผลตอบแทนและระยะเวลาในการลงทุนของพันธบัตรทั้งสามชนิดมาเปรียบเทียบกัน พบว่า พันธบัตรไทยเข็มแข็งนั้น มีระยะเวลาการลงทุน 5 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี ด้านหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุอยู่ที่ 5 ปีนั้น ให้ผลตอบแทนที่เท่ากัน ขณะที่พันธบัตรเกาหลีนั้น ใช้ระยะเวลาการลงทุนเพียงแค่ 2 ปี แต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับอยู่ที่ 4% โดยเท่ากับพันธบัตรทั้งสองชนิดแต่ระยะเวลาการลงทุนนั้นน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
 "เมื่อพูดถึงเรื่องความเสี่ยงของการลงทุน พันธบัตรไทยเข้มแข็งนั้นไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุนเลย เนื่องจากเป็นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล ขณะที่พันธบัตรเกาหลีใต้นั้น เมื่อเทียบกันในเรื่องของความเสี่ยงพบว่า มีน้อยกว่าไทย เพราะเรตติ้งสูงกว่าไทย ทำให้ภาพรวมของประเทศเกาหลีและความเสี่ยงในเรื่องของคู่ค้านั้นดูดีกว่าของไทย"  เขากล่าว
ทั้งนี้ พันธบัตรไทยเข้มแข็ง มีการจำหน่ายให้แก่นักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ โดยมีลิมิตการลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อนักลงทุน 1 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการซื้อขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งในตลาดรองนั้น คาดว่ามีน้อยมาก เนื่องจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน จะเป็นนักลงทุนที่มีเงินเย็นเก็บ สามารถที่จะลงทุนได้ในระยะยาว รวมไปถึงนักลงทุนกลุ่มนี้ เป็นพวกที่มีความรักชาติ จึงไม่ปล่อยพันธบัตรออกสู่ตลาดรอง
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งออกสู่ตลาดนั้น  อุตสาหกรรมกองทุนรวมไม่ได้รับผลกระทบ โดยจำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลออกมานั้นมีจำนวน 80,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่อยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมนั้น ถือว่าน้อยมาก ซึ่งอาจะมีกระทบต่อกองทุนมันนีมาร์เก็ต หรือกองทุนรวมตลาดเงินมากกว่า อาจจะทำให้ขนาดของกองทุนมีขนาดเล็กลงบ้างแต่ก็ไม่มากนัก เขาย้ำว่า "ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม เมื่อเทียบกับการซื้อพันธบัตรไทยเข็มแข็งนั้นคือ นักลงทุนจะไม่ต้องเสียภาษี 15% อีกทั้งผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับนั้นมากกว่าด้วย ซึ่งการออกพันธบัตรออกมานั้น จะส่งผลกระทบต่อแบงก์มากกว่า โดยจะแย่งฐานลูกค้าเงินฝากของแบงก์ จึงทำให้ช่วงนี้แบงก์มีการออกแคมเปญใหม่ๆเพื่อดึงนักลงทุนกลับไปลงทุนในเงินฝาก"

 วรรธนะ วงศ์ศรีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ฟิลลิป จำกัด เล่าว่า เมื่อพูดถึงการลงทุนในพันธบัตรไทยเข้มแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้าซื้อ และโดยส่วนมากนักลงทุนจะซื้อแล้วถือไว้ยาว ทำให้การซื้อขายพันธบัตรไทยเข็มแข็งในตลาดรองน้อยมาก ขณะที่ผลตอบแทน เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่เปิดขายตามปกติ โดย เทียบระยะเวลาการลงทุน 5ปีเท่ากันพบว่า การลงทุนในพันธบัตรไทยเข็มแข็งจะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 20% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลนั้น ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 30% และมีการซื้อขายอยู่ในตลาดรองด้วย ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
นอกจากนี้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล นักลงทุนสามารถที่จะเข้าซื้อได้ถึง100% ด้านความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้นั้นน้อยมาก เนื่องจากมีเป็นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลเอง และคงไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนที่จะผิดนักชำระหนี้เพราะนั้นหมายถึงความมั่นคงของประเทศด้วย
สำหรับการลงทุนใน หุ้นกู้เอกชน ถึงแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่นักลงทุนจะต้องเข้าใจด้วยว่า ความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับนั้น สูงตามผลตอบแทนไปด้วย  โดยเราไม่สามารถรู้ได้ว่า บริษัทที่เราเข้าไปลงทุนข้างในจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงระยะเวลาที่กำหนดก็มีส่วนสำคัญด้วย ซึ่งเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางด้านการผิดนัดชำระหนี้จึงสูง เพราะเมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนดบริษัทที่เราลงทุนอาจจะล้มละลายหรือปิดบริษัทก็เป็นไปได้
ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนนั้น สภาพคล่องค่อนข้างน้อย การซื้อขายในตลาดรองพอมีบ้าง หรือที่เรียกว่า "ซื้อง่าย ขายยาก" เพราะหากราคาถูก บริษัทนั้นจะถูกมองถึงความมั่นคงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ว่าจะมีโอกาสล้มหรือไม่ แต่เมื่อนักลงทุนซื้อแล้ว ส่วนใหญ่จะถือจนครบอายุของหุ้นกู้จึงจะได้ผลตอบแทนที่บริษัทได้ตั้งไว้ อีกทั้ง การลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ได้มีข้อห้ามบลจ.เข้าซื้อขายหุ้นกู้เอกชนเกิน 15% ในหนึ่งบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ขณะที่พันธบัตรเกาหลีใต้ นักลงทุนไม่สามารถที่จะเข้าไปลงทุนเองได้ แต่จะต้องลงทุนผ่านกองทุนรวมเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้มีหลายๆบลจ.ออกกองทุนรวมที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ โดยเป็นแบบ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปีมาให้นักลงทุนได้ร่วมลงทุน ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงในพันธบัตรรัฐบาลไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง ภาพรวมทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ดีกว่าไทย หรือการจัดอันดับเรตติ้งเกาหลีใต้นั้น ก็มีภาพรวมที่ดีกว่าไทย  โดยการจัดอันดับก็อยู่ที่ในระดับA+ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงมีความมั่นใจเข้าไปลงทุนในประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตรเกาหลี ถึงแม้จะไม่มากในแง่ของการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากมีรัฐบาลเกาหลีใต้ค้ำประกันอยู่ รวมไปถึงความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากว่ากองทุนได้ทำการปิดความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนค่าเงินไว้แล้วนั้น แต่ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะพิจารณาคือ หากบริษัทที่รับปิดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเกิดล้มละลาย อาจจะทำให้เม็ดเงินที่นักลงทุนจะได้รับนั้น ไม่เท่ากับจำนวนที่ลงทุน หรืออาจจะขาดทุนจากการลงทุนได้
อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือ...เงินที่เราไปลงทุนในเกาหลีใต้ พอถึงเวลาครบกำหนดนำเงินกลับ รัฐบาลเกิดออกนโยบายหรือมาตราการห้ามนำเงินออกนอกประเทศ หรือการโอนเงินออกนอกประเทศ ก็อาจทำให้ไม่สามารถนำเงินกลับมาให้นักลงทุนได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น