xs
xsm
sm
md
lg

นัดชี้ชะตา “เนวิน” คดีทุจริตกล้ายาง (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุ้นศาลฎีกาฯ พิพากษาคดีทุจริตกล้ายางตัวอย่างการทุจริตเชิงนโยบาย แก้กฎหมาย เอื้อประโยชน์เอกชน ป.ป.ช.หวังฟ้องคดีสร้างบรรทัดฐานปราบคนโกงอาศัยความทุกข์ยากของเกษตรกรหากิน

“มั่นใจว่าพยานหลักฐานที่นำเข้าไต่สวนต่อศาล ซึ่งเป็นไปตามสำนวนการสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยพิพากษาลงโทษได้

“การฟ้องเห็นว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีลักษณะแตกต่างจากการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองในอดีต ที่จะเป็นการทุจริตจากการรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทเอกชน ที่ร่วมประมูลโครงการ ซึ่งจะตรวจสอบกันได้ตรง จากความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง และกลุ่มทุนธุรกิจ โดยหวังว่าการฟ้องคดีจะเป็นบรรทัดฐานต่อการปราบปรามการทุจริตต่อไป ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินอย่างไรถือเป็นดุลยพินิจ”

นั่นคือ ความมั่นใจจากนายเจษฎา อนุจารีย์ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความแห่งประเทศไทย ทนายความผู้รับผิดชอบคดีฝ่ายโจทก์ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กล่าวในวันยื่นแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาฯ ความยาว 45 หน้า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา

ในการแถลงปิดคดี ทนายความ ป.ป.ช. สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยในกลุ่มรัฐมนตรีผู้ริเริ่มโครงการซึ่งคดีนี้ยื่นฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน รมว.เกษตรฯ (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งการดำเนินโครงการนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเอกชน มีลักษณะเป็นการทุจริตทางนโยบาย มีการออกฎหมายและแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนฮั้วประมูล

ส่วน กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี และข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการฯ ซึ่ง คชก. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การที่ คชก. มีมติให้นำเงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปใช้ในการซื้อยางเพื่อแจกให้เกษตรกรในการปลูกยางเป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ข้อ 19 (5) เพราะการมีมติดังกล่าวไม่ใช่การนำเงินไปใช้เป็นครั้งคราวหรือเป็นการหมุนเวียน แต่เป็นการนำไปสนับสนุนตลอดโครงการ

กลุ่มข้าราชการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และ 4) กลุ่มเอกชน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ซึ่งมีส่วนร่วมเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและฮั้วประมูล

ปมพิรุธเชือดผู้ร่วมทุจริต

การตรวจสอบทุจริตโครงการดังกล่าว “ผู้จัดการรายวัน” ได้นำเสนอข่าวและรายงานมาอย่างต่อเนื่องว่า มี 4 ประเด็นใหญ่ คือ การออกนโยบายและตั้งเรื่องเสนอโครงการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.), การฮั้วประมูล, การบริหารสัญญาที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน และความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรและประเทศชาติ

ประเด็นการออกนโยบายและตั้งเรื่องเสนอครม. มีพิรุธมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องไม้ยางที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เรื่องไม้ยางพาราในประเทศไม่พอใช้ จึงออกนโยบายให้ปลูกยางเพิ่ม 90 ล้านต้น ในพื้นที่ 1 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับไปดำเนินการ

จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2546 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจเยี่ยมองค์การสวนยางและสกย. นายเนวิน ได้เสนอโครงการปลูกยางยกระดับรายได้เกษตรกร ระยะที่ 1 จำนวน 1 ล้านไร่ ซึ่งนายสมคิด เห็นชอบให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางเพิ่ม โดยหน่วยงานหลักที่ควรเป็นเจ้าของเรื่อง คือ สกย. เพราะรับผิดชอบเรื่องยางพาราโดยตรง

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2546 นายเนวิน ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอครม. วาระที่ 2 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน โดยนายเนวิน เสนอให้กรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ แทนที่จะเป็น สกย. และ อสย. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องยางกระจายครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อพิรุธในพฤติกรรมของนายเนวิน กล่าวคือ ในช่วงเซ็นอนุมัติผลการประกวดราคา ทางกรมวิชาการเกษตร โดยคณะกรรมการคัดเลือกผลการประมูล ได้เรียกประชุมเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2546 เพื่อแจ้งผลการตีความของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า การถือหุ้นไขว้กันของ 3 บริษัทที่เข้าร่วมประมูล คือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์, บริษัทเอกเจริญการเกษตร, บจก.รีสอร์ทแลนด์ ไม่ผิด

ในวันที่ 6 พ.ย. 2546 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ต่อรองราคากับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ และสรุปผลการต่อรองเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร พิจารณาในวันเดียวกัน วันถัดมา กรมฯ ให้ความเห็นชอบและทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงฯ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน เนื่องจากวันที่ 8-9 พ.ย. 2546 เป็นวันเสาร์-อาทิตย์

รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 10 พ.ย. 2546 นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เซ็นอนุมัติผลการประกวดราคาและรับราคาจ้างเหมาผลิตต้นยางชำถุงที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ เป็นผู้ชนะประมูล ทั้งที่ควรรอให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่กำลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในวันเดียวกัน

ถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2546 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงทำหนังสือรายงานผลการประกวดราคาฯ มายัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ เพื่อแจ้งให้รับทราบผลดำเนินการที่เร่งรีบรวบรัดเซ็นสัญญากันไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ “สมศักดิ์” จะเข้ามารับตำแหน่ง

"ชัย"เชื่อ'ห้อย'ไม่หนีคดีทุจริตกล้ายาง

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกระแสข่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ บุตรชาย เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ในช่วงใกล้วันตัดสินคดีกล้ายาง ว่า ไม่ทราบ แต่คงไม่ได้ไปไหน นายเนวิน ก็อยู่บ้านของเขา แต่ไม่ได้ไม่เจอกัน จะเจอกันเฉพาะตอนประชุมพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น

เมื่อถามว่าวันที่ 17 ส.ค.นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตัดสินคดีทุจริตกล้ายาง เป็นห่วงหรือไม่ นายชัยตอบว่า เป็นเรื่องของเวรกรรม จะไปห่วงอะไร ใครทำกรรมดี ก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว ใครทำผิดก็ต้องรับผิด เมื่อถามว่าแสดงว่า มั่นใจนายเนวินไม่มีความผิด นายชัยตอบว่า ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ทำนโยบายอะไรมาก็ผิดหมด แต่ตนไม่กล้าบังอาจไปพูดว่านายเนวิน ไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องของศาล

เมื่อถามว่า หากนายเนวิน ถูกศาลตัดสินให้มีความผิด จะมีการยื่นถวายฎีกาหรือไม่ นายชัยตอบว่า คงไม่มี เพราะพวกตนไม่ล่วงเกินพระทัยของพระองค์ท่าน

เมื่อถามว่า หากนายเนวิน พ้นคดี จะเป็นผลดีกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายชัย ตอบว่า นายเนวิน ต้องพ้นการถูกตัดสิทธิ์ 5 ปีก่อน เรื่องพรรคภูมิใจไทย เป็นคนละเรื่องกับนายเนวิน เพราะเรื่องเกิดก่อนการตั้งพรรคภูมิใจไทย และนายเนวิน ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาจมีส่วนเป็นเพียงที่ปรึกษาพรรค นอกเกณฑ์เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น