xs
xsm
sm
md
lg

นัดชี้ชะตา “เนวิน” คดีทุจริตกล้ายาง (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ลุ้นศาลฎีกาฯ พิพากษาคดีทุจริตกล้ายางตัวอย่างการทุจริตเชิงนโยบาย แก้กฎหมาย เอื้อประโยชน์เอกชน ป.ป.ช.หวังฟ้องคดีสร้างบรรทัดฐานปราบคนโกงอาศัยความทุกข์ยากของเกษตรกรหากิน

“มั่นใจว่าพยานหลักฐานที่นำเข้าไต่สวนต่อศาล ซึ่งเป็นไปตามสำนวนการสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยพิพากษาลงโทษได้

“การฟ้องเห็นว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีลักษณะแตกต่างจากการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองในอดีต ที่จะเป็นการทุจริตจากการรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทเอกชน ที่ร่วมประมูลโครงการ ซึ่งจะตรวจสอบกันได้ตรง จากความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง และกลุ่มทุนธุรกิจ โดยหวังว่าการฟ้องคดีจะเป็นบรรทัดฐานต่อการปราบปรามการทุจริตต่อไป ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินอย่างไรถือเป็นดุลยพินิจ”

นั่นคือ ความมั่นใจจากนายเจษฎา อนุจารีย์ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความแห่งประเทศไทย ทนายความผู้รับผิดชอบคดีฝ่ายโจทก์ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กล่าวในวันยื่นแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาฯ ความยาว 45 หน้า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา

ในการแถลงปิดคดี ทนายความ ป.ป.ช. สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยในกลุ่มรัฐมนตรีผู้ริเริ่มโครงการซึ่งคดีนี้ยื่นฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน รมว.เกษตรฯ (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งการดำเนินโครงการนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเอกชน มีลักษณะเป็นการทุจริตทางนโยบาย มีการออกฎหมายและแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนฮั้วประมูล

ส่วน กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี และข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการฯ ซึ่ง คชก. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การที่ คชก. มีมติให้นำเงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปใช้ในการซื้อยางเพื่อแจกให้เกษตรกรในการปลูกยางเป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ข้อ 19 (5) เพราะการมีมติดังกล่าวไม่ใช่การนำเงินไปใช้เป็นครั้งคราวหรือเป็นการหมุนเวียน แต่เป็นการนำไปสนับสนุนตลอดโครงการ

กลุ่มข้าราชการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และ 4) กลุ่มเอกชน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ซึ่งมีส่วนร่วมเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและฮั้วประมูล

***ปมพิรุธเชือดผู้ร่วมทุจริต

การตรวจสอบทุจริตโครงการดังกล่าว “ผู้จัดการรายวัน” ได้นำเสนอข่าวและรายงานมาอย่างต่อเนื่องว่า มี 4 ประเด็นใหญ่ คือ การออกนโยบายและตั้งเรื่องเสนอโครงการเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.), การฮั้วประมูล, การบริหารสัญญาที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน และความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรและประเทศชาติ

ประเด็นการออกนโยบายและตั้งเรื่องเสนอครม. มีพิรุธมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องไม้ยางที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เรื่องไม้ยางพาราในประเทศไม่พอใช้ จึงออกนโยบายให้ปลูกยางเพิ่ม 90 ล้านต้น ในพื้นที่ 1 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับไปดำเนินการ

จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2546 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจเยี่ยมองค์การสวนยางและสกย. นายเนวิน ได้เสนอโครงการปลูกยางยกระดับรายได้เกษตรกร ระยะที่ 1 จำนวน 1 ล้านไร่ ซึ่งนายสมคิด เห็นชอบให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางเพิ่ม โดยหน่วยงานหลักที่ควรเป็นเจ้าของเรื่อง คือ สกย. เพราะรับผิดชอบเรื่องยางพาราโดยตรง

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2546 นายเนวิน ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอครม. วาระที่ 2 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน โดยนายเนวิน เสนอให้กรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ แทนที่จะเป็น สกย. และ อสย. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องยางกระจายครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อพิรุธในพฤติกรรมของนายเนวิน กล่าวคือ ในช่วงเซ็นอนุมัติผลการประกวดราคา ทางกรมวิชาการเกษตร โดยคณะกรรมการคัดเลือกผลการประมูล ได้เรียกประชุมเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2546 เพื่อแจ้งผลการตีความของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า การถือหุ้นไขว้กันของ 3 บริษัทที่เข้าร่วมประมูล คือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์, บริษัทเอกเจริญการเกษตร, บจก.รีสอร์ทแลนด์ ไม่ผิด

ในวันที่ 6 พ.ย. 2546 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ต่อรองราคากับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ และสรุปผลการต่อรองเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร พิจารณาในวันเดียวกัน วันถัดมา กรมฯ ให้ความเห็นชอบและทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงฯ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน เนื่องจากวันที่ 8-9 พ.ย. 2546 เป็นวันเสาร์-อาทิตย์

รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 10 พ.ย. 2546 นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เซ็นอนุมัติผลการประกวดราคาและรับราคาจ้างเหมาผลิตต้นยางชำถุงที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ เป็นผู้ชนะประมูล ทั้งที่ควรรอให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่กำลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในวันเดียวกัน

ถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2546 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงทำหนังสือรายงานผลการประกวดราคาฯ มายัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ เพื่อแจ้งให้รับทราบผลดำเนินการที่เร่งรีบรวบรัดเซ็นสัญญากันไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ “สมศักดิ์” จะเข้ามารับตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น