xs
xsm
sm
md
lg

ทนาย ป.ป.ช.มั่นใจหลักฐานทุจริตกล้ายาง-ลุ้น 17 ส.ค.ชี้ชะตาก๊วน “เนวิน”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ทนาย ป.ป.ช.” เผย ได้ยื่นแถลงปิดคดีทุจริตกล้ายางแล้ว รอฟังคำพิพากษา 17 ส.ค.นี้ โดยมั่นใจหลักฐานที่นำเข้าไต่สวน เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยลงโทษได้ ขณะที่ ทนายจำเลย มั่นใจทำตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาทุจริต

วันนี้ (11 ส.ค.) นายเจษฎา อนุจารีย์ ทนายความของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับผิดชอบคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท กล่าวถึงการยื่นคำแถลงปิดคดีที่ครบกำหนดยื่นในวันนี้ (11 ส.ค.) ว่า ฝ่าย ป.ป.ช.โจทก์ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ความยาว 45 หน้า ซึ่งมีเนื้อสรุปเกี่ยวกับพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลยแยกแต่ละกลุ่ม คือ กลุ่มรัฐมนตรีผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งคดีนี้ยื่นฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน รมว.เกษตรฯ ขณะเกิดเหตุ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ โดย ป.ป.ช.โจทก์ ยืนยันว่า การดำเนินโครงการนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจเอกชน ซึ่งการทุจริตมีลักษณะเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีการออกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอกชนฮั้วประมูล ส่วนกลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี และข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการนั้น ป.ป.ช.ยืนยันว่า คชก.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และการที่ คชก.มีมติให้นำเงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปใช้ในการซื้อยางเพื่อแจกให้เกษตรกรในการปลูกยางนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ข้อ 19(5) เพราะการมีมติดังกล่าว ไม่ใช่การนำเงินไปใช้เป็นครั้งคราว หรือเป็นการหมุนเวียน แต่เป็นการนำไปสนับสนุนตลอดโครงการ

นายเจษฎา ทนายความ ป.ป.ช.กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ก็มั่นใจว่า พยานหลักฐานที่นำเข้าไต่สวนต่อศาล ซึ่งเป็นไปตามสำนวนการสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพียงพอที่จะให้ศาลวินิจฉัยพิพากษาลงโทษได้ ซึ่งการฟ้องเห็นว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการทุจริตทางนโยบาย ที่มีลักษณะแตกต่างจากการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองในอดีต ที่จะเป็นการทุจริตจากการรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทเอกชน ที่ร่วมประมูลโครงการ ซึ่งจะตรวจสอบกันได้ตรงๆ จากความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง และกลุ่มทุนธุรกิจ โดยหวังว่าการฟ้องคดีจะเป็นบรรทัดฐานต่อการปราบปรามการทุจริตต่อไป ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินอย่างไรถือเป็นดุลพินิจ

นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า สำหรับการยื่นแถลงปิดคดีของกลุ่มจำเลย โจทก์ ได้รับสำเนาคำแถลงปิดคดีของจำเลยมาแล้วบ้าง 2-3 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กลุ่มรัฐมนตรี ซึ่งจำเลยยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิด และได้แสดงให้ศาลเห็นว่าในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เคยประกอบคุณงามความดีอะไรมาบ้างเพื่อให้ศาลจะพิจารณาประกอบ

ขณะที่แหล่งข่าวทนายความจำเลย รับผิดชอบคดีในส่วนกลุ่ม คชก.เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่ม คชก.ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีไปแล้วเช่นกัน โดยยืนยันว่า คชก.มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณจ่ายเงินสนับสนุนโครงการ และการมีมติ ของ คชก.เกี่ยวกับการนำเงินกองทุน ไปใช้นั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด ส่วนปัญหาว่า คชก.จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือไม่ เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาฯ จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 14.00 น.ซึ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ก็จะมีเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ มาเฝ้ารักษาการณ์เหมือนแนวทางปฏิบัติที่เคยทำมาในการนัดฟังคำพิพากษาคดีนักการเมืองอื่นๆ ที่เคยมีมา

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก., นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก., นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ คชก.กับพวกรวม 44 คน ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม.คณะที่ 2, กลุ่ม คชก., กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151, ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร
ห้องพิจารณาคดีทุจริตกล้ายาง
นายเนวิน ชิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น