xs
xsm
sm
md
lg

พิพากษาทุจริตกล้ายางส่อเลื่อน หึ่งจำเลยเผ่น!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
พิพากษาคดีทุจริตกล้ายางส่อเค้าเลื่อน ฝ่ายจำเลยแย้มอาจมาไม่ครบ 44 คน ปากแข็งไม่มีเจตนาหลบเลี่ยง ทนาย ป.ป.ช.ฮึ่ม หากไม่มาฟังแล้วจงใจหลบหนีศาลอาจออกหมายจับได้

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายเจษฎา อนุจารีย์ ทนายความคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายางที่ ป.ป.ช.ฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และพวกรวม 44 คน เป็นจำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีทุจริตโครงการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท โดยมีกระแสข่าวว่าจำเลยอาจจะมาฟังพิพากษาไม่ครบ 44 คน จนอาจจะต้องมีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปว่า ตอนนี้ทางเรายังไม่ทราบข่าวนี้ แต่ตามหลักกฎหมายหากจำเลยมาไม่ครบ ศาลจะยังไม่อ่านคำพิพากษา โดยจะเลื่อนออกไปประมาณ 1 เดือน และจะทำการนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง

“หากศาลนัดครั้งที่ 2 แล้วยังมาไม่ครบอีก ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ พร้อมกับออกหมายจับผู้ที่จงใจหลบเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษาได้ ทั้งนี้ ศาลจะดูด้วยว่าเหตุผลที่จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษาคืออะไร มีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ โดยทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล” ทนายความ ป.ป.ช.กล่าว และว่า ในวันที่ 17 นี้ ตนคงไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง เนื่องจากติดธุระ แต่จะส่งตัวแทนไป

ด้าน นายธนากร แหวกวารี ทนายกลุ่ม คชก.ซึ่งเป็นหนึ่งในฝ่ายจำเลยกล่าวว่า จำเลยทั้ง 44 คน มีหลายกลุ่ม โดยวันดังกล่าวจะมาครบหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ในส่วนของ คชก.จะเดินทางไปฟังคำพิพากษาครบแน่นอน

ด้านแหล่งข่าวฝ่ายจำเลย เปิดเผยว่า เนื่องจากจำเลยมีจำนวน 44 คน จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะไปฟังคำพิพากษาไม่ครบ แต่หากคนไหนไม่มาก็ต้องทำเรื่องชี้แจงศาล เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาอะไร และไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จนถึงหมดเวลาราชการในวันนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดในจำนวนจำเลยทั้ง 44 คน ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอเลื่อนฟังคำพิพากษา ส่วนที่อาจจะมีจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษา ในเช้าวันที่ 17 ส.ค.นี้ ก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาในเวลา 14.00 น.ก็มีความเป็นไปได้เพราะจำเลยมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นดุลยพินิจขององค์คณะผู้พิพากษาที่จะพิจารณา สำหรับการเตรียมความพร้อมการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ได้ดำเนินการตามระเบียบ โดยประสานไปยังสถานีตำรวจนครบาลในพื้นจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร และประสานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาเตรียมพร้อมรับตัวจำเลยไปคุมขัง ส่วนที่อาจจะมีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาฟังคำพิพากษาจำนวนมากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาได้เตรียมความพร้อมในการถ่ายทอดภาพและเสียงการอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณามายังห้องโถงภายนอกเพื่อรองรับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององค์คณะผู้พิพากษาว่าจะพิจารณาอนุญาตให้มีการถ่ายทอดได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาทุจริตจัดซื้อกล้ายางคดีนี้ นับเป็นคดีที่ 2 ที่เป็นการพิสูจน์คดีการทุจริตในคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อจากคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี และให้ยกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น)

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ทำการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา และ มีคำสั่งให้คู่ความ 2 ฝ่าย ยื่นแถลงปิดคดีในวันที่ 11 ส.ค. พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ส.ค. เวลา 14.00 น. นี้

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ในฐานะประธาน คชก., นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะ คชก., นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ, นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมว.เกษตร ฯ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะ คชก. กับพวกรวม 44 คนประกอบด้วยกลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม.คณะที่ 2, กลุ่ม คชก., กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชนที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151, ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร
นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ  ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น