xs
xsm
sm
md
lg

นัดชี้ชะตา “เนวิน” คดีทุจริตกล้ายาง (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนวิน ชิดชอบ
ASTVผู้จัดการรายวัน – ศาลฎีกาฯ นัดตัดสินคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 17 ส.ค.นี้ ลุ้นชะตา “เนวิน” รอดคดีหรือหนีคุกไม่พ้นตามรอย “แม้ว” ลูกพี่เก่า

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ในวันที่ 17 ส.ค. 52 นี้ เวลา 14.00 น. หลังจากทนายความฝ่ายโจทก์คือคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และทนายความฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฯ ที่กำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา

คดีทุจริตกล้ายาง เป็นผลสืบเนื่องจากการติดตามตรวจสอบโครงการปลูกยางล้านไร่เพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรฯ ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่ง“ASTVผู้จัดการรายวัน” ติดตามรายงานมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ต่อมา เมื่อปี 2549 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร คณะคปค.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบการทุจริต และโครงการทุจริตจัดซื้อกล้ายาง เป็นหนึ่งในเรื่องที่ คตส.หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบโดยรับโอนมาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ก่อน

คตส. ได้แต่งตั้ง บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน คตส.เป็นประธานอนุกรรมการรับผิดชอบคดี และคดีดังกล่าวยังถือเป็น 1 ใน 3 คดี ที่ คตส. เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เอง โดยอีก 2 คดี คือ คดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่ฟ้องคดีให้รัฐ มีความเห็นต่างว่าสำนวนคดีที่ คตส. ส่งมาไม่มีความสมบูรณ์จึงไม่ยื่นฟ้องให้ และเมื่อ คตส. หมดวาระลงเมื่อเดือนมิ.ย. 2551 คดีถูกโอนมายัง ป.ป.ช.

***อสส.พลิ้ว คตส.ยื่นฟ้องคดีเอง

คดีนี้ นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความซึ่งได้รับมอบหมายจาก คตส. นำคำฟ้อง 65 หน้า พร้อมสำนวนพยานหลักฐานการทุจริต 7 ลัง รวม 1,887 หน้า ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 51 โดยฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก.

นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ คชก. กับพวก รวม 44 คน

ประกอบด้วย คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 , กลุ่ม คชก. , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์ , คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด ในเครือซีพี ,บริษัทรีสอร์ทแลนด์จำกัด และ บริษัทเอกเจริญการเกษตรจำกัด เป็นจำเลย

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ผู้ใดทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ไปทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
 
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, 157, 341, ประกอบ มาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9-13 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

จากสำนวนคำฟ้อง คตส. มีความเห็นว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนและพยานเอกสาร พอสรุปได้ว่าความเสียหาย ได้แก่ เงิน คชก. ที่กรมวิชาการเกษตร เบิกไปจากกรมบัญชีกลางจำนวน 7 งวด และได้จ่ายให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ค่าเสียหายในส่วนที่คำนวณได้เป็นตัวเงินจำนวน 1,100.69 ล้านบาท

บุคคลที่ต้องรับผิดชอบคือ คณะกรรมการ คชก. ในฐานะที่อนุมัติให้มีการใช้เงินคชก. และให้นำเงิน CESS มาใช้คืน คชก. นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการ นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้น คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัทรีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัทเอกเจริญการเกษตร จำกัด และกรรมการบริษัทเอกชนที่มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสามบริษัท นายสกล บุญชูดวง, นายสำราญ ชัยชนะ, นายญาณกร สิงห์ชุม ต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดโดยจะต้องรับผิดร่วมกันเต็มจำนวนความเสียหาย

นอกจากนั้น คตส.ให้ข้อสังเกตในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยเฉพาะในปีที่ 1 เป็นผลมาจากการส่งมอบกิ่งยางชำถุงไม่ครบและมีอัตราการตายสูงเนื่องจากมีการส่งมอบนอกระยะเวลาตามสัญญาและกรณีที่ส่งมอบในระยะเวลาตามสัญญามีอัตราการตายสูงเนื่องจากภัยแล้ง ในปีที่ 2 การดำเนินการส่งมอบกิ่งยางชำถุงครบถ้วน อัตราการตายถือว่าต่ำ แต่ปีที่ 3 การส่งมอบขาดไปประมาณ 16 ล้านต้น ส่วนการตายยังไม่ทราบ (เอกสารหน้าที่ 176 แฟ้มที่ 7)

***ศาลสรุปคำฟ้องเปิดคดี

ต่อมา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้เลือกองค์คณะโดยใช้วิธีลงคะแนนลับ มีผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก คือ 1.นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2.นายชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
 
4.นายสุรภพ ปัทมะสุคน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 5.นายวิชา มั่นสกุล ผู้พิพากษาอ่วุโสในศาลฎีกา 6.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 7.นายประทีป ปิติสันต์ ผู้พิหากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 8.นายรัตน กองแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 9.นายจรัส พวงมนี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ทั้งนี้ ที่ประชุมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ได้เลือกนายบุญรอด ตันประเสริฐ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะเจ้าของสำนวน คดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 หลังจากนั้น ศาลฎีกาฯ พิจารณาคำฟ้องและได้รับฟ้องคดีไว้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 51

ในวันนัดหมายสืบคดีนัดแรกเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 51 องค์คณะอ่านสรุปคำฟ้องโจทก์จากจำนวน 63 หน้า ระบุว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1-3 และ 5-18 ซึ่งเป็นกลุ่ม คชก. ว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2546 จำเลยร่วมกันมีมติอนุมัติยกเว้นมติของ คชก.ครั้งที่ 1/2534 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2534 และมีมติอนุมัติเงินจำนวน 1,440 ล้านบาท เพื่อให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการกำหนดเขตปลูกยางพาราใหม่ในพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยให้การจัดหาต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้นมาเพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.) นำต้นกล้าแจกให้เกษตรกร

การดำเนินโครงการนั้นให้ใช้เงินของกองทุนรวมเกษตรกร ที่ให้มีการผ่อนชำระเงินคืนภายในระยะเวลา 15 ปี อันเป็นมติที่ขัดต่อข้อ 19 (5) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมของเกษตรกร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 มาตรา 18 ซึ่งเป็นมติที่มิชอบทำให้กองทุนรวมเกษตรกรได้รับความเสียหายจากการปล่อยเงินเป็นจำนวน 1,440 ล้านบาท โดยการกระทำของจำเลยที่ 1-3 และ 5-18 ทำผิด ป.อาญา ม.151, 157, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรรัฐฯ

จำเลยที่ 4 และ 19-26 ในฐานะเป็นกรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และจำเลยที่ 27-44 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เสนอราคาและผู้ชนะประมูลราคา โดยระหว่างวันที่ 27 มี.ค. – 6 พ.ย. 2549 จำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ได้ขออนุมัติโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นประธาน เพื่อยกระดับและความมั่นคงของเกษตรกร โดยให้มีการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวน 1,440 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการซื้อต้นกล้ายางแจกให้กับเกษตรกร โดยการเสนอดังกล่าวไม่ชอบ

และจำเลยที่ 4 ยังได้อนุมัติให้จำเลยที่ 30 ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเบิกเงินล่วงหน้าจำนวน 200 ล้านบาท ให้กับจำเลยที่ 30 ซึ่งเป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 โดยการกระทำของจำเลย 19-26 ในฐานะเป็นกรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา ยังได้ร่วมกันมุ่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 30-32 ได้เป็นผู้เสนอราคาทั้งที่ขาดคุณสมบัติเพราะมีความสัมพันธ์กันในเชิงบริหารและทุนธุรกิจ

อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำต้นกล้ายาง จงใจยื่นหลักฐานประกวดราคาอันเป็นเท็จมีเจตนาปกปิดแปลงเพาะกล้ายาง รวมทั้งยังได้มีการกำหนดเงื่อนไขและเปลี่ยนแปลงวันประกวดราคา จนได้เปรียบเอกชนผู้เสนอราคารายอื่น ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จึงเป็นการกีดกัน สร้างความไม่เป็นธรรมในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ การกระทำของจำเลยที่ 4 , 9-26 และ30-32 เป็นการทำผิดตาม ป.อาญา ม.157 และ 341 พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ม.4, 9-12

การกระทำของจำเลยที่ 1-44 เป็นการทำให้จำเลยที่ 30 ได้รับเงินจากกองทุนรวมจำนวน 1,168 ล้านบาทเศษ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหมดตามกฎหมาย และให้นับโทษจำเลยที่ 1-5 ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) และให้จำเลยทั้ง 44 รวมกันหรือใช้แทนเงินจำนวน 1,168 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 30 ได้รับเงินไป คิดเป็นเงินจำนวน 248 ล้านบาทเศษ นับแต่วันฟ้อง และต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คดีนี้ ป.ป.ช. โจทก์ (แทน คตส.) เตรียมพยานไต่สวนรวมทั้งสิ้น 25 ปาก ซึ่งศาลอนุญาตให้ใช้เวลาไต่สวนพยานรวม 6 นัด กำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดเดือน มี.ค. 52 ซึ่งนัดสุดท้าย คือวันที่ 25 มี.ค. 52 โดยทนายความฝ่ายโจทก์ คือนายเจษฎา อนุจารีย์ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความแห่งประเทศไทย ขณะที่ฝ่ายจำเลย เตรียมพยานไต่สวนรวม 92 ปาก รวม 18 นัด สำหรับการไต่สวนพยานนั้นองค์คณะ ฯ อนุญาต ให้ไต่สวนพยานลับหลังจำเลยทั้ง 44 คนได้

เนวิน ชิดชอบ แถลงเปิดคดีด้วยวาจาในนัดแรกของการไต่สวนคดี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 52 ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการยกระดับรายได้และสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร เป็นโครงการที่ทำเพื่อประโยชน์เกษตรกร

มิหนำซ้ำ เนวิน ยังตีโวหารว่า “หากย้อนเวลากลับไปได้แล้วจะต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติโครงการหรือไม่ ผมยืนยันว่าก็จะดำเนินการอนุมัติโครงการนี้อีกต่อไป ซึ่งการอนุมัติดำเนินโครงการได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล และการพิจารณาสัญญาการจัดซื้อต้นกล้ายาง สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นทนายความแผ่นดินของรัฐบาลได้ตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน ดังนั้นจึงได้ดำเนินโครงการโดยความเชื่ออย่างสุจริตใจ ซึ่งตนหวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลที่จะให้ความยุติธรรม”

สิ่งที่ เนวิน กล่าวอ้างจะได้รับการพิสูจน์ในคำตัดสินของศาลฎีกาฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น