xs
xsm
sm
md
lg

วันแม่แห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ : การประชุม AEM ครั้งที่ 41

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับพสกนิกรชาวไทย เนื่องด้วยเป็น “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” ของ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ที่พระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุ 77 พรรษา เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง

รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัยกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม เป็น “วันแม่แห่งชาติ” มายาวนานหลายสิบปี นอกเหนือจากให้พวกเราชาวไทยทุกคนได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทุ่มเทพระวรกายด้วย “พระราชกรณียกิจ” และ “พระราชเสาวณีย์” กับนานาสารพัดโครงการ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม นิเวศวิทยา ป่า น้ำ ตลอดจนโครงการศิลปาชีพฝึกปรือประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดให้มีฝีมือในการประดิษฐ์งานศิลปะหัถตกรรมจนโด่งดังเลื่องชื่อไปทั่วโลก

นอกจากนั้น พระองค์ท่านยังทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยพระองค์เองบ่อยครั้ง ดูแลเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกทิศ โดยเฉพาะถิ่นทุรกันดาร เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ดังนั้น “พระราชกรณียกิจ-พระราชเสาวณีย์” ของพระองค์ท่าน ที่ทรงตรากตรำยึดถือปฏิบัติมายาวนานนับ 40-50 ปี แม้กระทั่งทุกวันนี้ พระองค์ท่านก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสม่ำเสมอ มิเคยขาดเหลือแต่ประการใด

ชาวไทยทุกคนรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เปรียบเสมือน “แม่” ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่าน ดังลูกหลานของพระองค์เอง

เราชาวไทยทุกคนจำต้องน้อมรับด้วยเกล้ากับพระราชเสาวณีย์ ตลอดจนพระกระแสรับสั่งหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งในปี 2552 นี้ ที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 77 พรรษา ซึ่งความจริงที่เราต้องยอมรับว่า พระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุที่มากแล้ว สมควรที่พระองค์ท่านจักได้พักผ่อนพระวรกายกับโครงการต่างๆ ให้น้อยลง

แต่ที่สำคัญที่สุด สำหรับชาวไทยทุกคน ที่นอกเหนือจากรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแล้ว จักต้องแสดงความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่าน พร้อมทั้งเทิดทูนพระองค์ท่านดั่ง “แม่ของพวกเราทุกคน!”

อย่างไรก็ตาม “วันแม่แห่งชาติ” วันนี้ เราต้องรำลึกถึง “พระคุณแม่บังเกิดเกล้า” ของเราทุกคนเช่นเดียวกัน ที่ “แม่” นั้นมี “บุญคุณใหญ่หลวง” แก่ลูกทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชาย

ผู้ที่เป็นแม่นั้น รักลูกทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร กว่าจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7-8 เดือนในการตั้งท้อง เมื่อคลอดออกมาแล้วได้ถนอมเลี้ยงดูลูกมาแต่แบเบาะ หรือภาษาโบราณบอกว่า “เลี้ยงมาตั้งแต่เท้าเท่าฝาหอย!” หมายความว่า “มือเท้าเล็กมาก” ด้วยการ “ป้อนนมป้อนข้าวป้อนน้ำ” เลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ จนสามารถพึ่งพาตนเองทำมาหาเลี้ยงชีพได้

เพราะฉะนั้น “วันแม่” วันนี้ เป็นวันที่ลูกๆ ทุกคนจำต้องกราบเท้าแม่และกล่าวขอบพระคุณท่าน ที่เราอยู่มาได้ทุกวันนี้ เพราะแม่เราแท้ แท้!

นอกเหนือจากวันสำคัญ “วันแม่” แล้ว ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็น “เจ้าภาพ” จัดการประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านเศรษฐกิจ-การค้า-การพาณิชย์ ครั้งที่ 41” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “AEM 41ST : Asean Economic Ministers Meetings” ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” ที่เพิ่งประชุมจบไปไม่นานนี้ที่จังหวัดภูเก็ต

“การประชุม AEM ครั้งที่ 41” นี้ ได้มีการตระเตรียมการมาตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา แต่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุจากการประท้วง “Asean Summit : สุดยอดผู้นำอาเซียน” ที่พัทยา ช่วงเดือนเมษายนก่อนเทศกาลสงกรานต์ จนต้องยืดระยะเวลาในการประชุม AEM นี้ มาในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13-16 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน (Millennium Hilton) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี

“กระทรวงพาณิชย์” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ได้ร่วมประชุมและกำชับให้การประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกด้าน อาทิ ด้านสารัตถะ ด้านอำนวยการ ด้านพิธีการ ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านรักษาความปลอดภัย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรมที่มีบทบาทสำคัญที่สุดกับการจัดการประชุมในครั้งนี้

ฐานะที่ประเทศไทยเป็น “ประธานอาเซียน” ในปีนี้ ความพร้อมในการจัดการประชุม ทั้งด้านการต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นด้านที่ “อาเซียน (Asean)” ให้ความสำคัญเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็น “วาระ (Agenda)” ที่ทั้งนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีทั้งสองด้าน กล่าวคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องยึดถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี “ด้านเศรษฐกิจ-การค้า-การพาณิชย์-การลงทุน” นั้น จาก “สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก” เช่นนี้ กระทรวงพาณิชย์จำต้องมีบทบาทเป็นอันดับแรกในเชิง Priority กับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ให้มีผลในเชิงรูปธรรมมากที่สุด

กล่าวคือ การจัดเนื้อหาสาระเชิงสารัตถะที่จะจัดให้มีกรอบข้อตกลง ตลอดจนความพร้อมที่จะร่วมมือผนึกกำลังกับการแก้ไขและดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองทั้ง 10 ประเทศ และไม่สำคัญเท่ากับ “กลุ่มประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ”

สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ส่วนกลุ่มประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 นั้น ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น เกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยจะมีภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา ร่วมหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 16 สิงหาคม เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ “สหภาพยุโรป : อียู” ในเบื้องต้นจะร่วมหารือกับ AEM ด้วย แต่ได้ขอถอนตัวในที่สุด เนื่องด้วยอุปสรรคปัญหาในการกำหนดกรอบข้อตกลง “เขตการค้าเสรี (FTA)” ระหว่างอาเซียนกับอียู ยังไม่สามารถกำหนดได้ แต่จะมีคณะสังเกตการณ์

“แนวคิด-เนื้อหา-ปรัชญา” ที่เรียกว่า “Theme” นั้นคือ “เดินด้วยกัน-ทำงานด้วยกันมุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : Walk Together, Work Together Towards AEC”

“AEC : Asean Economic Community” หรือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” คือ จุดมุ่งหมายสำคัญของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) หรืออีกประมาณ 5 ปีกว่าๆ นับจากนี้ เพื่อที่สร้างให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน และมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน รวมทั้งแรงงานฝีมืออย่างเสรี

พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า ภายในปี 2558 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะดำเนินการค้าขาย และภาคบริการ การลงทุน การเดินทางระหว่างกันอย่างอิสระเสรี เสมือนเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคือ “เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)” ที่ภาษีจะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์

“AEC : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” จะเป็นการบูรณาการ (Integration) สำคัญทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยจักต้องได้ประโยชน์อย่างมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยปี 2551 ไทยส่งออกไปอาเซียน 38,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกของไทย สูงกว่าการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเสียอีก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนอัตราร้อยละ 10 กว่าๆ เท่านั้น

ผลที่คาดหวังกับการประชุม AEM ครั้งที่ 41นี้ “กระทรวงพาณิชย์-รัฐบาล” โดยเฉพาะประเทศไทย จะได้รับการตอบรับจากประชาคมโลก ตลอดจนความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียน นอกเหนือจากนั้น การกำหนดทิศทางที่จะเดินหน้าทำงานไปด้วยกัน สู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ในปี 2558 ที่การผนึกกำลังเป็นฐานการผลิต การตลาดเดียวกัน ที่มีประชากรสูงถึง 570 ล้านคน ซึ่งอาเซียนมีการค้าระหว่างกันรวมแล้วประมาณ 4 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ และไม่สำคัญเท่ากับอาเซียนมีมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศรวม 1.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามจัดความพร้อมให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางด้านแฟชั่นและเป็นศูนย์กลางของผ้าไหม (Silk Hub)” ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้

เพราะฉะนั้น ขอให้ชาวไทยทุกคนร่วมกันเป็น “เจ้าภาพ” ที่ดีกับการประชุม AEM ครั้งที่ 41 นี้ เนื่องด้วยมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่งยวดในทุกมิติทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความพร้อม” ที่จะฟันฝ่ามรสุมวิกฤตเศรษฐกิจที่น่าจะผ่านพ้นไปปลายปี 2552 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น