xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากอาเซียน สหรัฐฯประกาศหวนคืนอุษาคเนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สหรัฐอเมริกากลับมาแล้ว" คำประกาศของ "ฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต่อเวทีประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในวันก่อนปิดฉากการประชุมครั้งสำคัญ

ไม่เพียงแต่มหาอำนาจของโลกเท่านั้นที่ใช้เวทีนี้เป็นหลักหมุดจุดเปลี่ยนหวนกลับเข้ามาแสดงบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหลังห่างเหินไปนาน

****ในส่วนของรัฐบาลอภิสิทธิ์เองก็ได้ใช้เวทีนี้สร้างความเชื่อมั่น ความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลอีกขั้นหนึ่ง ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ลบภาพแดงเถื่อนป่วนเมืองจนล้มการประชุมผู้นำอาเซียน ที่พัทยา มาก่อนหน้านี้

ปิดฉากไปอย่างชื่นมื่นสำหรับการเป็นเจ้าภาพของรัฐบาลไทยในการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 42 ,การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา(Post Ministerial Conferences: PMC),

การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในระดับรัฐมนตรี ที่มีมากถึง 32 วงประชุม ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา องค์กรระหว่างประเทศ และประเทศผู้สังเกตการณ์ รวม 27 ประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน และเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558" โดยจะทำให้ประชาชนอาเซียนใน 3 เสา ทั้งการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ทำอาเซียนให้มีความสำคัญกับประชาชน 500 ล้านคนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บรรยากาศโดยรวมจะราบรื่น แต่ก็มีการปล่อยข่าวให้ตื่นเต้นของบรรดา "หางแดง" ว่าแกนนำระดับหัวขวดจะบินด่วนลงมานำเกมป่วนถึงภูเก็ต แต่ถูกฝ่ายความมั่นคงอุ้มขึ้นเครื่องกลับ ส่วนหางแถวหางแดงในพื้นที่ก็ร่ำลือกันว่าได้พ็อกเก็ตมันนี่จากพ่อเมืองภูเก็ตขึ้นเหนือไปดูหมีแพนด้าที่เชียงใหม่

แถมด้วยข่าวจาก กอร.มน. ภาค 4 จับผู้ก่อการร้ายเจไอระดับปฏิบัติการ ซึ่ง พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. ออกมายอมรับว่ามีการจับกุมจริง ก่อนที่ทุกระดับนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงเลขาธิการอาเซียน ออกมาปฏิเสธ

นายกฯก็ย้ำว่า ทหารระบุเป็นเรื่องยาเสพติด มีบุคคลที่มีหมายจับอยู่ ไม่มีอะไรปิดบัง แต่สุดท้าย ไม่มีอะไรในกอไผ่แถมปล่อยตัวกลับบ้าน...ใครจะต่อยอดก็ต้องติดตาม

ไฮไลท์สำคัญของการประชุมคราวนี้ กลับไปอยู่วันก่อนปิดประชุม ช่วงการประชุมระหว่างรมว.ต่างประเทศอาเซียนกับรมว.ต่างประเทศคู่เจรจา ซึ่งผู้สื่อข่าวทั้งไทย-เทศ จับจ้องไปที่คำแถลงท่าทีของ "นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียน โดยก่อนหน้า นางคลินตัน และ อภิสิทธิ์ พบปะกันที่กรุงเทพฯ ก่อนลงมาที่ภูเก็ต

"สหรัฐอเมริกากลับมาแล้ว" (The US is back) ประโยคแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวต่อประชาคมอาเซียน เพื่อยืนยันว่า สหรัฐฯ เริ่มเดินหน้านโยบายอาเซียนของประธานาธิบดี บารัค โอบามา หลังจากที่ คอนโดลิซซ่า ไรซ์ อดีตรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธเข้าร่วมประชุมที่ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

นางคลินตัน หยอดคำหวานว่าเพื่อแสดงออกถึงความผูกพันของสหรัฐฯ ที่จะเสริมและขยายความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ และเริ่มกระบวนการโดยการเซ็นสัญญาไมตรีและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอาเซียน

"เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีพลวัตรในฐานะหุ้นส่วนกับอาเซียน นั่นเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าต้องมายืนอยู่ ณ ที่นี้"

สหรัฐอเมริกา กลับมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาและเธอ เชื่อว่าภูมิภาคนี้มีความสำคัญกับสันติภาพและความมั่งคั่งของโลก สหรัฐฯ ตั้งใจที่จะมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งยวดกับหุ้นส่วนในอาเซียน ในขณะที่เราก็พบกับความท้าทายหลายอย่างอยู่ต่อหน้า จากเรื่องความมั่นคงระดับโลกและระดับภูมิภาคไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(โลกร้อน)

นางคลินตัน ยืนยันว่า มีความภูมิใจที่จะประกาศให้รู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะส่งผู้แทนทางการทูตในอาเซียน ซึ่งนำโดยท่านทูตที่จาร์กาตาร์ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ พร้อมเน้นย้ำกับคณะทำงานทุกคนให้ใส่ใจกับสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มากและรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย รัฐบาลสหรัฐฯเห็นความสำคัญที่จะทำเรื่องนี้ ในขั้นแรกเราจะส่งนักการทูตที่มีความชำนาญไปจาการ์ตาร์ เพื่อทำงานกับอาเซียน

นางคลินตัน ยังมั่นใจว่า เมื่อสหรัฐฯกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และประเทศไทย ได้ปรึกษาหารือในเรื่องที่สนใจร่วมกัน ทั้งเรื่องน้ำ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เชื่อว่าภารผูกพันของรัฐบาลโอบามาต้องการมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับเอเชีย และจะใส่ใจเรื่องที่เป็นวิกฤต ก็คือ ปัญหาโลกร้อน

สหรัฐฯได้ขอให้สภาคองเกรสเพิ่มความช่วยเหลือ 7 เท่า ในกองทุนสำหรับภูมิภาคนี้ และสหรัฐฯ จะเปิดตัวความริเริ่มใหม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะรวมถึงการวิจัยและการลงทุนและนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเพื่อที่จะสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ในเอเชีย

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะขอร้องให้มีการประชุมระดับสูงเรื่องสภาพแวดล้อมภายในอาเซียน เมื่อทำงานร่วมกันเราก็หวังว่าจะช่วยโลก เผชิญหน้ากับปัญหานี้ได้เกี่ยวกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดและอนาคต นี่ถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน และก็เป็นอนาคตที่สำคัญของเราด้วย"

ขณะที่ สมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน รวมทั้งพันธมิตรหลักของเรา 2 ชาติในนี้(ไทย-ฟิลิปปินส์) และประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่สง่างาม(อินโดนีเซีย) ภูมิภาคนี้ เป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 6 ของเรา มีการลงทุนของสหรัฐฯ อยู่ในนี้มากกว่าอยู่ในจีนเสียอีก และที่สำคัญเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญ

"เพราะฉะนั้น อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคแห่งความหลากหลายที่สำคัญยิ่ง ประชากรที่แตกต่างกันทั้งเรื่องศาสนา วัฒนธรรม อะไรก็ตามที่หลากหลายในประสบการณ์ของมนุษยชาติ สามารถสร้างเป็นชุมชนได้ที่นี่ เพิ่งจะสัปดาห์นี้เองที่กลุ่มอาเซียนได้ตกลงกันสร้างแนวทางของเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมคุณค่าที่เรามีอยู่ร่วมกัน และหวังอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาพม่าด้วย"

เร่งจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคี

สำหรับภาพรวมการประชุมที่ส่งผลต่อประเทศไทยและอาเซียนนั้นมีหลายด้าน นับจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ยืนยันและให้เร่งรัดที่จะขยายวงเงินจาก 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มสมาชิกอาเซียนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นกองทุนพหุภาคีจำนวนเท่า ๆ กัน คิดเป็น 20% ของวงเงินรวม 120,0000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือส่งเงินสมทบรวม เท่ากับ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นการสมทบจากจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จากเดิมที่ต้องพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ข้อตกลงของการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2552 ที่บาหลี ที่จะจัดตั้ง CMIM ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2552 และจัดตั้งกลไกการลงทุนและการประกันเครดิต (Credit Guarantee and Investment Mechanism - CGIM) โดยมีเงินทุนเริ่มต้น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative - ABMI) เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรในสกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐมนตรีคลังเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ในเดือนตุลาคม 2552 นี้

ร่วมมือต้านหวัด 2009

ส่วนการแก้ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ญี่ปุ่น ประกาศสนับสนุนยาต้านไวรัสและอุปกรณ์ป้องกันให้กับอาเซียน 500,000 ชุด ทั้งยังเห็นว่า สามารถนำยาต้านไวรัสไข้หวัดนกมาปรับใช้เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ และอาเซียนก็ตกลงกันว่าจะต้องมีความร่วมมือกันเพื่อให้ได้มาซึ่งยาและเวชภัณฑ์ในราคาถูก และเรียกร้องให้เร่งดำเนินมาตรการและการดำเนินการดังกล่าวโดยเร็ว โดยเฉพาะการพิจารณาการจัดตั้งระบบอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเวชภัณฑ์การแพทย์ที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินในภูมิภาค และการส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาต้านไวรัสและวัคซีนป้องกันโรคระบาด

นำร่องสำรองข้าวฉุกเฉิน

สำหรับโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve -EAERR) และรับทราบข้อตกลงของที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน+3 ที่เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก ออกไปถึงวันที่ 28 ก.พ. 2553 และความพยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากลไกสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกให้เป็นกลไกถาวรภายใต้โครงการ "ระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3" (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve -APTERR)

ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศจะสนับสนุนข้าวจำนวน 300,000 ตันสำหรับโครงการ EAERR เพิ่มจากที่ญี่ปุ่นสนับสนุนข้าวจำนวน 250,000 ตัน

จัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ส่วนความสำคัญ ในการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนในชื่อ "คณะกรรมาธิการระหว่ารัฐบาลอาเซียน" แม้ประเทศฝั่งตะวันตก จะกังวลถึงสิทธิมนุษชนในประเทศเพื่อบ้านของไทยอย่างพม่าก็ตาม และการจัดตั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งในการตีความตามข้อตกลงแห่งกฎบัตรอาเซียน ก็เป็นเรื่องที่ไทยจะได้ประโยชน์เช่นกัน

ส่วนร่างขอบเขตองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (The Asean Inter governmental Commission on Human Rights ) หรือคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้มีการรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าไร้เขี้ยวเล็บในการแก้ปัญหา และจะได้มีการเสนอให้กับที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรับรอง และประกาศจัดตั้งขึ้นในเดือนต.ค.นี้

ส่วนปัญหาในเรื่องเกาหลีเหนือ อาเซียนได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ประณามการทดลองขีปนาวุธ และนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และขอให้เกาหลีเหนือกลับเข้าสู่การเจรจา 6 ฝ่ายอีกครั้ง

ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ต่างแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดิน และการยิงจรวดที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้กระบวนการเจรจาหกฝ่ายกลับมาประชุมอีกครั้งโดยเร็ว

ด้านพลังงาน โดยเฉพาะใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมัน การสำรองน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการต่อความสําคัญที่เพิ่มมากขึ้นของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค ซึ่งการดำเนินการโครงการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน+3 ว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและโครงการความร่วมมืออาเซียน+3 ว่าด้วยกลไกการพัฒนาที่สะอาดในปี 2552

ทั้งนี้ ข้อเสนอการการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area -EAFTA) ยังอยู่ในขั้นการศึกษา รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของ EAFTA ระยะที่สอง

ขณะที่ปากัวนิวกีนี กับติมอร์ เลสเต้ เป็น 2 ประเทศ ที่กำลังเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน ก็จะได้ประโยชน์จากข้อริเริ่มในการรวมตัวกันในการลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างอาเซียนเก่าและใหม่

สำหรับการประชุมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน(ASEAN Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 43 จะจัดที่ประเทศเวียดนาม ราวเดือนกรกฏาคม 2553

สหรัฐฯกร้าว อาเซียนต้องกล้าขับพม่าออก

การประชุมอาเซียน แม้หลายคนอาจมองว่า เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่คนทั่วโลกกำลังจับตามองปัญหาที่ในแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกอาเซียนที่เรียกร้อง โดยเฉพาะประเด็น ปัญหาภายในของที่ให้พม่า โดยเห็นว่า องค์การสหประชาชาติ มีบทบาทพิเศษต่อกระบวนการสร้างความปรองดองภายในพม่า พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทที่ต่อเนื่องของสหประชาชาติต่อกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งต้องมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มีความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้สนับสนุนให้พม่าจัดการเลือกตั้งในปี 2553 อย่างอิสระ ยุติธรรม และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีที่รัฐบาลพม่ากับองค์การสหประชาชาติได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิส

****ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีไทย และในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่า การพิจารณาคดีนางออง ซาน ซู จี นั้นเป็นเรื่องภายในของพม่า ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการศาล ซึ่งอาเซียนจะไม่เข้าไปก้าวก่าย จะรอดูผลการตัดสิน และหาทางในการแก้ไขต่อไป

ขณะที่นางคลินตัน มีท่าทีที่แข้งก้าวโดยเห็นว่า "พม่าดำเนินการไปในทางตรงกันข้ามกับประเทศอาเซียนอื่นๆ สหรัฐฯมีจุดยืนที่จะเน้นย้ำ ว่าสหรัฐฯ ต้องการที่จะเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลพม่าและคิดว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็อยากเห็นเช่นกัน" เป็นที่มาของคำว่า "สมาชิกอาเซียนต้องกล้าตัดสินใจขับพม่าออกจากสมาชิก"

สุดท้ายผลลัพธ์ สำหรับคนภูเก็ต แม้จะอยู่กับประกาศประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในช่วงก่อนการประชุมตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. จนถึงวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ กลับคิดว่าไม่มีผลกระทบแม้แต่น้อย ทำให้เชื่อว่า ภูเก็ตจะมีเงินสะพัดเข้าจังหวัดหลายร้อยล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น