xs
xsm
sm
md
lg

ยาไทยพร้อมรับมือการค้าเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้ประเทศไทยได้มีการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในระดับพหุภาคี ในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ระดับภูมิภาคในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และทวิภาคีในรูปของข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เช่น อาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-อินเดีย ไทย-ญี่ปุ่น และกำลังจะมีผลบังคับใช้อีกหลายประเทศ เช่น อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
การเปิดเสรีดังกล่าว แม้จะทำให้การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็พบว่ามีบางกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี เช่น โคเนื้อ โคนม ผลิตภัณฑ์นม เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิก และปลาป่น เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs)
ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวให้อยู่รอดได้ หรือให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ กว่า กองทุนเอฟทีเอ โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการกองทุน และดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ
หลังจากจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ มีโครงการเสนอขอเข้ารับความช่วยเหลือแล้ว 12 โครงการ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือก็ไม่ยุ่งยาก (สามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอใช้เงินกองทุนเอฟทีเอได้ที่ www.dft.go.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385)
วันนี้อยากจะยกตัวอย่างของอุตสาหกรรมยา ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้กรอบ AFTA ที่มีสมาชิก 10 ประเทศและกำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
อุตสาหกรรมยาของไทย มีคู่แข่งสำคัญ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะมีความพร้อมในการเปิดเสรีมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ได้เล็งเห็นว่า ถ้าจะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศสามารถแข่งขันกับทั้ง 2 ประเทศข้างต้นและประเทศที่เหลือได้ จะต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมยา จึงได้ขอรับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอ
เมื่อมีการนำเสนอโครงการให้กองทุนเอฟทีเอพิจารณา ในที่สุดได้มีการอนุมัติโครงการสนับสนุนออกมา 2 โครงการ คือ
1.โครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมยาเพื่อรองรับผลกระทบ AFTA ในข้อตกลงด้าน ASEAN Harmonized Products ของสินค้ายาจากระบบเอกสารการขึ้นทะเบียนยาแบบ ACTD (ASEAN Common Technical Dossier)
2.โครงการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาเพื่อรองรับผลกระทบจากบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement : MRA) ตามกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน
สำหรับการจัดทำโครงการที่ 1 เนื่องจากคณะทำงานด้านเภสัชภัณฑ์ภายใต้คณะกรรมการที่ปรึกษาของอาเซียนด้านมาตรฐานและคุณภาพ (ACCSQ-PPWG) ได้กำหนดรูปแบบของเอกสารขึ้นทะเบียนตำรับยา และให้บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบไม่ช้ากว่าวันที่ 31 ธ.ค.2551 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เริ่มทดลองใช้ตั้งแต่เดือนม.ค.2551 สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม และกำหนดบังคับใช้เต็มรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการทุกรายตั้งแต่เดือนม.ค.2552 แต่ผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนยาใหม่และยาชื่อสามัญใหม่ ซึ่งต้องการเอกสารหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียนตำรับมากกว่ายาชื่อสามัญ
ส่วนการจัดทำโครงการที่ 2 เนื่องจากอาเซียนได้มีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียน (MRA) สำหรับการตรวจผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2552 ที่ผ่านมา ทำให้อาเซียนต้องใช้มาตรฐาน GMP ระดับเดียวกันในเขตอาเซียน โดยนำมาตรฐานของ GMP ของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Schemes : PIC/S) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นต้นแบบ ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย หลังจากที่อย. ได้มีการเปลี่ยนแปลงประกาศ GMP ใหม่ เช่น เรื่องของระบบคุณภาพ หรือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของโรงงานที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นต้น และหากผู้ประกอบการไทยไม่มีความพร้อมที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าว จะทำให้การส่งออกสินค้ายาของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีปัญหาได้ นอกจากนี้ ACCSQ-PPWG ยังดำเนินการจัดทำ MRA อีกหลายฉบับ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือในระยะต่อไปด้วย
การจัดทำโครงการทั้ง 2 โครงการข้างต้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาของไทย ในการรับมือกับผลกระทบจากการเปิดเสรีที่เกิดขึ้น และขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าเมื่อได้มีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อุตสาหกรรมยาของไทยจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในการเปิดเสรี และแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไม่อายใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น