xs
xsm
sm
md
lg

จำนำสินค้าเกษตรเจ๊ง3.5หมื่นล.กอร์ปศักดิ์ล้างวงจรอุบาทว์ข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”เจองานช้าง จำนำสินค้าเกษตรข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพด เจ๊งยับแล้วกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ส่อขาดทุนข้าวเพิ่มอีก 4,000 ล้าน หลังกขช. ไฟเขียวเพิ่มโควตาจำนำ “กอร์ปศักดิ์” เดินหน้าล้างวงจรอุบาทว์จำนำ-ระบายข้าว จี้สอบพิรุธทำอคส.อึกอักตอบไม่ได้ ทำไมผูกขาดว่าจ้างบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว เปิดรายชื่อพบบริษัทในเครือซีพีทำสัญญาร่วม 3 ปีซ้อน พร้อมชงครม. 9 มิ.ย. ทำลายลำไยโคตรโกงในสต็อกปี 46-47 กว่า 4.6 หมื่นตัน รัฐสูญอีก 3,000 ล้าน ด้านผู้เลี้ยงกุ้งได้เฮ คชก.ไฟเขียวรับจำนำ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ผลจากการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ในราคาสูงกว่าราคาตลาดมากจนเกินไป ได้ส่งผลให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรทั้งหมดมาขายให้กับรัฐบาลแทนที่จะขายในตลาดให้กับพ่อค้า เพราะได้ราคาดีกว่า และส่วนใหญ่ไม่มีการไถ่ถอนสินค้าคืน ขณะที่พ่อค้าก็ไม่ยอมซื้อสินค้าในตลาด แต่รอที่จะซื้อของถูกในสต๊อกของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การรับจำนำข้าวในราคาตันละ1.18 หมี่นบาท ขณะที่ราคาตลาดตันละ 9,000 – 10,000 บาท ส่งผลให้ข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำจนเต็มโควตาจำนำ 4 ล้านตัน และส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนทันทีถึง 8,000 ล้านบาท รวมกับค่าบริหารจัดการ ค่าฝากเก็บ ค่าสีแปรสภาพข้าว และอื่นๆ อีก 2 พันล้านบาท ทำให้ขาดทุนจากการรับจำนำข้าวในขณะนี้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท และหากรวมโควตารับจำนำที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่เพิ่มอีก 2 ล้านตัน คาดว่าจะขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า4,000 ล้านบาท
สำหรับมันสำปะหลัง ได้กำหนดโควตารับจำนำจำนวน 13 ล้านตัน ขณะนี้มีมันสำปะหลังเข้าสู่โครงการใกล้จะเต็มโควตาแล้วเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลรับจำนำในราคากิโลกรัมละ1.80 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 1 บาทกว่า มีผลการขาดทุนจากการรับจำนำแล้วไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลกำหนดโควตารับจำนำ 1.1 ล้านตัน ที่กิโลกรัมละ8.50 บาท แต่ขณะนี้ราคาตลาดอยู่ที่ 4 บาทกว่า ขาดทุนจากการรับจำนำไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4.5-5.5 พันล้านบาท

** เร่งระบายมันและข้าวโพดก่อน
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ระบายสินค้าเกษตร วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในการจัดทำยุทธศาสตร์การระบายสินค้าเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะหาวิธีการระบายสินค้าเกษตรที่ดีที่สุด และรัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งจะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะสินค้าแต่ละชนิดไม่เหมือนกันบางตัวเสียหายเร็ว แต่บางตัวก็เก็บรักษาไว้ได้นาน
สำหรับวิธีการระบายที่ได้มีการหารือกัน เช่น การขายในรูปรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) การขายในรูปรัฐบาลกับเอกชน (จีทูพี) การเปิดประมูล การให้เสนอราคาซื้อ รวมไปถึงการบริจาค การเก็บสำรองไว้เป็นสต็อกฉุกเฉิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้ขอให้หน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กลับไปทำการบ้าน โดยนำข้อมูลที่หน่วยงานตนเองเชี่ยวชาญมาเสนอให้ที่ประชุมในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ พิจารณาอีกครั้ง และตั้งเป้ากำหนดยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันนี้
“สิ่งที่คณะทำงานทำ ได้ยึดมติครม. ที่กำหนดให้ทำยุทธศาสตร์การระบายสินค้าเกษตรว่าเมื่อไรถึงเหมาะสม ราคาขายควรจะเป็นเท่าไร วิธีการขายเป็นอย่างไร และต้องเป็นไปตามเป้าหมาย คือ รัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุด โดยสินค้าที่คาดว่าจะต้องเร่งระบาย คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด เพราะเป็นสินค้าที่เก็บได้ไม่นาน ส่วนข้าวยังพอมีเวลา” นางสาวชุติมากล่าว

**คชก.ถกพิรุธเซอร์เวย์ผูกขาด
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ คชก. ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ วานนี้ (5 มิ.ย.) มีการหยิบยกเรื่องการจัดจ้างบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (surveyor) ว่าควรว่าจ้างใหม่หรือไม่ มาหารือ เพราะกระทรวงพาณิชย์สรุปว่า ได้รับร้องเรียนมาว่า surveyor ที่จ้างอยู่ผูกขาดการทำงานกับอคส. และยังเรียกรับเงินใต้โต๊ะจากโรงสีกระสอบละ7 บาท เพื่อให้การตรวจสอบคุณภาพข้าวผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในที่ประชุมมีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างมาก เพราะอคส.ไม่สามารถตอบได้ว่า surveyor ที่จ้างอยู่ผูกขาดการทำงานกับอคส.หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติให้ อคส.ไปหาข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุม คชก.ในวันอังคารที่ 9 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง
" กรมการค้าภายใน และอคส. ต้องไปวางแนวทางแก้ไข หากมีการว่าจ้าง surveyor ใหม่ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพ ชนิด และน้ำหนักข้าวสารตามโครงการ ที่โรงสีจะส่งมอบให้ อคส. และให้ได้ตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ให้ดีอยู่เสมอตลอดระยะเวลาว่าจ้าง โดยกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบชดใช้น้ำหนักข้าวสาร หากมีการสูญเสียระหว่างเก็บรักษา อันเนื่องมาจากการลดลงของความชื้นตามธรรมชาติ ตามระยะเวลาที่กำหนด”

**เปิดชื่อเจอบริษัทเครือซีพีขาประจำ
รายงานข่าวแจ้งว่า อคส.ได้จัดทำรายชื่อบริษัท surveyor ที่ทำสัญญาใน 8 โครงการ ปี 2549/2552 เสนอที่ประชุม โดยเป็นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 49 จำนวน 10 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 50 จำนวน 14 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 51 จำนวน 18 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 52 จำนวน 15 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 48/49 จำนวน 18 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 49/50 (ข้าวสารเจ้า) จำนวน 14 ราย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 49/50 (ข้าวหอมมะลิ) จำนวน 14 ราย และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี51/52 จำนวน 10 ราย
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับรายชื่อบริษัท surveyor ที่ อคส. รายงานที่ประชุม กว่า 100 บริษัท พบว่า มีบริษัทที่เข้ามาเป็น surveyor มากกว่า 3 ปีติดต่อกันในการรับจำนำทั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง และนาปี (50/52) ประกอบด้วย บ.เค.พี.เอส.ตรวจสอบ จำกัด (บริษัทในกลุ่มเครือ เจริญโภคภัณฑ์) , บ.เบล เซอร์เวย์ จำกัด ,บ.นีโอเทค อินสเปคชั่น แอนด์ เคมิคัล จำกัด ,บ.ที.ซี.เอสซุปเปอร์รินเทนเด้นท์คอร์ป จำกัด ,บ.อามานะฮ์ซุปเปอร์รินเทนเด๊นส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บ.เอเชีย อินสเปคชั่น จำกัด ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเชียเพรสคอนโทรล แอนด์ อินสเปคชั่น ,บ. มาดี เซอร์วิส จำกัด ,บ.ยูนิตี้ อะกริ อินสเป้คชั่น จำกัด และบ.คอนโทรล ยูเนี่ยน เวิล์ด กรุ๊ป (ประเทศไทย) เป็นต้น
**สัญญาณหายนะของข้าวไทย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งของการประชุม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวระหว่างการประชุมโดยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.53 นี้แล้ว
โดยเฉพาะเรื่องข้าวจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องลดภาษี และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี สินค้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน โดยให้ต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 5 % และยกเลิกโควต้านำเข้าในปี 2546 และเหลือ 0 % ในปี 2553 จากตรงนี้จะทำให้ข้าวประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้มาในไทย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม พม่า ซึ่งตรงนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศ กำลังจะจัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นมาในทุกภาค ตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นไป เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในวงการข้าว ไม่ว่าจะเป็นชาวนา หรือเจ้าของโรงสี
จากนั้นนายกฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจะอันตราย และจะสุ่มเสี่ยงต่อพันธสัญญา AFTA เพราะถ้าเปิดกว้างคำตอบที่ได้ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวคือ ให้ยกเลิกพันธสัญญา หากจะมีการจัดเวทีสาธารณะ ก็ขอให้กำหนดกรอบเป็นตุ๊กตาว่า จะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็น ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนเมื่อมีผลเราจะทำอะไรได้บ้าง และปรับตัวยังไง และรัฐบาลเยียวยาอย่างไร ชดเชยอย่างไร ถ้ามีผลกระทบต่อชาวนาซึ่งเรื่องของกรอบการจัดเวทีสาธารณะภายใต้การค้าเสรีอาเซียน ให้บรรจุเป็นวาระการประชุมใน กขช.ครั้งต่อไป ซึ่งจากนี้ไปการประชุม กขช.จะมีการประชุมเดือนละครั้ง
ขณะที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า “ อยากให้นำตัวอย่างครั้งที่ไทยทำพันธสัญญากับประเทศจีนในเรื่องของผัก ผลไม้ ซึ่งควรจะนำตรงนั้นมาเป็นตัวอย่าง “เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเราล้ม หากไม่เตรียมพร้อมไว้ก่อน”
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการสรุปข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม โดยระบุว่า มีถึง 20 จังหวัดที่ร้องขอมา ได้แก่ เชียงราย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี นครปฐม พิจิตร ลพบุรี ชัยนาท ราชบุรี สุโขทัย อุตรดิตถ์ สระบุรี มหาสารคาม นนทบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร อุทัยธานี เพชรบุรี พะเยา และเชียงใหม่ รวม 2,055,932.19 ตัน จากยอดดังกล่าวที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่ชาวนาแต่ละจังหวัดเรียกร้องจำนำมา พบว่ามีไม่กี่จังหวัด แต่ตัวเลขเกิน 2 ล้านตัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเลขที่ตรงกับข้อเท็จจริงกับความต้องการของชาวนาหรือไม่ โดยนายกฯ ได้ย้ำว่า ข้อเท็จจริงของแต่ละจังหวัด ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม
ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า “จังหวัดอยุธยาเห็นมีการประท้วงกันบ่อย แต่ไม่เห็นมีตัวเลขร้องขอมาเลย” ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงความไม่โปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมประชุมฝ่ายผู้ชำนาญการได้ขอให้ กขช. ระมัดระวังการขยายปริมาณรับจำนำข้าว เพราะอาจจะหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆเรื่องของสวมสิทธิ์ และการออกใบประทวนไม่ถูกต้อง
การอภิปรายดังกล่าวส่งผลให้ นายนาคม ธีสุวรรณจักษ์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ( อคส.) ได้กล่าวขึ้นกลางที่ประชุมว่า ตนเองรู้สึกไม่สบายใจ ที่มีข่าวมาตลอดว่า อคส.มีความไม่โปร่งใส มีส่วนร่วมทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งๆ ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างเต็มที่ จึงอยากขอความเป็นธรรมจากท่านนายกฯ และสังคมด้วย
จากนั้น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขอให้กำลังใจรักษาการ ผอ.อคส. จากที่ตนทำงานใน 3 รัฐบาล มาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็พบว่าการทุจริตน้อยลง ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ก็ต้องทำต่อไป โดยเฉพาะปัญหาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาสวมสิทธิ์ ซึ่งประเทศก็มีเขตชายแดน 500 กว่ากิโลเมตร ก็เป็นเรื่องยากต่อการควบคุม

**สิ้นปีนี้ เลิกจำนำข้าว
ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการรายหนึ่ง กล่าวขึ้นมาว่า มีความเป็นห่วงต่อการที่เกษตรกร นำพันธุ์ข้าวไวต่อแสงมาปลูก ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ อายุสั้น เก็บเกี่ยวได้เร็ว ทำให้สามารถปลูกได้ 7 ครั้งต่อหนึ่งรอบปี จนแทบไม่ได้ปลูกข้าวนาปีกันแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรนำมารับจำนำซ้ำได้ ต้องตรวจสอบให้ดี
มาถึงตอนนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้บุคคลที่เกี่ยวข้องพยายามชี้แจงว่า ต่อไปนี้จะไม่มีการรับจำข้าวต่อไปแล้ว วงจรรับจำนำ 8-10 ปี จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้
แหล่งข่าว กล่าวว่า คณะกรรมการในส่วนผู้ชำนาญการได้สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการรับจำนำมาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร โดยมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากรัฐบาลขยายปริมาณรับจำนำไปเรื่อยๆ รัฐจะเป็นผู้ซื้อข้าวชาวนาทั้งหมด ถ้าขยายไปเรื่อยๆ เต็มวงเงิน 00 % ก็จะกลายว่ารัฐ เป็นผู้ซื้อข้าวซะเอง
**ไฟเขียวรับจำนำกุ้งขาว2.5 หมื่นตัน
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม คชก. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งด้วยการรับจำนำกุ้งขาวแวนาไม โดยมีมติให้รับจำนำกุ้งจากเกษตรต่ออีก 1 ครั้งในปี2552 แต่จะรับจำนำในราคาต่ำกว่าที่เกษตรเรียกร้องรายการละ 5 บาท จำนวน 1 หมื่นตัน โดยให้เกษตรกรรายย่อยไม่เกินรายละ 2 ล้านบาทจากจำนวน 3 พันราย
พร้อมกันนี้ ยังได้อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยวงเงิน 300 ล้านบาท จากเงินกู้ของกระทรวงการคลัง สำหรับใช้ในโครงการรับซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า (คอนแทรคฟาร์มิ่ง ) เพื่อให้สหกรณ์ 8 แห่งกู้ยืมไปรับซื้อกุ้งจากเกษตรกร ประมาณ 3 พันราย ปริมาณ 1.5 หมื่นตัน รวมช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งทั้ง 2 ระบบ จำนวน 2.5 หมื่นตัน คาดว่า ครัวเรือนผู้เลี้ยงกุ้งจะได้ประโยชน์ 3 หมื่นราย
ขณะที่รูปแบบการรับจำนำและหน่วยงานที่จะเข้าไปบริหารจัดการให้รัฐขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาเข้าที่ประชุม คชก.อีกครั้งวันอังคารหน้า
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากอนุกรรมการโครงการแทรกแซงตลาดกุ้ง ปี 48/49 พบว่า ฏครงการแทรกแซงทำให้รัฐขาดทุนถึง 496,788,306.56 บาท และพบว่าปี 51 รัฐขาดทุนจากการแทรกแซงอีก 786,697,720.32 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการกระชุมนายกอร์ปศักดิ์ ได้โทรศัพท์ไปยังผู้ชุมนุมที่ จ.สงขลา เพื่อชี้แจงมติดังกล่าว โดยระบุว่า จะอนุมัติรับจำนำต่ำกว่าราคาที่เกษตรกรผู้ลี้ยงกุ้งเรียกร้อง
สำหรับราคารับจำนำ มีดังนี้ กุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ราคารับจำนำ 135 บาท/กก. ขนาด 60 ตัว/กก. ราคา 125 บาท/กก. ขนาด 70 ตัว/กก. ราคา 110 บาท/กก.เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. เพื่อช่วยพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำ เพราะขณะนี้ราคากุ้งขาวลดลงมาก ขณะที่ราคาตลาด ณ ตลาดมหาชัย กุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ราคารับจำนำ 95 บาท/กก.
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และ หนึ่งในคณะกรรมการ คชก. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะให้มีการรับจำนำกุ้ง เนื่องจาก อาจมีเรื่องของการทุจริตโครงการได้ง่าย เงินไม่ถึงมือประชาชน และช่วยเหลือเกษตรกรเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลจะช่วยเหลือจริงๆ ก็ควรจะให้เงินส่วนต่าง ระหว่างราคาตลาดกับราคารับจำนำให้เกษตรกรโดยตรงมากกว่า
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติโครงการนี้ เชื่อว่าจะทำให้ขาดทุนถึง800 ล้านบาท และการรับจำนำกุ้งในปีที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก เก็บกุ้งไว้นานกว่า 3 เดือน จะทำให้คุณภาพของกุ้งและราคาต่ำลงมาอีก อย่างไรก็ตาม ราคากุ้ง ณ ปัจจุบันไม่ได้มีราคาตกมากอยู่ที่ กก. ละ 125 - 140 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งหากมีการรับจำนำจะต้องสูงกว่านี้ หรือ อยู่ที่ประมาณ160 บาท/กก.

**อัดเงิน 570 ล้านจัดการลำไย2.9 แสนตัน
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายกำกับดูแลลำไย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการบริหารจัดการลำไย ปี 2552 เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาราคาลำไยที่อาจะตกต่ำในจังหวัดแหล่งผลิตภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และลำพูน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 570 ล้านบาท โดยกู้ยืมจาก คชก. 370 ล้านบาท และเงินจ่ายขาดจาก คชก.จำนวน 200 ล้านบาท และเห็นชอบให้กำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการ ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. ถึงวันที่ 20ส.ค.52 โดยคาดว่าจะมีผลผลิตเข้าสู่โครงการไม่ต่ำกว่า 293,000 ตัน
สำหรับวิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆในการจัดการบริหาร ลำไยภายในประเทศ จำนวน 5 หมื่นตัน เป็นกลไกตลาดปกติ 3 หมื่นตัน เป็นการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจาก คชก.จำนวน 120 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตร(สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร) และวิสาหกิจชุมชนเพื่อรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรเพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศ 2 หมื่นตัน
ที่ประชุม ได้อนุมัติเงินจ่ายขาดจาก คชก.วงเงิน 60 ล้านบาทเพื่อชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายและค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 2 บาทให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ร่วมเข้าโครงการที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมตามหลักเกณฑ์และตามที่จังหวัดกำหนดเพื่อกระจายลำไยสู่ปลายทาง อนุมัติงบจ่ายขาด 75 ล้านบาทเพื่อชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายและค่าบริหารจัดการ กก.ละ 2.50 บาทส่งออกไปต่างประเทศ 4 หมื่นตัน เป็นลำไยเกรด AA กก.ละ 18 บาท เกรด A กก.ละ 14 บาท และเกรด B กก.ละ 10 บาท ขณะที่ลำไยในประเทศ เกรด AA กก.ละ 12 บาท เกรด A กก.ละ 8 บาท และเกรด B กก.ละ 4 บาทเป็นอย่างต่ำ
ขณะที่ใช้เงินหมุนเวียน คชก. 250 ล้านบาทในโครงการแปรรูปเป็นลำไยเนื้อทอง 3 หมื่นตัน (3 พันตันแห้ง) จัดทำลำไยกระป๋องและน้ำลำไย 2 หมื่นตัน ขณะที่ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก 152,000 ตัน เกษตรกรและบริษัทเอกชนมีเงินหมุนเวียนอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และให้เงินจ่ายขาดจาก คชก. 50 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี ส่วนลำไยแช่แข็ง 1 พันตันผู้ประกอบการจะดำเนินการตาปกติ ขณะที่อนุมัติเงินจ่ายขาด คชก. 10 ล้านบาท ทำการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมในประเทศ

**ทำลายลำไยโคตรโกง4.6 หมื่นตัน
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ขณะทีลำไยอบแห้งปี 46/47 ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในคลังของ อคส. และอตก. จำนวน 59 คลัง ที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน จำนวน 4.6 หมื่นตัน เนื่องจากโครงการนี้มีการจับกุมภาคเอกชน และเกษตรกร จำนวนมากที่ลักลอบกระทำผิดจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รมว.เกษตรฯ กำลังรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารเพื่อเสนอครม.ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะเสนอวิธีการทำลายด้วยการบดให้แตก และบดอัดเป็นแท่งโดยนำไปทำเชื้อเพลิง หรือการฝังกลบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนฯ เข้ามาประมูลเพื่อทำลายลำไยอบแห้งดังกล่าว ซึ่งขณะนี้การทำลายไม่ควระมีราคาสูงกว่ากก.ละ 1.60 บาท เนื่องจากมีการเสนอราคามาทั้ง1.45 บาท 1.70 บาท และ1.95 บาทตามลำดับ โดยคาดใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มงบประมาณ จำนวน 7 ล้านบาท เพื่อแทรกแซงตลาดลิ้นจี่ที่จ.เชียงใหม่ และจ.พะเยา เพิ่มเติม 1 พันตัน จากเดิมอนุมัติงบประมาณแล้ว 37 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น