xs
xsm
sm
md
lg

“กอร์ปศักดิ์” เปิดศึก “เจ๊วา” อีกยก พบ 20 จังหวัดขอจำนำข้าวเพิ่มมีพิรุธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าว
รัฐบาลห่วงข้าวไทยพบหายนะ ผลพวงเขตการค้าเสรีอาเซียน จำต้องลดภาษี-เลิกมาตรการโควตา ด้าน “กอร์ปศักดิ์” เปิดศึก “เจ๊วา” อีก กังขาข้อมูลพบ 20 จังหวัดเหนือ-อีสานร้องขอเพิ่มปริมาณจำนำข้าวเกิน 2 ล้านตัน รักษาการ ผอ.คคส.โอดถูกมองมีส่วนทุจริต วอนขอความเมตตา ขณะนายกฯ สั่งทุกฝ่ายทำความเข้าใจหยุดจำนำข้าวสิ้นปีนี้

วันนี้ (5 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งของการประชุม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวระหว่างการประชุมโดยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.53 นี้ โดยเฉพาะเรื่องของข้าวจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องลดภาษี และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี สินค้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน โดยให้ต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 5% และยกเลิกโควตานำเข้าในปี 2546 และเหลือ 0% ในปี 2553 จากตรงนี้จะทำให้ข้าวประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในไทย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม พม่า ซึ่งตรงนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศ กำลังจะจัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นมาในทุกภาค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในวงการข้าว ไม่ว่าจะเป็นชาวนา หรือเจ้าของโรงสี

จากนั้นนายกฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจะอันตราย และจะสุ่มเสี่ยงต่อพันธะสัญญา AFTA เพราะถ้าเปิดกว้างคำตอบที่ได้ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวคือ ให้ยกเลิกพันธะสัญญา หากจะมีการจัดเวทีสาธารณะก็ขอให้กำหนดกรอบเป็นตุ๊กตาว่า จะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนเมื่อมีผลเราจะทำอะไรได้บ้าง และปรับตัวยังไง และรัฐบาลเยียวยาอย่างไร ชดเชยอย่างไรถ้ามีผลกระทบต่อชาวนาซึ่งเรื่องของกรอบการจัดเวทีสาธารณะภายใต้การค้าเสรีอาเซียน ให้บรรจุเป็นวาระการประชุมใน กขช.ครั้งต่อไป ซึ่งจากนี้ไปการประชุม กขช.จะมีการประชุมเดือนละครั้ง

ขณะที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า “อยากให้นำตัวอย่างครั้งที่ไทยทำพันธะสัญญากับประเทศจีนในเรื่องของผัก ผลไม้ ซึ่งควรจะนำตรงนั้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเราล้ม หากไม่เตรียมพร้อมไว้ก่อน”

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการสรุปข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม โดยระบุว่ามีถึง 20 จังหวัดที่ร้องขอมา ได้แก่ เชียงราย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี นครปฐม พิจิตร ลพบุรี ชัยนาท ราชบุรี สุโขทัย อุตรดิตถ์ สระบุรี มหาสารคาม นนทบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร อุทัยธานี เพชรบุรี พะเยา และเชียงใหม่ รวม 2,055,932.19 ตัน จากยอดดังกล่าวที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่ชาวนาแต่ละจังหวัดเรียกร้องจำนำมา พบว่ามีไม่กี่จังหวัด แต่ตัวเลขเกิน 2 ล้านตัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเลขที่ตรงกับข้อเท็จจริงกับความต้องการของชาวนาหรือไม่ โดยนายกฯ ได้ย้ำว่าข้อเท็จจริงของแต่ละจังหวัดต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม

ขณะที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า “จังหวัดอยุธยาเห็นมีการประท้วงกันบ่อย แต่ไม่เห็นมีตัวเลขร้องขอมาเลย” จนได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงความไม่โปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมประชุมฝ่ายผู้ชำนาญการได้ขอให้ กขช.ระมัดระวังการขยายปริมาณรับจำนำข้าว เพราะอาจจะหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆเรื่องของสวมสิทธิ์ และการออกใบประทวนไม่ถูกต้อง

การอภิปรายดังกล่าวส่งผลให้ นายนาคม ธีสุวรรณจักษ์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้กล่าวขึ้นกลางที่ประชุมว่า ตนเองรู้สึกไม่สบายใจ ที่มีข่าวมาตลอดว่า อคส.มีความไม่โปร่งใส มีส่วนร่วมทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างเต็มที่ จึงอยากขอความเป็นธรรมจากท่านนายกฯและสังคมด้วย

“ผมขอความเมตตาจากท่านนายกฯ ด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานหนักมาตลอด รู้สึกเสียใจกับข่าวที่เกิดขึ้น” นายนาคม กล่าว

จากนั้น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขอให้กำลังใจรักษาการ ผอ.อคส. จากที่ตนทำงานใน 3 รัฐบาล มาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็พบว่าการทุจริตน้อยลง ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ก็ต้องทำต่อไป โดยเฉพาะปัญหาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาสวมสิทธิ์ ซึ่งประเทศก็มีเขตชายแดน 500 กว่ากิโล ก็เป็นเรื่องยากต่อการควบคุม

ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการรายหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า มีความเป็นห่วงต่อการที่เกษตรกร นำพันธุ์ข้าวไวต่อแสงมาปลูก ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ อายุสั้น เก็บเกี่ยวได้เร็ว ทำให้สามารถปลูกได้ 7 ครั้งต่อหนึ่งรอบปี จนแทบไม่ได้ปลูกข้าวนาปีกันแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรนำมารับจำนำซ้ำได้ ต้องตรวจสอบให้ดี

มาถึงตอนนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้บุคคลที่เกี่ยวข้องพยายามชี้แจงว่า ต่อไปนี้จะไม่มีการรับจำข้าวต่อไปแล้ว วงจรรับจำนำ 8-10 ปีจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการในส่วนผู้ชำนาญการได้สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการรับจำนำมาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร โดยมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากรัฐบาลขยายปริมาณรับจำนำไปเรื่อยๆ รัฐจะเป็นผู้ซื้อข้าวชาวนาทั้งหมด ถ้าขยายไปเรื่อยๆ เต็มวงเงิน 100% ก็จะกลายว่ารัฐเป็นผู้ซื้อข้าวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น