xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ "กอร์ปศักดิ์"ขวางพาณิชย์ ลั่นระบายสินค้าเกษตรต้องผ่านครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการรายวัน – “กอร์ปศักดิ์” วิ่งสู้ฟัดจัดระเบียบแทรกแซงสินค้าเกษตรทั้งระบบ ดึงอำนาจระบายสินค้าในมือข้าราชการการเมืองขึ้นบนโต๊ะครม.ตรวจสอบความโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมดึงงบต้นกล้าอาชีพ 300 ล้านบาท ขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศขีดเส้นเสร็จภายใน 3 เดือน รองรับแผนประกันราคาพืชผลเกษตร นำร่องมันสำปะหลัง ตามด้วยข้าวโพด เผยการประมูลสินค้าเกษตรมีปัญหามากเพราะสต็อกสินค้ามหาศาลตกค้างจากรัฐบาลก่อนต้องวางหลักเกณฑ์การขายให้ชัดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

ปัญหาการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทั้งโครงการรับจำนำและการระบายสินค้า ที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับจากศึกเกาเหลาข้าวโพด มาจนถึงการประมูลขายข้าว และมันสำปะหลัง สร้างความกังขาเคลือบแคลงถึงความไม่โปร่งใสไม่น้อยโดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของนางพรทิวา นาคาศัย พรรคภูมิใจไทย ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องเข้ามาแก้ไขด้วยการวางหลักเกณฑ์การแทรกแซงราคาและระบายสินค้าเกษตรเพื่อให้มีความชัดเจน ตอบคำถามต่อสาธารณะได้ แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องในผลประโยชน์หรือไม่ ก็ตาม

“กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” ให้สัมภาษณ์ “ASTVผู้จัดการรายวัน” อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นและการวางแนวทางสินค้าเกษตรในอนาคต ดังนี้

***โจทย์ใหญ่ ขายสินค้าในสต็อกมหาศาล

นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตร เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัครและต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลสมชาย ตอนนั้นราคาค่อนข้างสูง แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันจะจำนำในราคาสูงหรือสูงกว่าราคาตลาดด้วยซ้ำ ทำให้การจำนำล้มเหลว คือ ลักษณะการจำนำเป็นการดูดสินค้าเกษตรออกสู่ระบบจำนวนหนึ่ง เพื่อให้มีสินค้าขายในตลาดน้อยลง ราคาก็จะสูงขึ้น นี่คือหลักของการจำนำ แต่เวลาจำนำมาก ราคาสูงมาก ทุกคนก็อยากเข้ามาจำนำ กลายเป็นว่าเป็นการนำสินค้าเข้ามาขายให้รัฐ ไม่ใช่จำนำ ราคาในตลาดก็ดึงไม่ขึ้น

รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีทางเลือก หากไปเปลี่ยนราคาจำนำก็ถูกเกษตรไล่แน่ เพราะรัฐบาลในอดีตตั้งราคาจำนำไว้สูง ทำไมรัฐบาลเก่าได้ราคาสูงแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำไมถึงได้ราคาต่ำกว่า การมาลดราคาลงในทางการเมืองทำไม่ได้ ก็กลายเป็นว่าดันทุรังทำต่อไปเรื่อย ก็กลายเป็นว่า เดิมข้าวโพด เคยตั้งไว้ 5 แสน ก็กลายเป็นเพิ่มแล้วเพิ่มอีกเป็นล้านกว่า มันสำปะหลังก็เช่นกัน กลายเป็นเกือบสิบล้านตัน และเกือบจะไม่พอ เราก็เลยมีสินค้าทุกตัวเก็บไว้ในโกดังเยอะมากเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ปัญหาก็คือว่า เราจะขายสินค้าที่มีจำนวนมากนี้อย่างไร นี่คือโจทย์ข้อที่หนึ่ง

ปกติการดูแลสินค้าเกษตร จะมีคณะกรรมการ คชก. เป็นผู้ดูแล ยกเว้นข้าว เพราะ เป็นสินค้าที่มีความสำคัญ รัฐบาลทุกรัฐบาลจะเข้าไปดูแลเอง โดยมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ดูแล มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายกรัฐมนตรี มีความเห็นว่า มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็สำคัญ ดังนั้น จึงมอบหมายให้ รองฯ กอร์ปศักดิ์ ดูแล มันสำปะหลัง และข้าวโพด รองฯ สุเทพ (เทือกสุบรรณ) ดูยางพารากับปาล์มน้ำมัน ท่านนายกฯ ดูข้าว นี่คือการดูแลสินค้าเกษตรหลักๆ ผลไม้ยังเป็นกระทรวงเกษตรฯ แต่มาขอเงินที่ คชก.

เมื่อสั่งให้ทำ ตนเองก็ไปตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตลาด เพื่อรับผิดชอบด้านการขาย โดยคณะอนุกรรมการฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

**** ครม. ตีกลับทบทวนขายข้าวโพดใหม่

เรื่องข้าวโพด เกิดปัญหาขึ้นเพราะในระหว่างที่ตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ปรากฏว่า มีการไปวางแผนขายข้าวโพดก่อนที่คณะอนุกรรมการตลาดจะทำแนวนโยบายด้านการจำหน่ายมาให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ที่ตนเองเป็นประธานอยู่ พิจารณา คำถามจึงมีว่า กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจทำเช่นนั้นหรือไม่ ก็ปรากฏว่า กระทรวงพาณิชย์ บอกว่าการจำหน่ายข้าวโพด ยึดถือหลักของคณะรัฐบาลชุดที่แล้วที่มอบอำนาจให้คณะทำงานที่มีองค์การคลังสินค้า และกรมการค้าภายใน เป็นผู้ดำเนินการ

ตนจึงตั้งคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าวถูกต้องหรือไม่เพราะคณะรัฐบาลชุดที่แล้วหมดวาระไปแล้ว ก็เลยขอให้นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาเดือนหนึ่งกว่าจะนำเข้าครม. ในวันที่ 13 พ.ค. 52

**** มติครม.ต้องนำหลักเกณฑ์ระบายสินค้าทุกตัวให้ ครม.อนุมัติก่อน

คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ก็เลยมีมติออกมาว่า 1) เรื่องการระบายข้าวโพด ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพด กลับมาทบทวนใหม่ และ 2) ให้นำหลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้าเกษตรทุกตัว ขอให้นำเข้าคณะรัฐมนตรี และต้องได้รับการอนุมัติก่อนขาย เพราะมีปัญหาขาดทุนมาก จึงเป็นที่มาของการประชุมครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 52 ที่กระทรวงพาณิชย์ มีการนำหลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้าในสต็อกของรัฐบาล เข้าครม.

และเป็นที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์กำกับดูแลสินค้าเกษตร ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน เป็นคณะกรรมการชุดเล็กๆ ทำงานเฉพาะกิจ เพราะครม.หาข้อยุติไม่ได้ ก็เลยบอกว่า ให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ไปหารือกัน และได้ข้อสรุป เมื่อวันที่ 27 พ.ค. คือ

หนึ่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเพื่อทำงานเกี่ยวกับการระบายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน

สอง คณะทำงานชุดดังกล่าว จะยกร่างยุทธศาสตร์การจำหน่ายและระบายสินค้าเกษตร ประกอบด้วย เวลาในการระบายสินค้าที่เหมาะสม การกำหนดราคากลาง จากนั้นให้เสนอคณะอนุกรรมการด้านการตลาดที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และจะต้องเสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรนั้นๆ พิจารณาอีกครั้งเพื่อดำเนินการระบายสินค้าตามยุทธศาสตร์

สาม การระบายสินค้าเกษตร ต้องแยกคุณภาพสินค้าเป็นเกรดต่างๆ โดยมอบหมายให้ อคส. และ อตก. ดูแลรักษาสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยจะไม่เข้ามาทำหน้าที่จำหน่ายสินค้าเกษตร เช่นที่ผ่านมาแล้ว รวมทั้งจะมีการสำรวจปริมาณและคุณภาพของสินค้าก่อนการประมูลขายอีกด้วย

เมื่อกำหนดกรอบการทำงานเช่นนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะต้องไปยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นและนำเสนอต่อครม.ในวันที่ 3 มิ.ย. 52 นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแล้วเรื่องทุกอย่างก็ยังอยู่ในมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เหมือนเดิม กรมการค้าต่างประเทศ รัฐมนตรีก็เป็นผู้ดูแล ดังนั้นเราก็หวังว่า จะมีรัฐมนตรีที่ดี

*** วางระบบเพื่อตรวจสอบได้ง่าย

สำหรับสิ่งที่ตนเองทำก็คือการวางระบบ องค์การคลังสินค้า ไม่มีหน้าที่ขาย แต่มีหน้าที่เก็บสต็อกสินค้า ส่วนกรมการค้าต่างประเทศ แม้อดีตจะมีผลงานอย่างไร แต่ก็ต้องเชื่อไว้ก่อนว่า จะมีข้าราชการที่ดี เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ข้าราชการทางการเมืองที่ใครตั้งมาก็ไม่รู้ ก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น สังคมก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ

การสร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบทำงานได้มีประสิทธิภาพ เมื่อเก็บสินค้าไว้แล้วของไม่ดีก็ต้องรู้ให้ชัดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ หากทิ้งไว้นานเกินเวลา เราเองเป็นผู้เสียหาย เราดันเก็บไว้ หากว่าเพิ่งเข้าคลังไปไม่นานแต่กลับเสียหาย ใช้ไม่ได้เลย แสดงว่ามันชื้น ขณะที่ตอนซื้อเสียค่าอบแสดงว่าอบมาไม่ดี ก็ต้องมาดูว่าใครเป็นคนเซ็นรับไว้ ตรวจสอบได้ โกดังใครโกดังมัน อคส.ก็มีหน้าที่ตรงนั้น

ส่วนผู้ขายก็ไปสำรวจสินค้าที่อคส.เก็บไว้แยกเป็นเกรดๆ โกดังนั้นเกรดเอ เกรดบี ก็ประมูลไปตามเกรด ก็จะเห็นชัด

จากเรื่องของข้าวโพดที่มีความเห็นต่างเพราะตามกฎหมายแล้ว กระทรวงพาณิชย์ จะไปขายโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดว่า ทำได้หรือไม่ คณะรัฐมนตรี ก็มีคำตอบออกมาว่า ไม่ได้ ก็เลยยกเลิกไปแล้ว และเท่าที่ทราบคือ มีการยกเลิกไปหมดแล้วทุกตัว มันสำปะหลังด้วย ซึ่งมีการขายแป้งมันสำปะหลังและมันเส้น เรื่องนี้มีการรายงานในคณะรัฐมนตรี

*** ประมูลขายข้าววุ่นเพราะเงินเยอะ

ส่วนเรื่องข้าว กขช.ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ขึ้นมาเหมือนกรณีข้าวโพด ต่างกันตรงที่คณะกรรมการข้าวโพดที่ตนเองเป็นประธาน ชัดเจนว่าไม่ให้อำนาจคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ต้องมาผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดก่อน ส่วน กขช. ได้ให้อำนาจมานานแล้ว และเมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เข้ามาเป็นประธาน ก็ไม่ได้มีการแก้ไข

เพราะฉะนั้นคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ก็มีอำนาจในการขาย เพียงแต่ว่ามันจะสลับซับซ้อนขึ้นมาเมื่อมีมติครม. ว่าไม่ให้ขาย ให้เอาเกณฑ์การระบายเข้ามาให้ ครม. พิจารณาก่อน ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 52 แล้ว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ เขาบอกว่า เปิดประมูลมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 6 พ.ค. 52 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มติครม.วันที่ 13 พ.ค. ก็บอกชัดเจนว่า ถ้าจะขายก็ต้องให้ครม.อนุมัติเห็นชอบก่อน

ในฐานะที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ที่จะบอกต่อสาธารณะได้ก็คือ จนถึงเวลานี้กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีการรายงานเรื่องการระบายข้าวให้ที่ประชุม ครม. ทราบในรายละเอียดแต่อย่างใด คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะทราบจากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์

เรื่องนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ จะต้องตัดสินใจเองว่าจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อไม่ให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอย่างไร ตนเองในฐานะรองประธาน กขช. ก็ยังไม่ได้ประชุม และอยู่ใน ครม. ก็ยังไม่ได้มีการรายงานเรื่องนี้ เรื่องข้าวเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ดูแล ตนเองคงตอบไม่ได้ว่าควรจะทำอย่างไรแม้ว่าจะอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์กำกับดูแลสินค้าเกษตร เรื่องนี้เงินมันเยอะ น่าปวดหัว

*** เลิกจำนำ หันรับประกันราคาแทน

สำหรับแนวทางที่วางไว้ใหม่ คือ ไม่ใช้วิธีการจำนำแล้ว เพราะปัญหาเยอะ จะใช้แนวทางการประกันราคาแทน ตั้งไว้ที่ 1.70 บาท เกษตรกรต้องเดินไปหา ธ.ก.ส. เพื่อบอกว่า ตนเองจะปลูกมันสำปะหลังที่ไหน จำนวนกี่ไร่ ผลผลิตประมาณเท่าไหร่ แล้วทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ไว้ เมื่อเวลาไปขายแล้วต่ำกว่า 1.70 บาท ทาง ธ.ก.ส.จะชดเชยให้ นี่เป็นแนวทางที่ประกันราคาให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ไม่ใช่รับจำนำแล้วได้เฉพาะคนที่วิ่งเข้ามาจำนำเท่านั้น

แต่การรับประกันราคาทุกคนที่ไปลงทะเบียนไว้จะได้ราคาตามที่รัฐประกัน และยังป้องกันไม่ให้มันสำปะหลังที่เข้ามาจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เข้าโครงการรับจำนำ เป็นการป้องกันไม่ให้เสียค่าเชคสต็อกสินค้า มาดูว่าสินค้าดีไม่ดีอย่างไร ตลาดก็จะเดินไปตามปกติ เพียงแต่รัฐชดเชยในส่วนต่างเท่านั้น กระบวนการจะง่ายกว่าการรับจำนำ แต่ก็จะมีอุปสรรคที่ต้องเข้าไปดู

การรับประกันราคาอาจขัดกฎระเบียบองค์การค้าโลกบ้าง แต่เวลานี้ก็ตัวใครตัวมันอยู่แล้ว

นอกจากมันสำปะหลัง จะรับประกันข้าวโพดอีกตัวหนึ่ง แนวทางนี้มีความมุ่งหมายคือ ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้และมีกำไรไม่มากนักพออยู่ได้ แต่เป็นหลักประกันว่า ไม่ขาดทุน

*** ดึงงบต้นกล้าอาชีพสร้างงานลงทะเบียนเกษตรกร

สินค้าเกษตรทุกตัว จะใช้ระบบทะเบียนเกษตรกร ซึ่งเราไม่ได้ทำกันมานานมากแล้ว โดยใช้โครงการต้นกล้าอาชีพเข้าไปช่วย หมายความว่า มีคนที่ว่างงานจำนวนหนึ่ง จะฝึกเขาโดยส่งไปที่กระทรวงเกษตรฯ ทำทะเบียนเกษตรกร แล้วส่งไปทั่วประเทศ เพื่อไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งประมงด้วย ภายใน 3 เดือนให้แล้วเสร็จ ใช้งบประมาณมากพอสมควร เบื้องต้นใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ คุ้มแสนคุ้ม เพราะจะได้รู้ว่าในแต่ละปีเกษตรกรปลูกอะไร ทำอะไร เพื่อจะได้วางแผนด้านการเกษตรให้ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เกษตรกรมาเบิกเงินกันไม่รู้เกษตรกรจริงหรือปลอม

เรื่องนี้มอบหมายงานให้กระทรวงเกษตรฯ ทำ แต่มาเบิกเงินที่โครงการต้นกล้าอาชีพ เป็นการสร้างงานไปในตัว ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ได้มา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนงานได้หลายอย่าง และความจริงแล้วควรจัดสรรงบให้ทำทุกปีด้วยซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น