xs
xsm
sm
md
lg

ศึกระบายข้าวฟัดกันเละ “มาร์ค” ส่ง “เทพ” เคลียร์ “สมศักดิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – อุบาทว์การเมืองเก่า! “อภิสิทธิ์” ลอยตัวโยน “เทพเทือก” รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลมือประสานสิบทิศเคลียร์ศึกภูมิใจไทย ก๊วน“สมศักดิ์” ปมขัดแย้งระบายสต็อกข้าวหลังพรรคร่วมฟัดกันนัวร่วมชั่วโมง หาข้อยุติไม่ได้ พ่อค้าข้าวได้ทีหยันวงแตกเพราะการเมืองอยากเข้ามาร่วมวงแบ่งใต้โต๊ะ “กอร์ปศักดิ์” ไล่ต้อน “พรทิวา” อ่วม ลั่นยกเลิกโครงการจำนำสินค้าเกษตรทั้งระบบ ปิดช่องการทุจริต “พาณิชย์” ช็อกถอนแนวทางประกันราคาและประกันภัยข้าวเปลือกนาปี 2551-52 ฤดูกาลใหม่ทันควัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (26 พ.ค.) ถึงการพิจารณาระบายสต๊อกข้าว 2.6 ล้านตันว่า ที่ประชุมเสนอความคิดเห็นหลากหลายแต่ตกลงในหลักการว่า การระบายสินค้าเกษตรจากนี้ไปจะต้องทำเพื่อการส่งออก เพื่อป้องกันการเวียนเทียน และกระทบต่อราคาในตลาด ที่สำคัญต้องไม่ให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ โดยกลยุทธ์ และราคา มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ดูแล พร้อมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และสภาพัฒน์ ซึ่งจะหารือรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง

กรณีเอกชนเตรียมฟ้องร้องรัฐบาลในเรื่องการระบายข้าวนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีการรายงานเรื่องนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ต้องเป็นผู้ชี้แจง เพราะที่ครม. มีมติไปเป็นเรื่องการให้ทำหลักเกณฑ์การระบายข้าว

ส่วนเรื่องข้าวมีปัญหาถึงกับต้องให้นายสุเทพเข้ามาดูแล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มี ตนเป็นประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) อยู่ บังเอิญกรรมการข้าวมีภาคเอกชนอยู่ด้วย อาจจะไม่เหมาะสมที่จะไปคุยเรื่องวิธีการระบายตรงนั้น

เมื่อถามว่า ทำไมไม่นำเรื่องเข้าชุดของนายกอร์ปศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เพราะนายกอร์ปศักดิ์ และนางพรทิวา มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง นายสุเทพจะได้มาช่วยดูเพื่อฟังความเห็นทุกฝ่าย วันนี้ความเห็นหลากหลายมาก จึงได้ขอให้นายประดิษฐ์ มาร่วมด้วย

** ครม.เครียด ฟัดกันนัว

แหล่งข่าวที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า บรรยากาศการประชุม ครม.เป็นไปอย่างเคร่งเครียดระหว่างการหารือแนวทางการระบายสินค้าเกษตร และแนวทางการประกันราคาและประกันภัยข้าวเปลือกด้วย โดยในที่ประชุม นายอภิสิทธิ์ และนายกอร์ปศักดิ์ ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการซักถามนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ นายกฯ ซักถามประเด็นที่มาที่ไปของการรับจำนำข้าว แล้วนำมาเก็บไว้ในโกดัง แต่กลับพบว่าตอนที่รับจำนำข้าวนั้นคุณภาพข้าวดี แต่เวลาระบายข้าวกลับได้ราคาที่ต่ำมาก เพราะคุณภาพข้าวเสียหาย จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ไปกำชับองค์การคลังสินค้า(อคส.) ในการดูแลคุณภาพข้าว ซึ่งควรจะต้องติดกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลสินค้าเกษตรเหล่านี้ด้วย

ระหว่างนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ชี้แจงถึงวิธีการและธรรมเนียมปฏิบัติที่ดำเนินการกันมาในการระบายสินค้าเกษตร พร้อมกับนำเสนอสูตรการคิดคำนวณต้นทุนในการระบายสินค้าเกษตร เช่น ค่าเสื่อม ค่าโกดัง เป็นต้น

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า วิธีการระบายสต็อกข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ด้วยการระบายสินค้าออกจำนวนมาก จะกระทบต่อราคาตลาดโดยรวม ดังนั้นจึงควรทยอยระบายข้าวไปทีละ 2-3 แสนตันจะดีกว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในท้องตลาดที่เป็นอยู่

นายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหาในรายละเอียดจำนวนมาก และเป็นผลพวงสืบเนื่องจากมติ ครม.ในรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้เข้าไปแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จในภาพรวม เพื่อวางรากฐานในการระบายสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างถาวร

ด้านรมว.พาณิชย์ ให้เหตุผลว่าในการระบายข้าว 2 ล้านตันในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เพื่อเร่งระบายสต็อกเก่าออกไป เพราะจะมีการเปิดรับจำนำข้าวในฤดูกาลใหม่ขึ้นมาอีกประมาณช่วงเดือน ก.ค.นี้

ขณะที่นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในครม.ว่า “ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรทิวา กับเจ้าคุณระเบียบ ตกลงจะเอายังไง”

อย่างไรก็ตาม ในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อยุติ นายกฯจึงหันไปกระซิบหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ชั่วครู่หนึ่ง จากนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดูแลโครงสร้างการรับจำนำ การจัดเก็บ และ การระบายในภาพรวมและเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วยนายสุเทพ เป็นประธาน นายกอร์ปศักดิ์ นางพรทิวา และ นายประดิษฐ์ ร่วมเป็นกรรมการ โดยจะต้องนำข้อยุติ และข้อสรุปนำเสนอในที่ประชุม ครม. ภายในสัปดาห์หน้า

**ส่ง“เทพเทือก”เคลียร์ภูมิใจไทย

แหล่งข่าว กล่าวว่า การแต่งตั้งนายสุเทพ และนายประดิษฐ์ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการในการวางกรอบเป็นแนวทางในอนาคตของสินค้าเกษตรไม่เฉพาะเรื่องข้าว ซึ่งเป็นการให้ไปเคลียร์ปัญหากันเอง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการระบายข้าวที่รัฐบาลที่ผ่านมามีมติไปแล้ว หรือคณะอนุกรรมการที่นายกอร์ปศักดิ์ แต่งตั้งขึ้น ที่ยังมีหน้าที่ในการระบายสินค้าเกษตรทุกชนิด รวมไปถึงข้าว ดังนั้นขณะนี้ไม่มีการยกเลิกอะไรทั้งสิ้น แต่ให้นายสุเทพ มาเป็นตัวกลาง

“บางเรื่องยังคงมีปัญหา นายสุเทพ ก็คงจะเข้าไปกำหนดกรอบใหม่ เป็นเรื่องที่ 3-4 คนต้องไปวางแผนกันทั้งเรื่องการกำหนดราคา วิธีการระบายสินค้าในอนาคต นายกฯ ก็ขอให้หารือให้เสร็จเสนอครม.ในสัปดาห์หน้าเพราะสินค้าเกษตรอาจจะเสื่อมสภาพ" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลว่า ระหว่างการประชุม นายสุเทพ และนายกอร์ปศักดิ์ ซึ่งนั่งติดกันได้ปรึกษาหารือกันสองคนในเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนั้นในระหว่างประชุม ครม. เรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยหลายคน เช่น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ได้พยายามชี้แจงความจำเป็นการระบายข้าวสต๊อกนี้ว่า มีปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะอ้างถึงปัญหาที่ภาคเอกชน เตรียมฟ้องกระทรวงพาณิชย์ แทนนางพรทิวา ที่ชี้แจงน้อยมาก ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ก็แสดงความเห็นกับประเด็นนี้เช่นกัน

แหล่งข่าวที่ประชุม ครม. กล่าวต่อว่า ระหว่างพิจารณาวาระครม. เรื่องมาตรการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร นายกอร์ปศักดิ์ ได้สอบถามนางพรทิวา คนเดียวกว่าครึ่งชั่วโมงโดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การรับประกันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งมีปัญหาเรื้อรังมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตของโครงการ โดยนางพรทิวา ตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนนัก โดยมีรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คอยตอบปัญหาแทนเป็นระยะๆ เช่น ความจำเป็นที่อาจเปลี่ยนเป็นการประกันราคา และในระยะยาวอาจจะยกเลิกการรับจำนำสินค้าเกษตรทั้งหมด ซึ่งควบคุมการทุจริตยาก และที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการดำเนินการผิดระบบ จะไม่มีการรับจำนำมันสำปะหลัง เป็นต้น

**เทพเทือก เรียก 3 รมต.ถกด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามากำหนดกรอบการระบายสินค้าเกษตร ภายหลังการประชุมครม. เวลา16.30 น. นายสุเทพ ได้เรียกประชุมเป็นการด่วน โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ นางพรทิวา นายประดิษฐ์ ที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่ง เนื่องจากนายกฯ กำชับมาว่า ให้แล้วเสร็จวันนี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษกิจ ในวันที่ 27 พ.ค. เวลา 9.00 น.

**“กอร์ปศักดิ์”ดึงอำนาจระบายสินค้าเกษตร

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอความเห็น ครม.เกี่ยวกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 ที่ให้คณะกรรมการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรมีอำนาจในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรทั้งหมด และอาจจะส่งผลให้สามารถระงับการระบายข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ หรือ อคส. ได้เซ็นสัญญาขายข้าวกว่า 2.6 ล้านตันให้เอกชนชนะการประมูลไปแล้วทั้ง 17 ราย ว่า ถ้าหากตีความออกมาในลักษณะนั้น ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ในความจริงแล้วก็ควรจะเป็นอำนาจของผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร อยู่แล้ว

“แต่ประเด็นก็คือ ขณะนี้ส่วนนั้นคงไม่ต้องกังวล กระทรวงพาณิชย์ จะเอาหลักเกณฑ์เหล่านั้นเข้าครม. เมื่อ ครม.มีความเห็นในเรื่องหลักเกณฑ์อย่างไร ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการคณะต่างๆ ในครม. ก็ต้องอิงครม. ความหมายของตนก็คือกระโดดข้ามไปครม. แทนที่ต้องไปถึงคณะกรรมการฯ ที่ตนเป็นประธาน ก็เป็นสิ่งที่ดี จะได้เป็นการรวบรัด”

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนว่าเจ้าของเรื่องจะไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า มันก็ต้องทำตามระเบียบราชการ

**ไล่ต้อน“พรทิวา”อ่วม

ส่วนปัญหาการระบายสินค้าเกษตรก็เกิดขึ้นต้องหยุดชะงักหลังอนุมัติ ทำให้สินค้าคุณภาพต่ำลง ขายได้ในราคาถูก นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นความล่าช้าที่เกิดขึ้น ต้องไปดูว่าอยู่ตรงไหน

"ในส่วนข้าวโพด ผมมีมติของคณะกรรมการฯ ให้นำเข้าครม. แต่ปรากฎว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือนถึงนำเข้า ครม. ถ้ากระทรวงพาณิชย์ มีความกังวลว่าของจะเสีย ก็ควรจะนำเข้าทันที ผมเองไม่มีอำนาจนำเรื่องเข้า ครม. กระทรวงมีอำนาจในการนำเข้าครม. ซึ่งเราสั่งได้ในฐานะประธาน แต่เขาไม่นำเข้าครม.เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการเสียเวลา กรณีข้าวโพดเวลารัฐบาลรับซื้อเอาเข้ามาต้องเสียค่าอบให้แห้ง อยู่ที่ 1 ปี ข้าวโพดที่แห้งไม่จริงตามสเปกอยู่ได้แค่ 6 เดือน ถ้ามันเสีย แสดงว่าไม่ได้อบตามที่ควรจะทำ" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากมีอำนาจสิทธิขาดจะแก้ปัญหานี้อย่างไร นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ครม.ต้องมีมติการระบายข้าวโพด มีหลักเกณฑ์อย่างไร ก็จะต้องเอามติครม.รีบเร่งประชุม เข้าใจว่าได้มีการกำหนดการประชุมไว้เรียบร้อยแล้ว และให้เดินตามมติ ครม.

**เลิกระบบจำนำปิดช่องทุจริต

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เวลานี้อย่างมันสำปะหลัง ก็จบแล้ว และวันนี้ก็มีเรื่องข้าวไม่จำนำแล้ว จากนี้ไปเลิกกันเสียทีเรื่องจำนำ เรื่องข้าว ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน ต้องถามนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกขช. เรื่องมันสำปะหลัง ก็นำเข้าครม.และประกาศเลยว่า ต้นฤดูรัฐบาลจะประกาศประกันราคาเลยที่ 1.70 บาท เพราะฉะนั้นไม่มีการจำนำ หากขายได้ในราคาที่ 1.60 บาท มาเบิกกับรัฐบาลได้ 10 สตางค์

ส่วนกรณีที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการคดีพิเศษ ระบุว่า การทุจริตรับจำนำสินค้าเกษตรไม่มีวันหมดสิ้นนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของการรับจำนำรัฐเสียหายเยอะ การควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตทำได้ยาก
สำหรับการประกันราคาสินค้าเป็นเรื่องที่ดีเกษตรกรเห็นแล้วรู้ชัดเจนมาลงทะเบียนไว้ขอร่วมโครงการ และรู้ว่าขายได้เท่าไร ต้นทุนเท่าไร หากคิดว่าราคาประกันไม่ดี ดูว่าไปทำอย่างอื่นกำไรมากกว่า เขาก็สามารถตัดสินใจได้ มีให้เห็นชัดเจนก่อนเพาะปลูกมันสำปะหลังขายได้ 1.70 บาท ข้อดีตรงนี้เกษตรกรทุกคนได้ แต่ระบบจำนำได้เฉพาะคนที่สามารถเข้ามาจำนำในโครงการเท่านั้น เกษตรกรล้านกว่าคน อาจจะมีจำนำเพียง 5 หมื่นแล้ว รัฐก็เสียเงินเยอะแยะ แต่ได้เพียง 5 หมื่นคน อีกเป็นล้านไม่ได้อะไรเลย

“ผมคิดว่าเรื่องของการรับจำนำสินค้าเกษตรต้องยกเลิก มันก็มีประโยชน์ถ้าทำถูกระบบ แต่ที่ทำทุกวันนี้มันผิดระบบ ซึ่งคนก็มีสิทธิ์สงสัย แต่ต้องค่อยๆทำ เพราะจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง มันเป็นภาระของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง” นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

**ถอนแนวทางประกันราคาข้าวปี 51/52

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบที่กระทรวงพาณิชย์ขอให้ถอนแนวทางประกันราคาและประกันภัยข้าวเปลือกนาปี 2551-52 (ฤดูกาลใหม่) ออกไปก่อน และเห็นชอบที่จะระบายสินค้าการเกษตรทุกประเภท ตามโครงการรับจำนำ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง โดยมีมติดังนี้

1.หากเก็บรักษาไว้นานเกรงว่าจะเสื่อมสภาพและจะทำให้เกิดปัญหาของต้นทุนในการจัดเก็บ 2.การระบายสินค้าอาจจะกระทบกับตลาดปกติจึงต้องระมัดระวังโดยเน้นระบายเพื่อเข้าสูโครงการรับจำนำ 3.มุ่งเน้นการขายตรงกับผู้ซื้อเป็นสำคัญยกเว้นมีการซักซ้อมทางสินเชื่อหรือเงื่อนไขทางการค้าจึงจำเป็นต้องระบายผ่านผู้ประกอบการและ 4.โดยที่สถานการณ์ไม่เป็นปกติภาครัฐมีสต๊อกจำนวนมากในขณะที่ตลาดซบเซาจำเป็นต้องอาศัยทางภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการโดยอาจจะกำหนดการในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ( G To G ) รัฐต่อเอกชน ( G To P)และเอกชนต่อเอกชน ( P To P)

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดมีความสลับซับซ้อนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปโดยไม่เป็นการปรับโครงสร้างการระบายสินค้าเกษตรไม่เฉพาะข้าวจึงมีมติให้วางกรอบเป็นแนวทางในอนาคต และได้มอบหมายให้นายสุเทพ นายกอร์ปศักดิ์ นางพรทิวา และนายประดิษฐ์ ไปพิจารณาเพื่อเป็นกรอบใหม่เพื่อไม่ให้ขัดกับนโยบายรัฐบาล

นายศุภชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเพิ่มเติมว่า แนวทางข้างต้น เป็นแนวทางดำเนินการโดย ครม. เป็นผู้กำหนด มิใช่กรณีที่กระทรวงพาณิชย์เสนอต่อ ครม. เพื่อให้รับทราบหรืออนุมัติ เพราะที่ผ่านมายังมีประเด็นอยู่ว่าเป็นอำนาจของใครว่า กระทรวงพาณิชย์ หรือคณะกรรมการชุดเล็ก ชุดใหญ่ ฉะนั้นเมื่อเรื่องเข้าสู่ครม.ก็ถือว่าให้เป็นการดำเนินงานของครม.ไปเสียเลย ทั้งนี้แนวทางระบายสินค้าที่พาณิชย์เสนอหลายเรื่องอาจนำเข้าไปแล้วอาจจะยังมีการระงับอยู่ ในที่นี้ก็เท่ากับว่า รัฐบาลสามารถเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม.ในวันพุธที่ 3 มิ.ย. ก็จะมีการสรุปอีกที

**“เทพเทือก”ไว้ไมตรีภูมิใจไทย

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม.ถึงกรณีมีข่าวที่ปรึกษานายกฯ เสนอให้ทบทวนและระงับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรว่า ไม่ทราบ ส่วนโครงการต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอมาซึ่งสังคมมองว่ามีปัญหารัฐบาลจะระงับไว้ก่อนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก ต้องพิจารณาตามเรื่องที่เสนอมา ส่วนจะระงับบางโครงการหรือไม่ คงไม่ทำแบบนั้นต้องดูความจำเป็น ต้องช่วยกันพิจารณา เจ้ากระทรวงต้นสังกัดต้องดูแลและกลั่นกรองให้ดีที่สุด เพราะรัฐมนตรีต้องอธิบายต่อครม. ที่จะสอบถามท้วงติง บางโครงการก็ต้องกลับไปทบทวนใหม่เป็นวิธีปฏิบัติปกติ ส่วนโครงการระบายสินค้าเกษตรนั้น ส่วนที่ต้องช่วยกันดูแลคือ ทำให้รัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุด

**พาณิชย์ยันมีอำนาจระบายข้าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การที่ครม. มีมติให้นายสุเทพเข้ามาดูแลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลก่อนที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้านั้น ถือเป็นการถ่วงเวลาการระบายข้าวเพราะเมื่อครม.ไม่มีความชัดเจน อคส.ก็ไม่กล้าที่จะอนุญาตให้มีการขนข้าวออก ถึงแม้จะมีการทำสัญญาไปแล้วก็ตาม

“ที่ครม.ไม่สั่งเบรกการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ เพราะรู้ว่าสั่งห้ามไม่ได้ เพราะพาณิชย์ มีอำนาจขายข้าวชัดเจน ตอนแรกเลยดึงเรื่องขายข้าวขาดทุน และมีมติครม.ออกมาว่า ถ้าขายสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำแล้วขาดทุน ต้องให้ครม.ร่วมรับผิดชอบ พอจะชี้แจงเรื่องราคาที่ขาย ก็หันเหไปเรื่องอื่น กลัวข้าวที่ขายไม่มีการส่งออก และถูกนำกลับเข้ามาสู่โครงการรับจำนำ เพื่อดึงเวลา” รายงานข่าวระบุ
แหล่งข่าวอ้างว่า ครม. มีมติให้นำการระบายสินค้าเกษตรที่อยู่ในโครงการรับจำนำแล้วประสบปัญหาขาดทุนเสนอให้ครม.ร่วมพิจารณาในวันที่ 13 พ.ค.52 แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดประมูลข้าวในวันที่ 6 พ.ค.52 และอนุมัติขายข้าวให้กับผู้ส่งออก 17 ราย ปริมาณรวมกว่า 2 ล้านตัน ก่อนวันที่ครม.จะมีมติ และผู้ส่งออกได้มาทำสัญญากับ อคส. หลังวันที่ 13 พ.ค.ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานเพื่อยืนยันว่า
1) ครม.มีมติเกี่ยวกับเรื่องระบายสินค้าเกษตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 52 หรือว่ามีมติครม.กำหนดกรอบไว้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา 2) การเซ็นอนุมัติผลประมูลระบายข้าวของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่ 13 พ.ค. 3) รายละเอียดผลการประมูลซึ่งต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
4) การเซ็นสัญญาระหว่าง อคส. กับผู้ชนะประมูลทั้งหมด และ 5) ราคาส่วนต่างระหว่างราคาที่ประมูลเปรียบเทียบกับราคาตลาด
ส่วนกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจในการขายข้าวหรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจขาย เพราะมีคำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกขช. ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระบายข้าว มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

**พ่อค้าหยันวงแตกเพราะใต้โต๊ะ

แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า สาเหตุที่การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ มีปัญหาไม่จบสิ้น เพราะรัฐบาลไม่ได้ประกอบด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว ทำให้มีการขัดขวางการหาประโยชน์กันทุกทาง ไม่เหมือนกับการระบายข้าวก่อนหน้านี้ ที่คนที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าว ทั้งในระดับ กขช. และรมว.พาณิชย์ เป็นคนจากพรรคการเมืองเดียวกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น โดยการขายข้าวในสมัยนายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรมว.พาณิชย์ ราคาที่ขายให้กับผู้ส่งออกมีราคาต่ำกว่าราคาที่นางพรทิวาขายในครั้งนี้ด้วยซ้ำ

ผู้ส่งออกประเมินกันว่า การหาทางดึงเรื่องการขายข้าว คงมีใครต้องการขอเข้ามาเอี่ยว เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ระบายให้กับผู้ประกอบการเพื่อส่งออก แต่มีเอกชนที่เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศได้วิ่งเต้นผ่านทางนักการเมืองอีกพรรคหนึ่ง เพื่อขอสิทธิ์ในการประมูลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้าง จนทำให้มีการสั่งเบรกการประมูล และต้องล้มประมูลในที่สุด แต่ในเรื่องข้าวไม่เหมือนกัน ถึงแม้อยากจะเข้ามาเอี่ยว ก็คงทำได้ยาก แต่ถ้าขอแบ่งก็ไม่แน่ เป็นเรื่องที่การเมืองจะต้องไปคุยกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น