นักวิชาการ ม.หอการค้า เปิดแถลงข่าวแนะภาคเอกชนไทย เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบ “ประชาคม ศก.อาเซียน” ภายในปี 58 พร้อมจี้รัฐบาลเร่งหามาตรการรับมือเปิดเสรี ซึ่งจะลดภาษีลงเหลือ 0% ชี้ อุตสาหกรรมต้นน้ำเสี่ยงปิดกิจการ-ย้ายฐานการผลิตหนี แรงงานวิชาชีพเข้ามาแย่งงาน และการส่งออกข้าวอาจเสียแชมป์ให้เวียดนาม
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงานแถลงข่าว เรื่อง “ผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทย” โดยระบุว่า ขณะนี้ไทยกำลังเดินหน้าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคม AEC เหมือนกับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เพียงแต่ยังไม่ถึงกับต้องใช้สกุลเงินตราเดียวกัน ทำให้ต้องมีการลดภาษีระหว่างกันเป็นร้อยละ 0 การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนแบบเสรีมากขึ้น
นายอัทธ์ กล่าวว่า แม้จากการศึกษาผลกระทบการปฎิบัติตามกรอบปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้ง AEC กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องลดภาษีสินค้าเป็นร้อยละ 0 เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยใน 6 ปีข้างหน้า โดยพบว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 2558 ขยายตัวถึงร้อยละ 1.75 หรือเพิ่มขึ้น 203,951 ล้านบาท เติบโตเป็นอันดับที่ 2 รองจาก ประเทศสิงคโปร์
ด้านการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เฉลี่ยส่งออกเพิ่มขึ้น 22,925 ล้านบาท ต่อปี และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เฉลี่ยนำเข้าเพิ่มขึ้น 16,242 ล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 46,786 ล้านบาทต่อปี สินค้าเกินดุลการค้ามากที่สุด คือ กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนเกินดุลร้อยละ 14.9 และเกษตรแปรรูปเกินดุลร้อยละ 12.5 แต่กลับทำให้ กลุ่มปิโตรเลียมขาดดุลถึงร้อยละ 4.5 และกลุ่ม ผลิตภัณฑ์แร่ ขาดดุลร้อยละ 16.3
ทั้งนี้ ผลจากความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้โครงสร้างการผลิตของไทยเปลี่ยนแปลง เช่น การย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น กลุ่มสิ่งทอ ย้ายไปผลิตในประเทศ ลาว กัมพูชา เพราะค่าแรงถูกกว่า อาชีพวิศวกรรม บัญชี ของสิงคโปร์ หรือเพื่อนบ้านจะเข้ามายังไทย ทำให้มีปัญหาต่อแรงงานไทย รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายทุน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเสรี
ดังนั้น รัฐบาลต้องศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมรับมือปัญหาการย้ายฐานการผลิตที่จะเกิดขึ้น การศึกษาห่วงโซ่ดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การกำหนดมาตรฐานสินค้าจากมาตรการลดภาษี เป็นร้อยละ 0 ทำให้มีสินค้าไหลเข้าประเทศมากขึ้น อาจมีผลต่อคุณภาพสินค้าลดลง การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยการความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน การทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักธุรกิจทราบความชัดเจนจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแนวทางดังกล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงจะขัดขวางการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนั้น นายอัทธ์ มองว่า การจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปลายเดือนกรกฏาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต จะไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือน ที่พัทยา เนื่องจากสถานที่จัดการประชุมอาเซียนเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และเกาะภูเก็ตสามารถควบคุมได้ง่าย อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมห้ามการชุมนุมแล้ว ที่สำคัญ รัฐบาลประกาศต่อประเทศต่างๆ ชัดเจนว่าจะไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ไม่มีการถอนตัว แต่หากยังมีชุมนุมเกิดขึ้นจะกระทบความเสียหายมากกว่าครั้งที่ผ่านมาและเป็นการลดเครดิตของประเทศลงอย่างรุนแรง
นายอนันท์ อุโฆษกุล รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนี้ไปจะมีปัญหาการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น หากประเทศใดมีแนวทางกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีแล้ว ต้องนำมาหารือร่วมกันหากผิดข้อตกลงก็ต้องยกเลิก หรือหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ที่สำคัญ ต้องควบคุมมาตรฐานสินค้าให้มากขึ้นเพื่อดูแลผู้บริโภค