xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ศึกษาความสำเร็จของละครโทรทัศน์เกาหลีใต้

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าละครโทรทัศน์เกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้น สามารถพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศจากการจำหน่ายภาพยนตร์แล้ว ยังมีส่วนเกื้อกูลธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อเนื่องอีกมากมาย

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับสินค้าวัฒนธรรม โดยครอบคลุมถึงธุรกิจภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ด้วย ได้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงทบวงกรมครั้งใหญ่เมื่อปี 2541 จากเดิมเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬา ได้ปรับโครงสร้างมาเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว พร้อมกับกำหนดคำขวัญของกระทรวงที่ว่า “เนื้อหาทางวัฒนธรรม คือ พลังของประเทศในอนาคต” (The culture contents, the future power of Korea)

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้แต่งตั้งบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจมาทำงานเป็นผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นต้นว่า นาย Lee Chang-dong ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Oasis ในการประกวดภาพยนตร์ที่นครเวนิชเมื่อปี 2545 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในช่วงปี 2546 – 2547 สำหรับรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Yu In-chon ในอดีตเคยเป็นดาราละครโทรทัศน์มาก่อน

รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลี (KOCCA-The Korea Culture & Content Agency) ขึ้นเมื่อปี 2544 ภายใต้กระทรวงแห่งนี้ เพื่อส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมของเกาหลีอย่างเต็มที่อีกด้วย โดยหน่วยงานแห่งนี้นอกจากจะสนับสนุนส่งเสริมในด้านการตลาดแล้ว ยังมีห้องและอุปกรณ์ Post Production เพื่อให้ SMEs ในธุรกิจภาพยนตร์และละครโทรทัศน์สามารถมาเช่าในราคาถูก ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ราคาแพงมาใช้เอง

สำหรับจุดเด่นสำคัญของละครโทรทัศน์เกาหลีใต้ คือ ความพิถีพิถันทั้งในส่วนการเขียนบท ความสามารถของดารานำแสดง รวมถึงการถ่ายทำ ทำให้ละครโทรทัศน์มีคุณภาพสูง โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ปัจจุบันเกาหลีใต้มีนักสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูงเป็นจำนวนมาก โดยสำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์ขึ้นอีกหลายแห่งในเกาหลีใต้ เป็นต้นว่า ก่อตั้ง Pusan International Film High School ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2544 ก่อตั้ง Pusan Cinema High School ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2544 ส่วนมหาวิทยาลัย Mokwon ก็ได้ก่อตั้งคณะภาพยนตร์ขึ้นเมื่อปี 2546

เกาหลีใต้ยังได้สร้างนวัตกรรมใหม่ทางธุรกิจ คือ การนำธุรกิจภาพยนตร์มาเกื้อหนุนธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว กล่าวคือ ภายหลังการถ่ายทำละครแล้วเสร็จ เกือบทุกเรื่อง ผู้สร้างจะดูแลรักษาฉากและโรงถ่ายเป็นอย่างดีเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบย้อนรอยละครโทรทัศน์ ซึ่งเน้นการเยี่ยมชมโลเกชันซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ เป็นต้นว่า ละครโทรทัศน์เรื่อง “เพลงรักในสายลมหนาว” (Winter Sonata) ประสบผลสำเร็จมากในตลาดญี่ปุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากสนใจเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะที่เกาะนามิชอน

ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านภาพยนตร์ เป็นต้นว่า ละครเรื่อง “รักนี้...ชั่วนิรันดร์” (Autumn in My Heart) ถูกสร้างอย่างจงใจ เนื่องจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดควังฮอนโดของเกาหลีใต้ตระหนักว่าพื้นที่ของจังหวัดดังกล่าวมีทิวทัศน์สวยงาม จึงใช้กุศโลบายสนับสนุนให้ผู้สร้างละครโทรทัศน์ใช้สถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดมาเป็นฉากในละครโทรทัศน์ เพื่อผลักดันให้เป็นจุดสนใจในด้านการท่องเที่ยว

ละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จในการบุกตลาดโลกหลายระลอก โดยระลอกแรกได้บุกตลาดญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม โดยเฉพาะละครโทรทัศน์เรื่อง “เพลงรักในสายลมหนาว” (Winter Sonata) ของเกาหลีใต้ ประสบผลสำเร็จมากเมื่อนำออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น เมื่อเดือนเมษายน 2546 ได้สร้างความประทับใจอย่างมากแก่บรรดาสตรีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น และกลายเป็นแฟนของ Bae Yong Joon ซึ่งเป็นดาราแสดงนำในละครเรื่องนี้

ต่อมาละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ได้บุกตลาดเป็นระลอกสอง คือ ตลาดประเทศไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นเป้าหมายต่อไป สำหรับกรณีของประเทศไทย เริ่มมีการนำละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้เรื่องแรก คือ “ลิขิตแห่งรัก” เข้ามาฉายทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในปี 2543 ตามมาด้วยละครเรื่อง “รักนี้...ชั่วนิรันดร์” (Autumn in My Heart) ซึ่งฉายทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในปี 2544

จากนั้นมีการนำละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้มาฉายในประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะละครโทรทัศน์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” (Jewel in the Palace) ซึ่งออกอากาศในประเทศไทยช่วงปลายปี 2548 ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก นับเป็นบทพิสูจน์ความร้อนแรงของ “สินค้าวัฒนธรรม” ของเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี จากนั้นมีภาพยนตร์และละครเรื่องอื่นๆ จากเกาหลีใต้เข้ามาออกอากาศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น หมอโฮจุน คนดีที่โลกรอ” (The Legendary Doctor – HurJun) และ “จูมง มหาบุรุษกู้บัลลังก์” (King of Jumong)

จากนั้นบุกระลอกที่ 3 ไปยังประเทศที่ห่างออกไป เป็นต้นว่า ละครเรื่องแดจังกึมได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเมื่อนำออกอากาศเมื่อปี 2550 ในประเทศอิหร่าน ช่วยสมานความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านไม่พอใจรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ที่ลงมติสนับสนุนมาตรการแซงชันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน

ภาพยนตร์เรื่องแดจังกึมยังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศซิมบับเว ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยเมื่อนำออกอากาศในปี 2551 และต้องเลื่อนการออกอากาศบางตอนออกไปในเดือนสิงหาคม 2551 เนื่องจากสถานีโทรทัศน์กำหนดจะออกอากาศการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่ง แต่ได้รับการประท้วงจากชาวซิมบับเว ทำให้ต้องออกอากาศละครเรื่องนี้ตามกำหนดเวลาเดิม

ส่วนภาพยนตร์แอนิเมชันของเกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ซึ่งภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Pororo the Little Penguin ซึ่งเริ่มแรกออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านช่องรายการการศึกษาเมื่อปี 2546 ได้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากถึง 81 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสได้ออกอากาศผ่านช่อง TF1 ซึ่งเป็นช่องที่มีประชาชนชมมากที่สุดในฝรั่งเศส และประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้น มีประชาชนสนใจชมอย่างมาก

สำหรับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Iron Kid ได้ออกอากาศในสหรัฐฯ และกลายเป็นรายการฮิตมาก ส่วนภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง King of Card Mix Master ได้ส่งออกไปยัง 25 ประเทศ และ Janggeum's Dream ส่งออกไปยัง 27 ประเทศ โดยในปี 2549 เกาหลีใต้สามารถส่งออกภาพยนตร์การ์ตูนเป็นมูลค่า 66.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสมาคมผู้ผลิตละครเกาหลี (Corea Drama Production Association - CODA) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ผลิตละครขนาดใหญ่ 40 บริษัท โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 3 บริษัท คือ บริษัท KimJongHak Production บริษัท Olive Nine และบริษัท Chorokbaem Media ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2550 พบว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลายประการในอนาคต

ประการแรก ค่าตัวดาราภาพยนตร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเห็นว่าภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ประสบผลสำเร็จในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง “เพลงรักในสายลมหนาว” (Winter Sonata) และ “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ทำให้ดาราภาพยนตร์โก่งค่าตัว เนื่องจากเห็นว่าผู้ผลิตละครโทรทัศน์มีรายได้จำนวนมากจากการส่งออกภาพยนตร์ไปยังต่างประเทศ

จากสถิติในปี 2550 ค่าตัวของดาราภาพยนตร์และผู้เขียนบทเป็นเงินรวมกันเฉลี่ยสูงถึง 1.1 ล้านบาท/ตอน ทำให้ต้นทุนการผลิตละครโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิม 3.3 ล้านบาท/ตอน ในปี 2545 เป็น 5.5 ล้านบาท/ตอน ในปี 2550

ประการที่สอง สถานีโทรทัศน์ในเกาหลีใต้มีอำนาจต่อรองสูงมาก ทำให้ต้องขายลิขสิทธิ์ในราคาต่ำ โดยผู้สร้างละครโทรทัศน์มีรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์แก่สถานีโทรทัศน์ในเกาหลีใต้คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 40 – 60% ของต้นทุนการผลิตเท่านั้น ทำให้ต้องพยายามแสวงหารายได้เสริมในด้านอื่นๆ เช่น จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์แก่ต่างประเทศ

ประการที่สาม คุณภาพภาพยนตร์ละครโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในระยะหลัง บริษัทผู้ผลิตได้เน้นให้ความสำคัญกับดาราภาพยนตร์ผู้นำแสดง มากกว่าจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพการผลิต ทั้งนี้ จากราคาค่าตัวดาราภาพยนตร์ละครโทรทัศน์มีราคาแพงขึ้นมาก ทำให้บริษัทผลิตละครต้องพยายามลดต้นทุนด้านอื่นๆ ลง เช่น ค่าจ้างดาราประกอบ ค่าเขียนบท ค่าฉาก ค่าอุปกรณ์ถ่ายทำ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยระยะหลังลูกค้าในต่างประเทศเริ่มบ่นในเรื่องคุณภาพ

ประการที่สี่ จากต้นทุนการสร้างละครโทรทัศน์ในเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ในตลาดส่งออกเพื่อเป็นการชดเชย ทำให้ปัจจุบันภาพยนตร์ละครโทรทัศน์เกาหลีใต้ในตลาดญี่ปุ่นมีต้นทุนค่าลิขสิทธิ์สูงกว่าละครโทรทัศน์จากสหรัฐฯ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นและจีนลดต่ำลง แม้ว่าในตลาดเวียดนามจะยังคงเป็นลูกค้าที่เหนียวแน่นก็ตาม

ประการที่ห้า อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยจากการสำรวจของบริษัท GB Nielsen Media Research พบว่าในปี 2547 และ 2548 มีภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้มากถึง 11 เรื่อง ที่มีผู้ติดตามชมในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากกว่า 20% ของประชาชนทั้งหมด แต่ได้ลดลงเหลือ 6 เรื่อง ในปี 2549 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 7 เรื่อง ในปี 2550

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น