xs
xsm
sm
md
lg

Start ! “ดีไซเนอร์ไทย” ไปแฟชั่นโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชนิตา  ปรีชาวิทยากุล  , ภาณุ อิงคะวัต , วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์
“ดีไซเนอร์ไทยไปนอก...” ฟังแค่นี้ก็ทำให้วงการแฟชั่นเมืองไทยยิ้มร่าได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่กรุงเทพฯใฝ่ฝันอยากจะเป็นเมืองแห่งแฟชั่น ดีไซเนอร์ไทยจากหลายแบรนด์ก็ได้รับความนิยมและเกิดดีไซเนอร์หน้าใหม่ก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นอย่างมากมาย

ภายในงาน BFS Press Preview Autumn/winter 2009/2010 ที่ทางสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ ได้จัดขึ้นร่วมกับแบรนด์ดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มาร่วมกันแสดงความสามารถในการออกแบบคอลเลกชันในฤดูกาลใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ และร่วมพูดคุยถึงอนาคตของดีไซเนอร์ในวงการแฟชั่นไทย

จัดระบบแฟชั่นสู่สากล

“ดีไซน์การออกแบบของดีไซเนอร์ไทยตอนนี้ถือว่าได้รับการตอบรับจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไลฟ์สไตล์และรสนิยมของดีไซเนอร์ถือว่ามีเอกลักษณ์และแสดงความเป็นตัวตนในการออกแบบเป็นอย่างมาก เห็นได้จากคอลเลกชันต่างๆ และความนิยมที่มีดารา เซเลบฯ ในต่างประเทศเลือกที่จะสวมใส่คอลเลกชั่นจากดีไซเนอร์ไทย

นอกจากเรื่องของฝีมือในด้านดีไซน์แล้ว สิ่งที่ดีไซเนอร์ไทยต้องการมากที่สุดคือ เรื่องของการตลาดและการจัดการบริการให้เป็นระบบในโครงสร้างที่ใหญ่กว่านี้” ความเห็นของ ภาณุ อิงคะวัต ในฐานะนายกสมาคม Bangkok Fashion Society (BFS)

จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว สู่กระบวนการแห่งความคิด สร้างสรรค์ตามจินตนาการเรื่องราวต่างๆ ของดีไซเนอร์ ทำให้เกิดเรื่องราวบนผืนผ้าออกสู่รันเวย์แฟชั่น ทั้งแบรนด์ Disaya Senada sretsis kloset Greyhound และ Playhound ถือเป็นแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมในเรื่องของสไตล์การออกแบบ จนได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดยุโรป

“ถือว่าในเรื่องของสไตล์การออกแบบที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นก้าวหนึ่งที่เป็นความสำเร็จของดีไซเนอร์ไทยที่สามารถสร้างซิกเนเจอร์ของตัวเองได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการต้องการให้ได้รับการสนับสนุนในเรื่องการตลาดที่ยังด้อยอยู่” ภาณุกล่าว

ในการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ดีไซเนอร์ไทยได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และต้องการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสังคมที่จะช่วยให้แฟชั่นไทยได้รับความนิยม ด้วยการทำพรีวิวคอลเลกชันและจัดระบบวงการแฟชั่นให้เทียบเท่ากับระดับสากล

จากไอเดียแบรนด์สู่ไอเดียโลก

“ถ้าให้มองภาพรวมว่าดีไซเนอร์ไทยอยู่ตรงจุดไหน ถือว่าตอนนี้เริ่มดีมากขึ้นกว่าเดิม ดีไซเนอร์ไทยสามารถเข้าไปเป็นดีไซเนอร์แบรนด์ตัวเอง และแบรนด์ต่างประเทศบางแบรนด์ก็มีดีไซเนอร์ไทย เพราะเขามองเห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของดีไซเนอร์ไทย มีโพซิชันที่มีคนรู้จัก ” วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ 1 ในทีมดีไซน์เนอร์แห่งห้องเสื้อเกรย์ฮาวด์ กล่าวสั้นๆ

การทำงานของเหล่าบรรดาดีไซเนอร์ภายในทีมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ของแต่ละแบรนด์ก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดนี้ได้ ด้วยวิธีการเบรนด์สตรอม ดึงความคิด คาแร็กเตอร์ของแต่ละคนออกมาร่วมในงานแต่ละคอลเลกชั่น ให้ได้เกิดไอเดียใหม่ๆร่วมกันจนกลายเป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้า

“การทำงานของเกรย์ฮาวด์มีทีม 4 คน เราจะคุยกันว่าเราสนใจอะไร เอา เรื่องราวต่างๆ มาคุยกัน หยิบเอาที่ทุกคนชอบคล้ายกันแล้วดึงออกมา แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้เพื่อนในทีมยอมรับในไอเดียของเรา ถ้าเราคิดว่าเราชอบแบบนี้ก็ต้องทำให้เพื่อนในทีมชอบด้วย จะได้ไม่อึดอัดใจ หาเหตุผลที่แต่ละคนชอบและไม่ชอบ บางทีเราก็จะได้คำตอบย่างลงตัว เพราะคอลเลกชันหนึ่งเราต้องอยู่กับมันครึ่งปี ”

“ถ้าอยากจะเป็นแฟชั่นก็ต้องทำให้คนอื่นยอมรับได้ ถ้าไม่มีการยอมรับก็ไม่สามารถเป็นแฟชั่นได้ และก็กระบวนการการทำที่ต้องมีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศให้ได้ ในตลาดโลกเราต้องมีช่องทางการขาย ไม่ใช่แค่การเปิดสโตร์ ทุกอย่างต้องเป็นมืออาชีพ ที่จะผลักดันแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จ ตัวดีไซเนอร์ต้องได้พบกับนักลงทุนหรือนักการตลาดที่เข้าใจตลาดด้านแฟชั่นตรงนี้” ชนิตา ปรีชาวิทยากุล ดีไซเนอร์แบรนด์ senada แสดงทัศนะ

แรงผลักแฟชั่นไทย


ยอมรับว่าปัจจุบันไอเดียในการออกแบบสร้างสรรค์ของเหล่าบรรดาดีไซเนอร์ไทย ถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นอยู่ในตัว ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในวงการแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความมีอัตลักษณ์ทางความคิด นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของวงการแฟชั่นไทย

“ดีไซเนอร์ก็เป็นอาชีพหนึ่ง เหมือนหมอ ทนายความ ทุกอย่าง ก็ต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องมีการแข่งขัน อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทำงานแบบนี้ต้องต่อเนื่อง และต้องพยายามอัปเกรดตัวเองตลอดเวลา ต้องใช้ความรู้ ทักษะมาพัฒนาสินค้าของตัวเอง นำเสนอมาต้องสร้างการยอมรับด้วย” ดีไซน์เนอร์แบรนด์ senada ให้ความเห็น

ในแง่ของธุรกิจ หรือการครีเอต ดีไซเนอร์ต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ก่อน รัฐบาลเองควรเอากฎหมายมาจัดการก๊อบปี้ดีไซเนอร์ จับสินค้าก๊อบปี้ที่มาจากต่างประเทศแล้วมาขายที่เมืองไทย ตัวทำลายตลาดอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลเองมีส่วนช่วยผลักดันเรื่อง Branding ด้วยการทำความเข้าใจที่ถูกต้องในการทำงานของวงการแฟชั่นที่มีอยู่ มิเช่นนั้นก็จะสูญเสียไปโดยปริยาย การทำงานที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องมีคนที่มาเข้าใจการทำงานตรงนี้อย่างสูงสุด

“หากดีไซเนอร์ไทยคิดจะไปยืนอยู่บนรันเวย์แฟชั่นโลกจะต้องมีแบรนด์สไตล์เป็นของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้แบรนด์ของดีไซเนอร์แต่ละคนแยกและมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดของเมืองไทยคือ การก๊อบปี้ เราต้องทำแบรนด์ของเราให้มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น สามารถตอบโจทย์กลุ่มของเราได้อย่างชัดเจน ถ้าจะไปสู้กับเมืองนอกต้องคิดอะไรที่แตกต่าง ไม่ใช่มามัวแต่จะก๊อบก็ไม่ได้”

“อยากให้คนไทยยอมรับและมองว่าคุณเป็นคนที่สามารถเข้าถึงดีไซเนอร์แบรนด์ได้ ตรงนั้น เพราะเราต้องการให้คนเห็นคุณค่าในเชิงครีเอทีฟ เชิงความคิดสร้างสรรค์ แล้วเสื้อดีไซเนอร์สามารถเก็บได้” ชนิตา กล่าวทิ้งท้าย

Did you know!

3 เทรนด์ฮิต ทิศทางหลักของคอลเลกชัน Autumn/Winter 09-10

1 . Imaginer แรงบันดาลใจที่หยิบมาจากภาพฝันแห่งอนาคต รูปทรงเสื้อผ้าที่ทันสมัย พลิกแพลงจากรูปทรงเดิมๆ เช่น กางเกงหลวม เสื้อทรง Oversized ที่มีการนำเอาลวดลายมาพิมพ์ทับ กันจนเกิดคอลเลกชันใหม่ในตัวเดียวกัน

2. Dramatic Beauty รูปแบบการแต่งตัวในสมัยโบราณ ราชนิกูลหรือนักรบโบราณมาแต่งเติมด้วยแพทเทิร์นและสีสันในปัจจุบัน

3. Evolve แรงบันดาลใจที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการหยิบยืมธรรมชาติมาปรับความคิดให้กลายเป็นดีไซน์ร่วมสมัยและมีมุมมองใหม่ๆ ในการนำเสนอ






กำลังโหลดความคิดเห็น