ภายหลังจากที่ชุมนุมใหญ่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุม 193 วันเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ณ สนามกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมวลมหาชนหลายหมื่นคนได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเป็นแขนขาของการต่อสู้ในระบบรัฐสภา
ต่อมาการจัดตั้งพรรคก็ดำเนินการมาเป็นลำดับ โดยในวันอังคารที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาตัวแทนของพันธมิตรฯกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆได้จัดประชุมครั้งแรกและมีมติให้ใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคการเมืองใหม่” โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรค นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค ก่อนจะยื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 9.09น. วานนี้(4 มิ.ย.)
ก่อนหน้านี้ การอุบัติขึ้นของ “พรรคการเมืองใหม่” ภายใต้อุดมการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในวงกว้างว่า พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นพรรคการเมืองผู้นำสังคมไทยก้าวไปสู่ “การเมืองใหม่” ได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นพรรคการเมืองใหม่แต่เพียงชื่อ ทว่าในที่สุดก็จะถูกกลืนกินเข้าไปสู่วังวนของผลประโยชน์และอำนาจเช่นที่แล้วๆ มา
ไม่ว่าคำวิจารณ์จะเป็นเช่นไร แกนนำพันธมิตรฯ ต่างยืนยันและพยายามจะพิสูจน์ให้สาธารณชนได้ประจักษ์ว่า “พรรคการเมืองใหม่” นี้มีความแตกต่างกับพรรคการเมืองไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องเพราะพรรคดังกล่าวจะเป็นพรรคการเมืองเดียวของไทยที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการอย่างแท้จริง ตั้งแต่ ขั้นตอนของการถามความเห็นจากประชาชนในการจัดตั้งพรรค การคัดเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ชื่อพรรค และแน่นอนรวมไปถึง “สัญลักษณ์ของพรรค” ที่มีความสำคัญไม่แพ้ชื่อพรรคเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามด้วยความจำเป็นทางด้านกฎหมาย ที่ในการจดทะเบียนพรรคกับ กกต. สัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องถูกร่างขึ้นมาก่อนเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอด ปรัชญา แนวคิด อุดมการณ์ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เปรียบเสมือนเป็นจุดกำเนิดของพรรคการเมืองใหม่นี้
จิราวุฒิ นิลกำแหง หรือ ‘เอ’ ซีเนียร์กราฟฟิคดีไซเนอร์ของสถานีโทรทัศน์ ASTV ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองใหม่ เล่าให้ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ ฟังว่า จริงๆ แล้ว ทีมออกแบบเพิ่งได้รับโจทย์ให้ออกแบบโลโก้พรรคการเมืองใหม่ ในช่วงเที่ยงของวันจันทร์ที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง
“คือเนื่องจากเวลาจำกัดมาก หลังจากได้โจทย์มาผมก็หาข้อมูล โดยกว่าจะเริ่มลงมือออกแบบได้ก็เช้าอีกวันหนึ่ง ... ซึ่งก็ร่างออกมาหลายแบบ แล้ววันนั้นก็เอาไปเสนอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคดู ที่ประชุมก็โอเค คือจากโจทย์ที่ว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่ต้องการสร้างการเมืองใหม่ ที่ปราศจากการคอร์รัปชั่น ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และมีแนวทางการบริหารที่มิได้มุ่งพัฒนาในเชิงทุนนิยม แต่มีเป้าหมายหลักคือให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับพรรคกรีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผมก็ไปค้นหาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับพรรคกรีน ไม่ว่าจะเป็นความหมาย หรือสัญลักษณ์ต่างๆที่เขาใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ เราก็เอาตรงนี้มาประกอบไอเดีย
สิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือโลโก้พรรคต้องมีความเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ต่างๆของพันธมิตรฯเพราะพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของพี่น้องพันธมิตรฯ ที่ร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกันมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นผมจึงยึดเอาสัญลักษณ์ของโลโก้พันธมิตรฯ ที่มีมือ 4 มือเกาะเกี่ยวกันเป็นรูป 4 เหลี่ยม ซึ่งออกแบบโดยคุณวสันต์ สิทธิเขตต์ มาเป็นต้นแบบของโลโก้พรรค แต่ลดทอนความแข็งกร้าวลงมา” ซีเนียร์กราฟฟิคดีไซเนอร์ของเอเอสทีวีเล่า
จากนั้น จิราวุฒิอธิบายต่อว่า เขาพยายามปรับเป็นรูปมือ 4 มือประสานกันในลักษณะโค้ง โดยมือ 4 มือนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชนทั้ง 4 ภาค คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ขณะที่มือแต่ละมือได้หยิบยื่นหัวใจให้แก่กันและรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์การเมืองใหม่ให้สำเร็จ มากไปกว่านั้น มือทั้ง 4 มือยังมีความหมายของการเป็นตัวแทนของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพอีกด้วย
“ในสมัยก่อนนั้นเขาแบ่งประชาชนออกเป็น 4 เหล่า คือ ครู-ช่าง-คลัง-หมอ ซึ่งจะสื่อถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จะเห็นได้ว่าตัวแทนประชาชนที่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคจะมีทั้งตัวแทนที่มาจากพื้นที่ต่างๆ และตัวแทนในแต่ละสาขาขาอาชีพ ทั้งหมดนี้คือหัวใจของประชาชน 4 เหล่า 4 ภูมิภาค ที่ได้ปฏิญาณร่วมกันว่า เราจะทำการเมืองใหม่ หัวใจคือประชาชน และเราจะร่วมมือกันทำงานผลักดันการเมืองใหม่ การเมืองที่สนใจสิ่งแวดล้อม สนใจความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกภูมิภาค มากกว่าจะมุ่งรับใช้แต่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนั้นสัญลักษณ์หัวใจ 4 ดวงที่รวมกันอยู่กลางโลโก้พรรคยังเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีอีกด้วย กล่าวคือ ตามความเชื่อของคนยุโรปนั้น ใบโคลเวอร์ (Clover Leaf) ที่กลีบใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจนั้นจะมี 3 ใบ แต่หากใครพบใบโคลเวอร์ที่มีกลีบใบ 4 ใบ หรือใบโคลเวอร์ 4 แฉก แสดงว่าคนนั้นโชคดีมาก ดังนั้นเขาจึงใช้รูปใบโคลเวอร์ 4 แฉกเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี” กราฟฟิคดีไซเนอร์คนเดิมอธิบายถึงความหมายเพิ่มเติม
“สวัสติกะ” สัญลักษณ์ของนาซี?
สำหรับลักษณะของโลโก้พรรคการเมืองใหม่ซึ่งมีบางคนท้วงติงว่ามีลักษณะเหมือนสวัสติกะอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี เยอรมัน ซึ่งมีภาพลักษณ์ของความเป็นเผด็จการทางการเมือง ซึ่งสร้างความพรั่นพรึงให้กับคนทั่วโลกเกี่ยวกับสงครามและความโหดร้ายมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในประเด็นนี้จิราวุฒิอธิบายว่า
“สวัสติกะนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เป็นสัญลักษณ์ที่ดีงาม เป็นสัญลักษณ์ของความมีสันติภาพ ภราดรภาพ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้จะพบเห็นได้ทั่วไปในวัดวาอารามและองค์พระพุทธรูปของประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย อย่างที่วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ของหลวงปู่พุทธอิสระก็มีสัญลักษณ์นี้อยู่ หรือแม้แต่ศาสนาคริสต์ก็มีใช้กัน
จริงๆแล้วสวัสติกะก็มีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวา และไม่ได้มีความหมายในเชิงลบแต่อย่างใด แต่เนื่องจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนี ได้นำสัญลักษณ์สวัสติกะมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี เยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคแรงงานสังคมนิยมของเยอรมันและภายหลังฮิตเลอร์เหลิงอำนาจก็สั่งการให้มีการไล่ล่าอาณานิคม สังหารผู้คนด้วยความโหดเหี้ยม สัญลักษณ์สวัสติกะจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการและความชั่วร้ายตามไปด้วย ซึ่งสัญลักษณ์สวัสติกะที่ฮิตเลอร์ใช้นั้นจะเป็นสวัสติกะเวียนซ้าย ที่เรียกว่า สวัสติกะอุตราวรรต” จิราวุฒิชี้แจงและกล่าวต่อว่า
“ส่วนโลโก้ของพรรคการเมืองใหม่นั้นมีสัญลักษณ์คล้ายสวัสติกะเวียนขวา ที่เรียกว่า สวัสติกะทักษิณาวรรต ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสาเหตุที่เราออกแบบให้มือทั้งสี่เกาะเกี่ยวกันและมีลักษณะโค้ง ก็เพราะต้องการลดทอนความแข็งกร้าวจากโลโก้ของพันธมิตรฯ ที่เราใช้เป็นต้นร่างของโลโก้พรรคการเมืองใหม่ ส่วนที่โค้งในลักษณะคล้ายสวัสติกะก็เพื่อสื่อถึงสันติภาพ ภราดรภาพ ซึ่งสวัสติกะเวียนขวาที่เรียกว่า ‘ทักษิณาวรรต’ นั้นมีหมายถึงการเคารพธรรมชาติ แต่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา สื่อถึงการเคลื่อนไปข้างหน้า การพัฒนาเติบโตทางการเมืองของพรรค”
คล้องหลัก “ฮวงจุ้ย”
กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า ในการออกแบบโลโก้พรรคการเมืองใหม่นี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่เขาคำนึงถึงก็คือ การพิจารณาตามหลักฮวงจุ้ยของจีน โดยรูปมือที่มีลักษณะโค้ง หมายถึงความกลมเกลียวและราบรื่น ส่วนกรอบนอกซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า นั้นมีความหมายถึงความสมดุล และความมั่นคง
“ในส่วนของรูปทรงโลโก้ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมนั้นสื่อถึงความสมดุล มีฐานที่มั่นคง ถ้าหากลองหมุนโลโก้พรรคทั้ง 4 ด้านดู จะเห็นว่าไม่ว่าจะหมุนไปทางไหนลักษณะก็ยังเหมือนเดิมตลอด หมุนไปกี่ครั้งก็ยังอยู่ในฟอร์มเดิม และกรอบสี่เหลี่ยมคือความมั่นคง ไม่เหมือนรูปวงกลมซึ่งมันดิ้นได้ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ไม่สมมาตร คือตามตำราฮวงจุ้ยเนี่ยโลโก้พรรคถ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมจะไม่ดี ยิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับยิ่งแล้วใหญ่เพราะมันไม่มั่นคง ยกตัวอย่างพรรคไทยรักไทยเขาจะเน้นลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ที่พลาดคือตัว ท.ทหาร เขามีลักษณะของธงชาติที่พาดเฉียงขึ้นไป มีลักษณะเหมือนหอกหรือดาบ ซึงในทางฮวงจุ้ยเขาบอกว่ามีลักษณะอย่างนี้เป็นโทษ พรรคไทยรักไทยก็เลยแตกเป็นเสี่ยง เกิดปัญหาขัดแย้งวุ่นวายไปหมด จนกระทั่งสุดท้ายก็ถูกยุบพรรค ต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน โลโก้ก็ยังมีลักษณะอย่างนี้อยู่ในตัว พ.พาน แล้วก็ถูกยุบพรรคอีก และปัจจุบันสัญลักษณ์แบบนี้ก็ยังมีอยู่ทั้งในตัว พ.พาน และ ท.ทหาร”
สำหรับลักษณะของตัวอักษรซึ่งบางคนติงว่าไม่มีความเป็นไทยเพราะไม่มีหัวไม่มีหางนั้นผู้ออกแบบชี้แจงว่า สำหรับตัวอักษรที่ใช้ในโลโก้พรรคนั้นได้นำมาจากตัวอักษรที่ปรากฏบนฉากของเวทีพันธมิตรฯ เนื่องจากต้องการสื่อว่ารากฐานของพรรคการเมืองใหม่นั้นมาจากมวลชนที่เป็นพันธมิตรฯ
“คือถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าในการชุมนุมที่ผ่านมาลักษณะตัวอักษรบนเวทีจะใช้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยตัวอักษรที่เน้นลักษณะของเส้นตรงนั้นก็เพื่อสื่อถึงความซื่อตรงและความซื่อสัตย์ในการทำงานการเมือง ซึ่งผมว่าตัวอักษรลักษณะนี้ไม่น่าจะทำให้สูญเสียความเป็นไทยไปเพราะก็ยังคงเป็นอักษรไทย และตัวอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่มีหัวเหมือนกัน ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เขียนว่า NEW POLITICS PARTY ซึ่งอยู่ใต้ภาษาไทยนั้นก็เป็นการใส่เพื่อขยายความหมายของชื่อพรรค ซึ่งนำไปประกอบในการจดทะเบียนพรรคการเมือง แต่หากใช้ในกรณีที่เป็นหัวกระดาษจดหมายของพรรคก็ไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่ในโลโก้พรรคก็ได้”
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นผู้ออกแบบโลโก้พรรคการเมืองใหม่อย่างเป็นทางการเป็นแบบแรก อีกทั้งยังเป็นการกลั่นกรองด้วยความคิด สติปัญญาและประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง จิรวุฒิกลับแสดงความใจกว้างโดยกล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับคำแนะนำของพันธมิตรหลายๆ คนว่า เมื่อการจดทะเบียนพรรคเสร็จสิ้นแล้วก็น่าจะจัดให้มีการประกวดการออกแบบโลโก้อีกครั้ง โดยครั้งนี้อาจใช้วิธีการคัดเลือกโดยการลงคะแนนของสมาชิกพรรค เพื่อเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
“ คือต้องชี้แจงว่าโลโก้ที่เห็นอยู่นี้เป็นโลโก้ที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบในการจดทะเบียนพรรคเท่านั้น ส่วนในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมพรรค ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยนะครับที่จะให้มีการประกวดออกแบบและลงมติเลือกกัน เพราะพรรคการเมืองใหม่เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยพี่น้องพันธมิตรฯ ทุกคนก็น่าจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและทุกภาคส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพรรค และเมื่อทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานก็จะยิ่งสร้างความเหนียวแน่นมั่นคงในการที่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน” จิราวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับรอยยิ้ม
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน